xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ยันแม้ปรับแก้ร่าง รธน.แต่ยังคงเจตนารมณ์เดิม หนุนลงมติเปิดเผย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน (แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ยันแม้มีการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยังรักษาเจตนารมณ์เดิม เชื่อ สปช.ตัดสินใจโดยยึดผลประโยชน์ของชาติ ส่วนการลงมติร่างรัฐธรรมนูญควรทำแบบเปิดเผย ตามธรรมเนียมปฏิบัติ

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้รัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายในขณะนี้ว่า กมธ.ยกร่างฯ พยายามที่จะพิจารณาทุกคำขอให้ดีที่สุด และรักษาเจตนารมณ์ดั้งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด เช่น ยังคงระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมเอาไว้ เพื่อให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีค่ามากที่สุด และให้จำนวนนักการเมืองตรงกับจำนวนของคะแนนเสียงที่ได้รับ มีการปรับจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตจาก 250 คน เป็น 300 คน ลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 200 คนให้เหลือ 150 คน เปลี่ยนการแบ่งเขตการเลือกตั้ง ส.ส. จากบัญชีรายชื่อ 6 ภาคเหลือเพียงเขตเดียว เพื่อไม่ให้กระทบกับความเคยชินที่มี ไม่ให้จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตลดลงไป และไม่ให้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมากจนเกินไป อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปรับแก้ทั้งตัวเลข เขตและบัญชีรายชื่อ เชื่อว่าจะไม่มีกระทบต่อเจตนารมณ์ของการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมแน่นอน

ส่วนที่มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางคนเสนอให้ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญแบบลับนั้น นายคำนูณกล่าวว่า ไม่ทราบ คงเป็นความคิดเห็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ข้อบังคับการประชุมระบุว่าการโหวตควรเป็นไปโดยเปิดเผยซึ่งตนคิดว่าควรเป็นไปตามข้อบังคับ

“ผมเชื่อว่าสมาชิก สปช.มีวิจารณญาณว่าจะตัดสินใจให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติให้ได้มากที่สุด หากรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายออกมาแล้วสมาชิก สปช.ก็จะเห็นว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้ใช้ความพยายามรักษาเจตนารมณ์เดิมเอาไว้ และรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายมากที่สุด ไม่ใช่แค่จากทุกคำขอแก้ไขทั้ง 9 กลุ่ม แต่รับฟังความเห็นจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และจากพรรคการเมืองต่างๆ และนำมาประกอบการตัดสินใจด้วย”

นายคำนูณกล่าวว่า สำหรับคำถามประกอบประชามตินั้นเป็นเรื่องของที่ประชุมใหญ่ สปช. และจะมีหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับมติคณะรัฐมนตรีด้วย

ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงกรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงความคิดเห็นประเด็นการเปิดให้สมาชิกพรรคการเมืองได้หยั่งเสียงส่งผู้สมัครก่อนลงเลือกตั้งว่า ประเด็นการหยั่งเสียงสมาชิกพรรคในการเลือกตั้งครั้งแรกจะเขียนยกเว้นไว้ในบทเฉพาะกาล เนื่องจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ก็อาจจะมีการตั้งพรรคการเมืองหลายพรรค รวมทั้งมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ จากเดิม 375 เขตมาเป็น 300 เขต เขตเลือกตั้งจะเปลี่ยนไปและใหญ่ขึ้น ดังนั้นการหยั่งเสียงจึงทำไม่ได้ในการเลือกตั้งครั้งแรก จึงต้องเขียนยกเว้นไว้ในบทเฉพาะกาล


กำลังโหลดความคิดเห็น