xs
xsm
sm
md
lg

แก้ร่างรธน.กว่า100มาตรา โอเพ่นลิสต์-เลือกตรงนายกฯไม่เหมาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โฆษกคณะกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่า มีการปรับปรุงในหลายประเด็น ซึ่งอาจทำให้ต้องแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ กว่า 100 มาตรา เนื่องจากแต่ละประเด็นจะครอบคลุมมากกว่า 1 มาตรา เช่น กรณีตัดกลุ่มการเมืองก็ต้องปรับแก้ไขประมาณ 30 มาตราแล้ว โดยขอให้รอการสรุป และแถลงอย่างเป็นทางการจากกรรมาธิการฯ อีกครั้ง หลังจากการพิจารณาเรียงรายมาตราเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งในการประชุมภายในของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ( สปช.) บ่ายวันที่ 24 มิ.ย. นี้ กรรมาธิการฯที่เป็น สปช. ทั้ง 21 คนจะไปร่วมประชุมด้วย โดยเนื้อหาการพูดคุยไม่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญ และไม่มีความจำเป็นต้องล็อบบี้สปช. เพื่อให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากยังไม่ได้ร่างสุดท้าย ยังสามารถปรับปรุงแก้ไขได้อีก หากกรรมาธิการฯ พิจารณารายมาตราเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมตามเป้าหมาย ต้นสิงหาคม ก็จะชี้แจงต่อผู้ขอแปรญัตติ และรับฟังความเห็น ซึ่งยังสามารถปรับแก้เพิ่มเติมได้ จนถึงร่างสุดท้ายไม่เกินวันที่ 22 สิงหาคม 2558
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความคืบหน้าในการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เป็นรายประเด็น มีความชัดเจนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยกว่า 10 ประเด็น เช่น 1. ประเด็นนายกฯคนนอก จะเพิ่มเติมว่าต้องเป็นเสียงสองในสามทุกกรณี 2 . เรื่องโอเพ่นลิสต์ จะไปบรรจุในบทเฉพาะกาล 3. ให้อำนาจ กกต.จัดการเลือกตั้งเหมือนเดิม 4. ไม่ยุบรวมกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน แต่จะพิจารณาเกี่ยวกับเนื้องานที่มีความซ้ำซ้อนกันอยู่ 5 . ตัดมาตรา 182 ทิ้ง 6 . ปรับปรุงมาตรา 181 ให้นายกฯ ยังคงเสนออภิปรายไว้วางใจตัวเองได้ แต่ไม่ตัดสิทธิฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมนั้น 7 . ตัดประเด็นกลุ่มการเมือง 8 . ให้ส.ว.มาจากการสรรหาโดยลด
อำนาจลง 9. คงระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสม แต่ปรับเปลี่ยนจำนวน ส.ส.เขตจาก 250 เป็น 300 ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 200 เหลือ 150 และ 10. ภาค 4 การปฏิรูป และการปรองดอง ซึ่งจะมีการพิจารณาวันนี้ว่า จะทำตามข้อเสนอของ ครม. ที่ให้ยุบรวมกรรมการปรองดอง เข้ากับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และบัญญัติเฉพาะการปฏิรูปที่จำเป็นไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนอื่นไปไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแทนหรือไม่ รวมทั้งสถานะของสภาขับเคลื่อนฯ ที่มีการตั้งขึ้นใหม่ ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ว่าจะซ้ำซ้อนกับสภาขับเคลื่อนฯ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือไม่ และควรกำหนดบทบาท หน้าที่อย่างไร เพื่อให้เกิดความชัดเจน

