xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ รับความเห็นแก้ รธน.ครม.-สปช.ต่างกลุ่ม ปชช.ยันมุ่งคงเจตนารมณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
“คำนูณ” เผย ความต้องการแก้ รธน. ครม.- สปช. กับ กลุ่ม ปชช. ต่างกัน ยันพยายามทำดีที่สุด พยายามคงเจตนารมณ์ แย้มลดความซ้ำซ้อนองค์กรต่างๆ ไม่ให้เกิดองค์กรใหม่ ชี้ โอเพ่นลิสต์เสียงแตกมาก แจง เนื้อหาถูกตัดนาใส่ กม. ลูกไม่ได้ แต่แย้มแก้ตามเสียงประชามติได้

วันนี้ (5 ก.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวถึงกรณีการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งสุดท้ายซึ่งในขณะนี้คำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 8 คำขอ และคำขอแก้ไขของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีก 1 คำขอ มีความแตกต่างไปจากผลสำรวจของเวทีรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มประชาชน โดย นายคำนูณ กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องนำมาประกอบการพิจารณากันทั้งหมด แต่ยอมรับว่า การที่ทั้งสองกลุ่มมีความต้องการที่แตกต่างกัน ทำให้เป็นเรื่องยากในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้าย แต่ก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด อะไรก็ตามที่เป็นเจตนารมณ์ดั้งเดิมของประชาชน ทาง กมธ.ยกร่างฯ ก็คงจะต้องพยามคงไว้ซึ่งรูปแบบและเนื้อหาสาระ

โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวต่อว่า เข้าใจว่าคำขอแก้ไขต่างๆ ทั้ง 9 กลุ่มคำขอ รวมไปถึงจากทาง ครม. เองมีประสงค์ที่จะไม่ให้ตั้งองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมา ทาง กมธ.ยกร่างฯ เองก็ต้องพยายามทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นมา อาทิ เรื่องสมัชชาพลเมืองที่จะคงไว้ ก็ต้องให้เข้าใจว่าไม่ได้เป็นองค์กรใหม่ แต่เป็นกระบวนการของภาคประชาชน แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ออกมา แต่ก็จะมีอยู่แล้ว ทาง กมธ.ยกร่างฯ ก็คงจะได้ระบุเอาไว้ และให้เป็นเรื่องของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญต่อไป ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯ พยายามที่จะลดความซ้ำซ้อนองค์กรต่างๆ ไม่ให้เกิดองค์กรใหม่ขึ้นมา แต่เรื่องสิทธิและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐนั้นก็จะยังคงสาระตามเดิมเอาไว้

เมื่อถามว่า มีเรื่องใดบ้างที่ทาง 9 กลุ่มคำขอมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมากกับความต้องการของกลุ่มประชาชน นายคำนูณ กล่าวว่า เรื่องของโอเพ่นลิสต์ที่ถามกลุ่มประชาชนแล้วก็จะเห็นด้วย แต่ว่าใน 9 กลุ่มคำขอนั้น แทบทุกคำขอกลับไม่เห็นด้วย เรื่องของกลุ่มการเมืองที่ประชาชนเห็นด้วยแต่ว่าทาง 9 กลุ่มคำขอไม่เห็นด้วยเลย ก็คงจะต้องแก้ไขกันไป ส่วนผลสำรวจของประชาชนนั้นจะมีผลต่อการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้ายมากน้อยแค่ไหนนั้น เรื่องนี้ตนตอบไม่ได้ คงต้องขึ้นอยู่กับในแต่ละประเด็น

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากในอนาคตร่างรัฐธรรมนูญผ่านทั้งการเห็นชอบของ สปช. และผ่านประชามติไปแล้ว เนื้อหารัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีความต้องการให้ใส่เพิ่ม แต่ว่าทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้ตัดออกไป จะนำไปใส่เพิ่มในรูปแบบของ พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า คงไม่ได้ เพราะ พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญนั้นต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม หากไปดูในรายละเอียดของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ถูกแก้ไข ก็จะพบว่าในรายละเอียดเรื่องการทำประชามตินั้น ได้อนุญาตให้มีการตั้งคำถามควบคู่ไปกับการทำประชามติจำนวน 2 คำถาม ที่มาจากมติที่ของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาละหนึ่งประเด็น โดยผ่านความเห็นชอบของ ครม. ถ้าหากว่าคำตอบของ 2 คำถามจากผลประชามติออกมาส่งผลให้ต้องปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ตรงนี้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็เปิดโอกาสให้ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้แก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนหรือไม่ แต่ทั้งนี้เรื่องนี้ตนยังตอบอะไรไม่ได้มากเพราะตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะมี 2 คำถามนั้นหรือไม่ และ 2 คำถามนั้นจะเป็นอะไร


กำลังโหลดความคิดเห็น