xs
xsm
sm
md
lg

"ธีรภัทร์"ชงถามประชามติ เลือกนายกฯโดยตรงหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงแก้ไข ร่าง รัฐธรรมนูญว่า ในขณะนี้ได้พิจารณาเป็นรายประเด็นแล้วแต่ยังไม่มีบทสรุปชัดเจนโดยคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 24 มิ.ย. 58 เพราะในวันที่ 24 มิ.ย. นั้นกรรมาธิการยกร่างฯซึ่งเป็น สปช. 21 คน จะต้องไปร่วมงานสัมมนาที่ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติจัดขึ้นด้วย จึงคิดว่าการพิจารณารายมาตรา น่าจะเริ่มต้นได้ในวันที่ 25 มิ.ย. 58
สำหรับประเด็นที่มีการปรับปรุงแก้ไขนั้น นายคำนูณ กล่าวว่าโดยสังเขปแล้วจะยังคงระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม เพียงแต่ปรับเปลี่ยนจำนวน ส.ส.เขต จาก 250 เป็น 300 ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 200 เหลือ 150 และให้มีบัญชีเดียว ส่วนระบบโอเพ่นลิสต์ จะชะลอไว้ อาจเขียนในบทเฉพาะกาลว่า จะใช้ต่อเมื่อมีการลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว แต่ยังคงหลักการเรื่องนายกฯคนนอก เหมือนเดิม คือใช้เสียงสองในสาม และจะปรับปรุงจากเดิมที่เขียนว่า ถ้าพ้น 30 วันแล้วให้เสียงข้างมาก เป็นถ้าเป็นนายกฯคนนอก ยังต้องใช้เสียงสองในสามเหมือนเดิม
"เวลาถอยก็บอกถอยกรูด ไม่แก้ก็บอกเสียงแข็ง ไม่ฟังคนอื่น เป็นมุมมองที่มีสิทธิที่จะทำได้ แต่ร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ออกมา ขอให้รอดูร่างสุดท้ายก่อน ส่วนภาค 4 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการปฏิรูปว่าจะบัญญัติทุกด้าน หรือเอาไปไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอของ ครม. ก็น่าสนใจ ที่ให้ยุบคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดอง มารวมกับกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและเสริมสร้างความปรองดอง และให้รายละเอียดทั้งหมดไปอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยต้องพิจารณาทบทวนอีกครั้งว่า จะคงอำนาจหน้าที่เหมือนที่เคยบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไปใส่ไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแทนหรือไม่ เพื่อให้มีการอ่อนตัว และปรับแก้ได้ง่ายกว่าการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ"
นายคำนูณ ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ให้ยุบ สภาปฏิรูแห่งชาติ แล้วตั้งสภาขับเคลื่อนฯ แทนนั้นถือเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะซ้ำซ้อนกับที่กำหนดในร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ เพราะใช้ชื่อเดียวกัน แต่จำนวนไม่เท่ากัน เพราะร่างรัฐธรรมนูญกำหนด 120 แต่ ขณะนี้กำหนด 200 คน ระยะเวลาการทำงานไม่เท่ากัน ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็อาจต้องมาดูว่าสภาขับเคลื่อนที่ตั้งขึ้นใหม่ จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ คาดว่าน่าจะประมาณหนึ่งปีจนถึงมีรัฐบาลใหม่ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดวาระ 5 ปี ความเห็นส่วนตัวคิดว่า สภาขับเคลื่อนฯ ที่นายกฯ จะตั้งน่าจะแยกออกจากสภาขับเคลื่อนฯที่จะกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
"กระแสคว่ำรัฐธรรมนูญในขณะนี้เกินจุดที่กรรมาธิการฯ จะหวั่นไหว หรือกดดันแล้ว ค่อนข้างสบายใจ ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด นำคำขอแก้ไขทุกคำขอ ฟังทุกเสียงมาพิจารณาตกผลึกในร่างสุดท้ายไม่เกิน 22 สิงหาคม 2558 ซึ่งการปรับแก้ก็ยังต้องคงเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้ออกมาเป็นที่ยอมรับได้ทุกฝ่าย เช่น มาตรา 181 กรรมาธิการฯ ก็ปรับแก้วรรคสาม วรรคสี่ ให้นายกฯ เสนอไว้วางใจได้ แต่ไม่ตัดสิทธิฝ่ายค้านเสนออภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมนั้น และยอมตัดทิ้งมาตรา 182 ทั้งหมด โดยไม่มีการปรับแก้" นายคำนูณกล่าว
โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังกล่าวถึง แผนการทำงานของกรรมาธิการฯ ที่จะไปประชุมในต่างจังหวัดว่า มีการเปลี่ยนแปลงจากแผนเดิมปลายมิถุนายน ขยับออกไปเป็นช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ถึงปลายเดือนกรกฎาคม แต่ยังไม่กำหนดสถานที่ชัดเจน โดยพยายามทำให้เสร็จภายในเดือนกรกฎาคม เพื่อที่ในช่วงสิงหาคม จะได้เชิญผู้ขอแก้ไขทั้งหมดมารับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับการปรับแก้ว่ามีเหตุผลอย่างไร น่าจะใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ จากนั้นก็ทบทวนร่างอย่างละเอียด จัดทำเอกสารประกอบ เพราะไม่มีโอกาสแก้ไขอีกแล้วหลังจาก วันที่ 22 สิงหาคม

**แนะประชามติเลือกนายกฯทางตรง

นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวถึง กรณีกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีท่าทียอมปรับแก้ประเด็นโครงสร้างทางการเมืองหลายประเด็นนั้นว่า ต้องรอให้มีความชัดเจนก่อนว่ามีการปรับแก้เรื่องอะไรบ้าง และปรับแก้อย่างไร ซึ่งต้องรอดูภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด จะดูแค่การปรับแก้เรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ ก็เหมือนคนหากมองที่หน้าตาอาจหน้าสวยแต่อาจขาพิการ อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญควรจะต้องตอบโจทย์ตามที่สภาพัฒนาการเมืองได้เสนอไปแล้ว คือ 1. เราจะสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่แท้จริงยั่งยืนให้สังคมไทยได้อย่างไรโดย 2. ควรสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพประสิทธิผล เหมาะสมกับสังคมไทย 3. ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ควรสร้างความรุ่งเรืองให้ประเทศลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี หรือเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยกินได้นั้นจะทำอย่างไร
นายธีรภัทร์ กล่าวอีกว่า การจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า คำถามที่จะถามในการทำประชามติ นอกเหนือจากคำถามที่ว่าประชาชนจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องคิดต่อไปว่า หากไม่รับจะทำอย่างไรต่อ ซึ่งตนคิดว่าควรมีคำถามว่า ประชาชนยังเชื่อมมั่นในระบบรัฐสภารูปแบบเดิมหรือไม่ หรือควรถามเลยว่า ประชาชนต้องการให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงหรือไม่ ซึ่งจะเป็นคำถามที่สอดรับกับคำถาม รับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ และจะทำให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สามารถปรับแก้รัฐธรรมนูญได้ตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และมองว่าคำถามในการทำประชามติ ไม่ควรเป็นคำถามเฉพาะบุคคล หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อย่างเช่นคำถามเรื่องการต่ออายุของรัฐบาล 2 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น