xs
xsm
sm
md
lg

อ้าง “แป๊ะ” ขอแก้ รธน.กว่า 100 จุด “บวรศักดิ์” สั่งถอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปธ.กมธ.ยกร่างฯ ยอมถอย เจอ “แป๊ะ” ขอแก้กว่า 100 จุด ระบุ “ครม.” สั่งให้คำนึงความสงบหลังการเลือกตั้ง แย้ม! ให้มี ส.ส. เขต 300 บวกบัญชีรายชื่อ 150 กลับมาใช้เขตเลือกตั้งทั้งประเทศ โละ “กลุ่มการเมือง - โอเพนลิสต์” ยันไม่มีพิมพ์เขียว ด้าน “กมธ.ยกร่างฯ” ยอมปรับสัดส่วนบอร์ด ก.ต. หลังถูก ผู้พิพากษาท้วงติง พร้อมถกปมขยายเวลาทำงาน หลัง สนช. อนุมัติร่างแก้ รธน. ชั่วคราวฯ “บิ๊กป๊อก” เผย ทะเบียนทุกจังหวัดพร้อมประชามติ

วันนี้ (18 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ชั้น 4 อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ ได้จัดงาน “ปาฐกถาประยูร กาญจนดุล” ครั้งที่ 7 ในโอกาสฉลองครบรอบ 43 ปี แห่งการสถาปนาคณะ

มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างปาฐกถา เรื่อง “รู้ลึก รู้ชัด กับอนาคตรัฐธรรมนูญ” ว่า ตนมองว่า มุมมองอนาคตของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องพิจารณาจากประวัติศาสตร์การเมืองและการเขียนร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2540 ที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิพลเมือง ความโปร่งใส และการสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาล

แต่ผลต่อมากลับพบว่ากรณีที่รัฐบาลที่เข้มแข็งเกินไปได้เข้าครอบงำองค์กรอิสระ ศาล และสื่อมวลชน ทำให้การแก้ปัญหาดังกล่าวในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 นั้นจึงมีบทบัญญัติให้ตรวจสอบพรรคการเมือง และนักการเมืองที่ทุจริต มีบทลงโทษ อาทิ ยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธินักการเมืองที่ทุจริต แต่สถานการณ์การเมืองหลังจากมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 บังคับใช้พบว่าพรรคการเมืองลำดับที่ 1 ได้กลับมาเป็นรัฐบาลและเกิดการต่อต้านชุมนุม จนนำมาสู่เหตุการณ์ยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557

ดังนั้น การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ที่ส่งผลให้การแข่งขันด้านเศรษฐกิจ แนวโน้มการศึกษาตกต่ำ รวมถึงทำให้ประเทศไทยสูญเสียทรัพย์สินทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านบาท ด้วยการก้าวข้ามความขัดแย้ง และสร้างความปรองดอง ส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้เด็กไทยมีระดับไอคิวรั้งท้ายกลุ่มประเทศอาเซียน

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงคิดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับปฏิรูป เพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง โดยสร้างสมดุลทางการเมืองระหว่างเสียงข้างมากและข้างน้อย ใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมเพื่อให้ได้ ส.ส. ตรงตามคะแนนนิยมของประชาชน รวมถึงการสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อลดต้นเหตุของการซื้อสิทธิขายเสียง

ขณะนี้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติมได้ปรับรายละเอียด โดยให้มีผลต่อการทำงานของ สปช. และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หากประชามติไม่ผ่านในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมไม่ได้ระบุไว้ว่าจะให้ไปอย่างไรต่อ

“ผมมองว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช. หรือ “แป๊ะ” ต้องกลับไปแก้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 อีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่ใช่การนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาประกาศใช้แน่นอน ส่วนกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง กำหนดให้วันที่ 10 ม.ค. 59 เป็นวันออกเสียงประชามติ ตนไม่ทราบว่ากำหนดได้อย่างไร เพราะไม่มีโรงพิมพ์ไหนที่สต๊อกกระดาษไว้นานเกิน 1 สัปดาห์ เพราะไม่มีเงินและไม่มีพื้นที่ หากกำหนดให้ทำประชามติวันนั้นจริง ถือว่า กกต. มองโลกในแง่ดีมากๆ”

ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขตามคำขอแก้ไขของ สปช., ครม. และข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคมนั้น ขณะนี้ ครม. ได้เสนอแก้ไขประมาณ 100 จุด และ สปช. อีกกว่า 100 มาตรา ซึ่งคำขอแก้ไขดังกล่าวที่เสนอมายืนยันชัดเจนว่าไม่มีพิมพ์เขียวแน่นอน ดังนั้นการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญต้องทำเพื่อประสานประโยชน์ ทั้ง สปช., ครม., คสช., องค์กรตามรัฐธรรมนูญ, กลุ่มประชาสังคม

สำหรับแนวโน้มมีสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นสำคัญ คือ 1. การสู้กันระหว่างอนุรักษนิยม คงสถานะเดิมไว้ทุกอย่าง กับการปฏิรูปและปรับปรุง เช่น ศาลยุติธรรมที่ออกมาเรียกร้องให้ ก.ต. เป็นเหมือนเดิม, 2. ความเคยชิน เช่น การปกครองท้องถิ่นที่ไม่ชินกับการปรับให้เป็นการบริหารท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ ครม. เน้นมาก คือ ความสงบหลังการเลือกตั้ง ด้วยการมีหมวดปฏิรูป กรรมการยุทธศาสตร์กการปฏิรูปประเทศสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง เพราะหลังการเลือกตั้งต้องมีผู้ที่คุมกติกา

นายบวรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า คิดว่าเจตนารมณ์หลัก 4 ข้อของร่างรัฐธรรมนูญต้องอยู่ เพราะถือเป็นเสาเอกของบ้าน หากรื้อเสาเอก ต้องหาคนเขียนใหม่ สำหรับประเด็นที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้หารือ และมีแนวโน้มที่จะปรับ คือ สภาตรวจสอบภาคพลเมืองระดับจังหวัด ไม่เขียนให้เป็นองค์กร คิดว่าน่าจะพลเมืองมีส่วนร่วมกันเฝ้าระวังและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นฐาน

ส่วนรายละเอียดเขียนไว้ในกฎหมายลูก ขณะนี้ “สมัชชาพลเมือง” ให้กำหนดเป็นเครือข่ายตามภูมิสังคม ไม่ใช่องค์กร สำหรับประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ จะเอาใจใส่เป็นพิเศษ ส่วนหมวดการเมืองมีแนวโน้มว่าจะปรับจำนวน ส.ส.จากแบบเขต จำนวน 250 คน เป็น 350 คน จากบัญชีรายชื่อ 200 คน ไปเป็น 150 คน และใช้บัญชีรายชื่อระดับชาติเหมือนเดิม

ส่วนกลุ่มการเมืองมีแนวโน้มปรับออก และเปลี่ยนให้พรรคการเมืองตั้งง่ายขึ้น รวมถึงไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นของคนตระกูลใด ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อที่ให้สิทธิประชาชนเลือกผู้สมัครเป็น ส.ส. หรือโอเพนลิสต์ ที่ กกต. ท้วงติงว่ามีปัญหา จึงจะปรับให้ไปใช้ครั้งแรกหลังจากมีการเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับหน้าที่ ส.ว. คิดว่าจะปรับในส่วนของการเสนอกฎหมาย ตัดอำนาจที่พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีออก ซึ่งการปรับดังกล่าวถือเป็นการประนีประนอม การแก้ไขร่าง รธน. คงไม่ถูกใจใคร 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จะไม่ทำให้คนที่ขัดใจลุกออกมาต่อต้าน

“อนาคตรัฐธรรมนูญนี้จึงขึ้นอยู่กับการที่ กมธ.ยกร่างฯ ที่ต้องคงเจตนารมณ์ 4 ข้อไว้ให้ได้ แต่ปรับบทบัญญัติให้สอดรับกับความรับได้ของกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย ดังนั้นจึงไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับในฝันของผม แต่จะเป็นฉบับที่ทำให้สังคมไทยขยับเคลื่อนไปได้ แก้ปัญหาความขัดแย้งในอดีต สร้างความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ พยายามทำให้การเมืองใสสะอาดสมดุลเท่าที่สังคมไทยจะรับได้ในเวลานี้”

นายบวรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนอนาคตของรัฐธรรมนูญจะเป็นเช่นไร ต้องไปถาม สปช. และ คสช. ผมตอบไม่ได้ เพราะผมยังไม่รู้อนาคตของผม และผมเชื่อว่าเราจะเขียนรัฐธรรมนญให้ออกมาท่ามกลางภาวะสังคมไทยในปัจจุบัน อาจไม่ถูกใจใครร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คงไม่ไปขัดใจใครจนลุกขึ้นมาต่อต้าน เราจะประสานความรู้สึกคนในสังคมมาให้มากที่สุด” นายบวรศักดิ์ กล่าว

