xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนชื่อภาค1พระมหากษัตริยิ์ ตัดทิ้งสมัชชาคุณธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (25มิ.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ เป็นประธานในการประชุม มีวาระพิจารณา แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา เป็นวันแรก โดยในช่วงเช้าได้ผ่านการพิจารณาในหมวดทั่วไป และ ภาค 1 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์และประชาชน รวม 25 มาตรา โดยรายละเอียดมีการแก้ไขเล็กน้อย
อาทิ มาตรา 7 ได้ปรับใน วรรคสอง โดยเติมคำว่า ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพื่อให้ตรงกับคำที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดในส่วนที่ว่าด้วยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยการแก้ไขดังกล่าวเป็นไปตามคำขอแก้ไขของ คณะรัฐมนตรี(ครม.)
มาตรา 14 ว่าด้วย คุณสมบัติขององคมนตรี ได้ปรับถ้อยคำ ได้แก่ ตัดคำว่า หรือกลุ่มการเมืองออก และปรับในส่วนขององค์กร "ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน" ให้เป็น ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ตามข้อสรุปประเด็นสำคัญที่ กมธ.ยกร่างฯได้มีการตกผลึกร่วมกันแล้วก่อนหน้านี้ ที่จะให้ตัดคำว่า กลุ่มการเมือง ออกจากร่างรัฐธรรมนูญ และยกเลิกการควบรวม ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ กสม. ดังนั้นการปรับถ้อยคำดังกล่าว ก็เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณของบุคคลก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ โดยกำหนดให้การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทำต่อพระรัชทายาท ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้ว ขณะที่ในช่วงบ่าย จะเข้าสู่การพิจารณาในหมวด 2 ว่าด้วย ประชาชน

** ตัดทิ้งสมัชชาคุณธรรม

ต่อมาเวลา 16.30 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษา และโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ แถลงผลการประชุม กมธ. ยกร่างฯซึ่งพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา เป็นวันแรกว่า ที่ประชุมพิจารณาไปได้ 33 มาตรา โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ เป็นเพียงการปรับถ้อยคำตามที่มีข้อเสนอ มีสาระสำคัญในหมวด 2 ว่าด้วยประชาชน ในมาตรา 28 ซึ่งกำหนดให้ พลเมืองเข้าไปทำหน้าที่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สมัชชาพลเมือง องค์กรตรวจสอบภาคประชาชน และองค์กรอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมได้ตัดเนื้อหาออก และเขียนขึ้นใหม่ โดยมีสาระสำคัญ เพื่อให้สิทธิ์พลเมืองในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสมัชชาพลเมืองเพื่อการพัฒนา โดยในส่วนของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สมัชชาพลเมือง องค์กรตรวจสอบภาคประชาชน และองค์กรอื่นนั้น ได้ตัดออก
ขณะที่การกำหนดหน้าที่ของพลเมืองที่ได้รับสิทธิ์ในกระบวนการของสมัชชาพลเมือง เช่น การทำงานโดยไม่มีอคติ ต้องทำงานด้วยความเสียสละ และการได้รับข้อตอบแทน จะนำไปบัญญัติไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่มาตราอื่นๆ เป็นเพียงการปรับถ้อยคำ
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาในวันแรกนี้ มีประเด็นที่สำคัญ คือ การปรับชื่อ ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน เป็น รากฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขณะที่มาตราอื่นๆ มีการปรับถ้อยคำให้สอดคล้องกับประเด็นที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้มีข้อตกผลึกแล้ว เพื่อให้เป็นบทบัญญัติในทิศทางเดียวกัน และรวมถึงการปรับปรุงถ้อยคำ เพื่อให้ชัดเจน และครอบคลุมเป้าหมาย เช่น มาตรา 26 วรรคสอง ได้ปรับจากคำว่า มีค่านิยมที่ดี ไปใช้คำว่า วัฒนธรรม เพราะคำว่าวัฒนธรรม มีความหมายที่กว้างกว่า ค่านิยม
มาตรา 27(3) ที่กำหนดให้พลเมืองมีหน้าที่เสียภาษีอากรโดยสุจริต ได้ตัดคำว่า โดยสุจริตออก เพราะการไปเสียวภาษี ถือเป็นการทำหน้าที่โดยสุจริตอยู่แล้ว ซึ่งไม่ต้องมีการบัญญัติซ้ำ และได้มีการจัดวางมาตรา และรายละเอียดของเนื้อหาใหม่ เช่น นำ มาตรา 31 ว่าด้วยบุคคลไม่สามารถใช้สิทธิ หรือเสรีภาพที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ได้ ไปต่อท้าย มาตรา 33 ที่ว่าด้วย การกำจัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ไม่ได้ เพื่อให้เนื้อหามีความเหมาะสม ทั้งนี้ ในวันที่ 26 มิ.ย. กมธ.ยกร่างฯ จะพิจารณาต่อใน มาตรา 34 ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