** ระบบเลือกตั้งโอเพ่นลิสต์ ไม่เหมาะ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ มีการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของฝ่ายต่างๆ จะทำให้ท่าทีของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่บอกว่าจะคว่ำร่างดีขึ้นหรือไม่ ว่าขณะนี้ยังจับกระแสอะไรไม่ได้ เนื่องจากความชัดเจนของกมธ.ยกร่างฯ ยังไม่มากพอ มีการถอยไปหลายจุดแล้ว พอถึงเวลาคงต้องเอาร่างออกมาให้ดูกัน ตนทราบแบบไม่เป็นทางการ เลยไม่แน่ใจว่ามีการแก้อะไรไปถึงไหน และการปรับแก้ ถือเป็นสัญญาณที่ดี หลังจากฟังเสียงของฝ่ายต่างๆ เขาก็มีการปรับแก้ อาจสรุปสั้นๆว่า ถอย แต่ถ้าดูเนื้อหา อาจไม่ใช่การถอย เช่นย้ายจากบทถาวร ไปอยู่ในบทเฉพาะกาล
เมื่อถามถึงระบบเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ เหมาะกับการเมืองไทยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่าไม่ถึงกับไม่เหมาะ หรือคัดค้าน แต่ในทางปฏิบัติอาจทำให้เกิดจุดอ่อนขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ครม.ได้ท้วงติงไป เพราะเราไม่ต้องการให้คนที่ลงเลือกตั้งแบบปาร์ตี้ลิสต์ ไปหาเสียงแข่งกันเองในบัญชี อีกทั้งการปรับแก้ให้บัญชีรายชื่อ เหลือบัญชีเดียวทั่วประเทศ เหมือนสมัยก่อนแทน 6 บัญชีนั้น จะยิ่งทำให้การเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ ยากขึ้นด้วย
ส่วนที่ กมธ.ยกร่างฯ นำระบบโอเพ่นลิสต์ไปเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล แสดงว่า ผู้ร่างยังเห็นผลดี เพียงแต่ไม่นำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งแรกที่จะมีขึ้น จะไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อๆไป กว่าจะได้ใช้ คงอีกนาน และเปิดโอกาสให้คนที่จะเข้ามาต่อจากนี้ ปรับแก้ได้
สำหรับกรณี กมธ.ยกร่างฯ ตัดโอกาสให้กลุ่มการเมืองลงสมัครเลือกตั้งออกไปนั้น เท่าที่ดูไม่มีเสียงสนับสนุน และมีข้อเสียมาก เขาจึงยอมรับในส่วนนี้ แต่ก็ต้องมีการแก้กฎหมายลูกให้การจัดตั้งพรรคการเมืองง่ายขึ้น จนใกล้เคียงกลุ่มการเมือง ซึ่งโดยหลักการ จะเปิดโอกาสกลุ่มการเมืองหรือไม่ แต่การตั้งพรรคการเมือง ควรที่จะง่ายอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า มีความเป็นห่วงว่า ไม่ให้นักการเมืองเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุน จะป้องกันได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ที่จริงก็ป้องกันได้ กติกาหลายข้อก็พยายามป้องกัน การที่เขาไปคิดเรื่องกลุ่มการเมือง เพราะเขาต้องการจะหนี แต่ว่าคนทั่วไป แม้กระทั้งตนก็เห็นว่า มันหนีไม่พ้น เพราะเมืองไทยไม่เหมือนเมืองนอก เมืองนอกที่ตั้งกลุ่มการเมือง เช่น เยอรมัน เขาตั้งเพื่อให้เกิดกลุ่มที่เกี่ยวกับสังคม แต่เมืองไทย เป็นนอมินี สุดท้ายถ้าไปตั้งกลุ่มการเมือง ยิ่งทำให้นายทุนเข้าไปครอบงำได้ หรือครอบงำพรรคในรูปแบบครอบงำ กลุ่มการเมือง สุดท้ายทั้งหมดก็กลายเป็นมุ้งเล็ก ในมุ้งใหญ่ แต่ก็มีหลายวิธีที่จะกันเรื่องครอบงำได้
เมื่อถามว่า จนถึงขณะนี้ได้สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 57 บ้างแล้วหรือยัง นายวิษณุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเป็นคนตั้ง ตนไม่เป็นคนตั้ง จึงไม่มีสิทธิไปเสนออะไรทั้งนั้น วันนี้ไม่มีใครคิด เรื่องเหล่านี้หรอก ให้เกียรติสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) บ้าง เขายังอยู่ บ้านก็ยังอยู่ คนก็ยังอยู่ นี่เตรียมจะไปรื้อบ้าน สร้างใหม่ แล้วหาคนไปอยู่แทนแล้ว เซ้งบ้านตั้งแต่คนเก่าอยู่ ไม่ได้หรอก เมื่อถามว่า ตอนนี้คนเก่า มีวิ่งเต้นบ้างหรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า ไม่มี เพราะเขาไม่รู้จะวิ่งกับใคร และไม่รู้จะวิ่งทำไม

** เลือกตั้งนายกฯโดยตรงข้อเสียยเยอะ

นายวิษณุ ยังกล่าวถึง กรณีนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) เสนอทำประชามติ ถามประชาชน ต้องการให้เลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ว่า ก็ไม่ว่ากัน เสนอมาได้ทั้งนั้น สามารถทำได้ ไม่ต้องไปผ่านสภาใดสภาหนึ่ง หากสปช. และ สนช. ยอมรับ ตนพูดมาตั้งหลายครั้งแล้ว เอาเข้าจริง ต้องมีคนตั้งคำถามแต่ละสภา และโหวตกันว่า คำถามไหนชนะเลิศ ถ้าตนอยู่สภา ตนก็ขอตั้งบ้าง และประกวดกัน ว่าของใครเก๋กว่าเพื่อน ชนะเลิศ เพราะยอมให้เสนอมาได้แค่ข้อเดียว ไม่แปลกอะไร ถึงแม้จะไม่มีเรื่องคำถามในการตั้งประชามติ ซึ่งการเลือกตั้งนายกฯ โดยตรงพูด ก็มีการพูดกันมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีการทำประชามติเลย ซึ่ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เขาก็ไม่รับ
" ระบบการเลือกตั้งนายกฯโดยตรง มีข้อเสียอยู่ไม่น้อย แม้จะมีข้อดีอยู่บ้าง ในส่วนของผมเอง ก็ไม่เห็นด้วย ความที่เราไม่เคยมี เอาเป็นว่าการเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ประเทศไหนในโลกเคยทำบ้าง ไปหามาให้ได้ 1 ประเทศ จากเกือบ 200 ประเทศ ที่มีในโลก ซึ่งมีอยู่ประเทศหนึ่ง คือ อิสราเอล แต่ตอนนี้ยกเลิกใช้แล้ว ลองมาได้ 3-4 ปี ก็ประกาศยกเลิก เพราะมันมีข้อเสีย แล้วตั้งแต่นั้นมา ก็ไม่มีเลยสักประเทศ มันต้องมีอะไรเกิดขึ้นแล้วแหละ และการเลือกตั้งนายกฯโดยตรง ก็ไม่ใช่เป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดี คนละอันกัน เมื่อมันไม่เคยมี ก็อย่ามี ถ้าจะมีก็ได้ ประเทศไทยจะได้เป็น ประเทศแรก ที่ลงกินเนสส์บุ๊ก แต่ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรเขา เพราะสมัยหนึ่งผมก็เคยคิดไว้ว่า มันดี แต่ตอนนี้ ข้อเสียมันมากกว่าข้อดี" นายวิษณุ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น