กมธ.ยกร่างฯ ยอมปรับ สัดส่วนบอร์ด ก.ต.หลังผู้พิพากษาติง

ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า การประชุมคณะกมธ.ยกร่างฯ ได้หารือถึงข้อเสนอของคณะผู้พิพากษา จำนวน 1,130 คน ที่ขอให้ทบทวนสัดส่วนของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก โดยที่ประชุมส่วนใหญ่มีความเห็นร่วมกันว่าควรกลับไปเป็นโครงสร้างแบบเดิม คือ ให้มีสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอก ที่ไม่เป็น หรือเคยเป็นผู้พิพากษา หรือ ตุลาการ และไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจำนวน 2 คน นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ได้ลงมือแก้ไขในตัวบทบัญญัติอย่างเป็นทางการ เพราะเป็นเพียงแค่การหารือและรวบประเด็นเท่านั้น โดยการแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก จะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะรวมไปถึงการพิจารณาแก้ไขเนื้อหาในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

แม้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะได้ลงมติให้ความเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557แล้ว แต่ กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ตัดสินใจว่าจะขอขยายเวลาการทำงานเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมออกไปอีก 30 วันหรือไม่ เนื่องจากต้องการให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มีผลบังคับใช้ก่อน จากนั้นถึงจะมีการนัดประชุม และมีมติออกเป็นทางการว่าจะให้ขยายเวลาการทำงานหรือไม่ต่อไป ทั้งนี้ ส่วนตัวแล้วคิดว่าคณะ กมธ.ยกร่างฯ น่าจะเห็นด้วยกับการขยายเวลาการทำงานเพิ่มเติม เพราะจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เพื่อให้มีเวลาในการทำงานได้อย่างรอบคอบ”

“บิ๊กป๊อก” ย้ำงานทะเบียนราษฎรพร้อมทำประชามติ

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการดำเนินการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ขั้นตอนของทะเบียนราษฎรประเทศไทย ในส่วนของคนไทยที่มีที่มีสัญชาติ หรือไม่มี ตรงนี้ทุกจังหวัดมีความพร้อมที่จะทำได้ทันที เพราะเป็นระบบคอมพิวเตอร์หมดแล้ว ซึ่งเข้าใจว่า การแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นการทำประชามติจะเป็นลักษณะ ว่า ถ้าผ่านหรือไม่ผ่านแล้วจะต้องเป็นอย่างไร เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ตนหรือรัฐบาลคิด อย่างไรก็ตาม หากการทำประชามติ ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ต้องทำ แต่ถ้าผ่านประชามติแล้วจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ แล้วต้องไปผ่านการแปรญัติหรือจะต้องทำอย่างไร แล้วจึงเสนอผ่านไปทูลเกล้าฯ หรือถ้าไม่ผ่านจะต้องตั้งกรรมาธิการ เรื่องเหล่านี้เขาคงมีหมดในการแก้รัฐธรรมนูญ คงไม่ใช่แค่การเขียนการทำประชามติ หากเป็นเช่นนั้นคงไม่ใช่รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญทำแล้วมันต้องไปได้หมด

“การทำประชามติต้องคำนึงถึงกรอบเวลา ที่จะต้องมีกฎหมายเข้าไปยุ่งเกี่ยวข้อง เช่น ต้องมีการออกกฎหมายลูก ถ้าเลือกตั้งก็ต้องไปออกกฎหมายเลือกตั้ง เพราะทุกอย่างมีระยะเวลาแบบเบ็ดเสร็จ ต้องมีการคำนวนกำหนดเอาไว้หมด” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า ประเทศสิงค์โปร์จะมีการดำเนินการเลือกตั้งดำเนินตามโรดแมปที่เคยกำหนดเอาไว้ ในช่วงปลายปี 2558 จะให้มีการเลือกตั้ง ในช่วงนี้ได้มีการทำประชามติเข้ามา ต้องมีการพิมพ์รัฐธรรมนูญแจกจ่าย มีเวลาเหลือ 4 - 5 เดือน คงต้องนำไปบวกรวมกับโรดแมปเดิม หลังจากนั้น ก็น่าจะเป็นเวลาที่จะต้องมีการเลือกตั้ง ดังนั้น เรื่องนี้คงไม่ต้องถามแล้ว เพราะถามกันไปหลายครั้งแล้ว.


กำลังโหลดความคิดเห็น