**ตั้ง 20 กรรมการฯ สานงานปฏิรูป

มั้งนี้ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ มีแนวโน้มที่จะปรับโครงสร้างของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่ได้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่กำหนดให้มีสมาชิกจำนวน 120 คน โดยปรับให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า คณะกรรมการการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ มีกรรมการจำนวน 20 คน ทำหน้าที่ในการกำหนดประเด็นในการปฏิรูป จากนั้นคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะเป็นผู้คัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นคณะทำงาน เพื่อขับเคลื่อนวาระการปฏิรูปในประเด็นต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการ และคณะทำงานชุดนี้ จะรวมกันภายใต้โครงสร้างสภา โดยจะมีการตั้งชื่อใหม่แทนชื่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อป้องกันความสับสนกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 (ฉบับชั่วคราว) ที่กำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ แทนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ภายหลัง สปช. ให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ
อย่างไรก็ตาม คณะกมธ.ยกร่างฯ มีแนวโน้มที่จะบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการปฏิรูปฯ หลังจากที่มีรัฐบาลใหม่ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 สิ้นสุดลง

** ลดอำนาจส.ว.เรื่องการถอดถอน

ส่วนประเด็นที่ คณะกมธ.ยกร่างฯ จะปรับลดอำนาจของ ส.ว. ให้สามารถถอดถอนได้เฉพาะบุคคลที่ส.ว.แต่งตั้งนั้น เพราะต้องการปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับการได้มาซึ่ง ส.ว. เพราะถ้าจะให้ ส.ว. มีอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ส.ว.จะต้องมาจากการเลือกตั้งเช่นกัน
ทั้งนี้ คณะกมธ.ยกร่างฯ มีแนวคิดใช้กลไกในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยใช้กลไกของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะที่ผ่านมากลไกการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของวุฒิสภา ไม่ประสบผลสำเร็จ

**ไม่มีการล็อบบี้สปช.ผ่านร่างรธน.

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง คำขอแก้ไขเรื่อง ภาค 4 การปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง ว่า อาจจะมีการย่อให้สั้นลง แล้วนำหลักการไปใส่ไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญแทนนั้นเรื่องนี้ กรรมาธิการฯ ก็ได้หารือกันว่า มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้การแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญยากกว่า พ.ร.บ.ทั่วไป หรือไม่ เพราะแม้ว่าในร่างรัฐธรรมนูญ จะกำหนดให้การแก้ไขหลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญกระทำได้ยากแล้ว แต่เมื่อมีการยกเอาหลักการในรัฐธรรมนูญไปไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ก็ควรมีหลักประกันว่า หลักการเหล่านั้น จะไม่ถูกแก้ไขได้โดยง่าย แต่คงไม่มีการกำหนดให้ยากเท่ากับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ต้องยากกว่าการแก้พ.ร.บ.ทั่วไป
โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังยืนยันด้วยว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการหยั่งเสียง สปช. ว่าจะให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะร่างสุดท้ายยังไม่ออกมา และไม่เชื่อว่า สปช. จะถูกควบคุมจากปัจจัยภายนอกให้คว่ำรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ คสช.อยู่ในอำนาจต่อ เนื่องจาก สปช. ทุกคนหรือส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพมา จึงเชื่อว่าจะใช้วิจารณญาณพิจารณาร่างสุดท้ายอย่างดีที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น