“คำนูณ” เผย กมธ.ยกร่างฯ เริ่มพิจารณารายมาตรา 25 มิ.ย. คงเลือกตั้งสัดส่วน ชะลอโอเพนลิสต์ ยังมีนายกฯ คนนอก ตัดพ้อถอยก็ว่าแก้ก็บ่น รับน่าสนใจ ครม.แนะปรับภาค 4 ปฏิรูปใส่ใน กม.ลูก ยุบ คกก.ปรองดอง-ยุทธศาสตร์ รอถกคงอำนาจเดิมหรือไม่ แนะแยกสภาขับเคลื่อนฯ ที่นายกฯ ตั้งกับของ รธน.ใหม่ เผยเกินจุดหวั่นไหวขู่คว่ำร่าง ย้ำคงเจตนารมณ์ รธน. เลื่อนถกนอกสถานที่เป็นกลาง ก.ค. ยังไม่กำหนดที่
วันนี้ (22 มิ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญว่า ในขณะนี้ได้พิจารณาเป็นรายประเด็นแล้วแต่ยังไม่มีบทสรุปชัดเจน โดยคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 24 มิ.ย.58 เพราะในวันที่ 24 มิ.ย.นั้นกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งเป็น สปช.21 คนจะต้องไปร่วมงานสัมมนาที่ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติจัดขึ้นด้วย จึงคิดว่าการพิจารณารายมาตราน่าจะเริ่มต้นได้ในวันที่ 25 มิ.ย. 58
สำหรับประเด็นที่มีการปรับปรุงแก้ไขนั้น นายคำนูณกล่าวว่า โดยสังเขปแล้วจะยังคงระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมเพียงแต่ปรับเปลี่ยน ส.ส.เขตจาก 250 เป็น 300 ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 200 เหลือ 50 และให้มีบัญชีเดียว ส่วนระบบโอเพนลิสต์จะชะลอไว้อาจเขียนในบทเฉพาะกาลว่าจะใช้ต่อเมื่อมีการลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว แต่ยังคงหลักการเรื่องนายกฯ คนนอกเหมือนเดิม คือ ใช้เสียง 2 ใน 3 และจะปรับปรุงจากเดิมที่เขียนว่า ถ้าพ้น 30 วันแล้วให้เสียงข้างมากเป็นถ้าเป็นนายกฯ คนนอกยังต้องใช้เสียง 2 ใน 3 เหมือนเดิม
“เวลาถอยก็บอกถอยกรูด ไม่แก้ก็บอกเสียงแข็งไม่ฟังคนอื่น เป็นมุมมองที่มีสิทธิที่จะทำได้ แต่ร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ออกมาขอให้รอดูร่างสุดท้ายก่อน ส่วนภาค 4 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการปฏิรูปว่าจะบัญญัติทุกด้านหรือเอาไปไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอของ ครม.ก็น่าสนใจที่ให้ยุบคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองมารวมกับกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและเสริมสร้างความปรองดอง และให้รายละเอียดทั้งหมดไปอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยต้องพิจารณาทบทวนอีกครั้ง ว่าจะคงอำนาจหน้าที่เหมือนที่เคยบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแต่ไปใส่ไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแทนหรือไม่ เพื่อให้มีการอ่อนตัวและปรับแก้ได้ง่ายกว่าการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ”
นายคำนูณยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ให้ยุบ สภาปฏิรูปแห่งชาติแล้วตั้งสภาขับเคลื่อนฯ แทนนั้นถือเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะซ้ำซ้อนกับที่กำหนดในร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่เพราะใช้ชื่อเดียวกัน แต่จำนวนไม่เท่ากันเพราะร่างรัฐธรรมนูญกำหนด 120 แต่ขณะนี้กำหนด 200 คน ระยะเวลาการทำงานไม่เท่ากันซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็อาจต้องมาดูว่าสภาขับเคลื่อนที่ตั้งขึ้นใหม่จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ คาดว่าน่าจะประมาณหนึ่งปีจนถึงมีรัฐบาลใหม่ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดวาระ 5 ปี ความเห็นส่วนตัวคิดว่าสภาขับเคลื่อนฯที่นายกฯจะตั้งน่าจะแยกออกจากสภาขับเคลื่อนฯ ที่จะกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
“กระแสคว่ำรัฐธรรมนูญในขณะนี้เกินจุดที่กรรมาธิการฯ จะหวั่นไหวหรือกดดันแล้ว ค่อนข้างสบายใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด นำคำขอแก้ไขทุกคำขอ ฟังทุกเสียงมาพิจารณาตกผลึกในร่างสุดท้ายไม่เกิน 22 สิงหาคม 2558 ซึ่งการปรับแก้ก็ยังต้องคงเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญโดยให้ออกมาเป็นที่ยอมรับได้ทุกฝ่าย เช่นมาตรา 181กรรมาธิการฯ ก็ปรับแก้วรรคสามวรรคสี่ให้นายกเสนอไว้วางใจได้แต่ไม่ตัดสิทธิฝ่ายค้านเสนออภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมนั้น และยอมตัดทิ้งมาตรา 182 ทั้งหมดโดยไม่มีการปรับแก้” นายคำนูณกล่าว
โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังกล่าวถึงแผนการทำงานของกรรมาธิการฯ ที่จะไปประชุมในต่างจังหวัดว่า มีการเปลี่ยนแปลงจากแผนเดิมปลายมิถุนายน ขยับออกไปเป็นช่วงกลางเดือนกรกฎาคมถึงปลายเดือนกรกฎาคม แต่ยังไม่กำหนดสถานที่ชัดเจน โดยพยายามทำให้เสร็จภายในเดือนกรกฎาคม เพื่อที่ในช่วงสิงหาคมจะได้เชิญผู้ขอแก้ไขทั้งหมดมารับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับการปรับแก้ว่ามีเหตุผลอย่างไร น่าจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ จากนั้นก็ทบทวนร่างอย่างละเอียดจัดทำเอกสารประกอบเพราะไม่มีโอกาสแก้ไขอีกแล้วหลังจากวันที่ 22 สิงหาคม