xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ เล็งวางแนวทางแก้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญยากกว่า กม.ทั่วไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน (แฟ้มภาพ)
“คำนูณ” เผยอาจปรับชื่อหมวดพระมหากษัตริย์และประชาชน เป็นภาค 1 พระมหากษัตริย์ ตามข้อเสนอ ครม. ขณะเดียวกันต้องแก้เรื่องการถวายสัตย์ฯ จากเดิมกำหนดต้องกระทำต่อเบื้องพระพักตร์ เป็นกระทำต่อพระมหากษัตริย์หรือผู้ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้แทนพระองค์ หรือรัชทายาทที่ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว เพื่อให้สอดรับกับร่างแก้ไข รธน.ชั่วคราว 2557 แย้มเตรียมวางแนวทางแก้ พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ยากกว่า พ.ร.บ.ทั่วไป หลังภาค 4 ต้องย่อเนื้อหา หวั่นหลักการสำคัญ รธน.ไปอยู่ในกฎหมายลูกจะถูกแก้ง่าย ยันไม่มีการหยั่งเสียง สปช.เห็นชอบหรือคว่ำ รธน. มั่นใจ สปช.แทรกแซงไม่ได้

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า วันแรกของการประชุมเพื่อพิจารณาเรียงรายมาตราหลังจากที่กรรมาธิการฯ ได้พิจารณารายประเด็นไปแล้ว จะเริ่มจากบททั่วไป ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน ไล่เป็นรายมาตราซึ่งอาจมีการปรับใช้ถ้อยคำใหม่ให้มีความเหมาะสมขึ้น เช่น ชื่อของหมวดที่ ครม.เสนอว่า ภาค 1 พระมหากษัตริย์ ตัดคำว่าและประชาชนออก กรรมาธิการฯ ก็จะมีการพิจารณาเรื่องนี้

ส่วนรายละเอียดไม่น่าจะมีการแก้ไขมากนัก เพราะเนื้อหาในภาค 1 นี้กรรมาธิการฯ แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาเลย แต่มีกรณีที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ได้ปรับปรุงแก้ไขในเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณจากเดิมกำหนดว่าจะต้องกระทำต่อเบื้องพระพักตร์ เป็นกระทำต่อพระมหากษัตริย์หรือผู้ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้แทนพระองค์ หรือรัชทายาทที่ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว ในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็คงต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกันด้วย

ทั้งนี้ เชื่อว่าการพิจารณาในภาค 1 ไม่น่าจะใช้เวลามากและมีความเป็นไปได้ที่ในวันนี้อาจจะพิจารณาได้แล้วเสร็จประมาณ 10-15 มาตรา ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าการพิจารณาจะเป็นไปได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ เนื่องจากเมื่อเข้าสู่หมวดอื่นๆ ที่มีคำขอแก้ไขมาก โดยเฉพาะเรื่องการเมืองและภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองซึ่งหากมีการย่อให้สั้นลงแล้วนำหลักการไปใส่ไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญแทนนั้น

“กรรมาธิการฯ ก็ได้หารือกันว่า มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้การแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญยากกว่า พ.ร.บ.ทั่วไปหรือไม่ เพราะแม้ว่าในร่างรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้การแก้ไขหลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญกระทำได้ยากแล้ว แต่เมื่อมีการยกเอาหลักการในรัฐธรรมนูญไปไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ก็ควรมีหลักประกันว่าหลักการเหล่านั้นจะไม่ถูกแก้ไขได้โดยง่าย แต่คงไม่มีการกำหนดให้ยากเท่ากับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ต้องยากกว่าการแก้ พ.ร.บ.ทั่วไป”

โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังยืนยันด้วยว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการหยั่งเสียง สปช.ว่าจะให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะร่างสุดท้ายยังไม่ออกมา และไม่เชื่อว่า สปช.จะถูกควบคุมจากปัจจัยภายนอกให้คว่ำรัฐธรรมนูญเพื่อให้ คสช.อยู่ในอำนาจต่อ เนื่องจาก สปช.ทุกคนหรือส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพมา จึงเชื่อว่าจะใช้วิจารณญาณพิจารณาร่างสุดท้ายอย่างดีที่สุด

นายคำนูณยืนยันว่า กรรมาธิการฯได้ปรับแก้อย่างดีที่สุดโดยดูทุกคำขอมาประกอบพิจารณา รวมทั้งความเห็นจากฝ่ายต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับบ้านเมือง ส่วนผลจะเป็นประการใดก็เป็นเรื่องปลายทางเพราะไม่ใช่การตัดสินใจของกรรมาธิการฯ เมื่อสุดท้ายออกมาแล้วผลจะเป็นอย่างไรไม่ใช่การตัดสินของเราทั้งหมด เพราะกรรมาธิการที่เป็น สปช.มีแค่ 21 คนเท่านั้น ที่จะมีส่วนร่วมในการลงคะแนนว่าจะเห็นชอบหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น