xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่"ชี้รธน.ใหม่ต้องให้เวลาปฏิรูป ผู้พิพากษาล่าชื่อค้าน เผยเว็บแดงกุข่าวปฏิวัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ประยุทธ์"ยันเดินหน้าตามโรดแมป ระบุรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องมีเวลาให้ปฏิรูป หากไม่ต้องการให้ประเทศเป็นอัมพาตและไม่อยากให้ทหารเข้ามา ซัดปฏิวัติซ้อนเลอะเทอะ "บวรศักดิ์"เผยร่างรัฐธรรมนูญเป็นฉบับมนุษย์นิยมไม่ใช่อำนาจนิยม ย้ำ "อารยสถาปัตย์-พลเมือง" ไม่ใช่วาทกรรม แต่เป็นการสร้างจิตสำนึก ด้านผู้พิพากษาล่ารายชื่อ 1,380 คน คัดร้างเพิ่มสัดส่วน ก.ต.ศาลยุติธรรมสัดส่วนคนนอก หวั่นถูกการเมืองแทรกแซง "เสรี"ชี้ส่งผล สปช. คิดคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ "วันชัย"วิเคราะห์การลงมติร่อแร่เต็มที่ ผบ.ตร.เผยรู้ตัวมือปล่อยข่าวปฏิวัติซ้อนแล้ว เป็นเว็บแดงอยู่เมืองนอก สนช.ถกแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราววันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (17 มิ.ย.) ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการระหว่างประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือ ความสงบเรียบร้อย มีการตรวจสอบการทุจริตอย่างเป็นระบบ เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าได้ ทุกประเทศมีความพอใจ มีความต้องการที่จะลงทุน แต่ก็มีการถามว่า จะเลือกตั้งกันเมื่อไร ซึ่งเรื่องดังกล่าว ขึ้นอยู่กับประชาชน ส่วนตนเองขอยืนยันเดินหน้าตามโรดแมปเดิม วันนี้มีการพูดกันทุกวันว่าตนอยากอยู่ในอำนาจต่อ ถามว่าอยู่แล้วได้อะไรขึ้นมา วันนี้แม้แต่สลึงเดียวยังไม่ได้เลย แถมยังโดนด่าด้วย ไม่มีความสุขหรอก ที่อยู่วันนี้ ก็เพื่ออนาคตของประเทศ ได้แค่ไหนก็แค่นั้น ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อข้างหน้าจะได้แก้ไขอะไรที่ติดขัดได้ ไม่ได้ทำเพื่อให้ตนอยู่หรือไม่อยู่ วันนี้ไม่ต้องมาพูดเรื่องนี้แล้ว

ส่วนวันนี้ที่ได้มาพูด เพราะบ้านเมืองเดินหน้าไปไม่ได้ แต่ไม่ได้อยากมาพูด เพราะเหนื่อยจากการทำงานมา 60 ปีแล้ว ดังนั้น อย่าให้ประเทศเป็นอัมพาต ไม่อย่างนั้นทหาร ก็ต้องออกมาอีก เพราะไม่มีอะไรสามารถแก้ไขได้ ซึ่งที่ผ่านมา กฎหมายทุกกฎหมายใช้ไปหมดแล้ว แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญยังเดินหน้าไปไม่ได้ จะให้ประเทศไทยเดินหน้าไปอย่างไร ถ้าเรามีรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลทุกอย่างก็จบ ไม่ต้องกลัวทหาร ไม่มีใครอยากเข้ามาแบกภาระ ดังนั้น ต้องช่วยกันพูด ทำความเข้าใจ ในเรื่องดังกล่าว

"ใครอยากจะเดินหน้า 1 ก้าว แล้วถอยหลัง 2 ก้าว ก็ตามใจ วันนี้ ผมสร้างภูมิคุ้มกันโดยให้คนไทยหยุดไว้ก่อนหยุดทุกเรื่องที่เกิดความขัดแย้ง แล้วแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหา เดินหน้าสิ่งที่ทำได้ ถ้าทุกอย่างมีปัญหาไปหมดก็ไปไม่ ได้ ดังนั้น สปช. เขามีหน้าที่เสนอแนวทางที่จะให้รัฐบาลหน้าทำต่อจากผม 250 คนที่ตั้งขึ้นมา เพื่อวางแนวทางส่งต่อรัฐบาลหน้า ถ้าไม่เขียนกฎหมายแล้วทำรัฐธรรมนูญให้แตกต่าง ก็จะทำไม่ได้ ถ้าทุกคนเอาประชาธิปไตยอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาก็ใช้ประชาธิปไตย แต่ประเทศเดินหน้าไม่ได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญใหม่ ต้องมีระยะเวลาหนึ่งที่จะต้องปฏิรูปประเทศ แต่จะเขียนอย่างไรให้เกิดการยอมรับ แล้วรู้ ไหมว่าต่อไปใครจะมาเป็นรัฐบาล หรือไม่รู้เลย หรือเทวดาจะมาเป็นรัฐบาล ซึ่งจะไปอย่างไร ผมไม่รู้ อยู่ที่ท่านเป็นคนกำหนดชะตากรรม และอนาคตของประเทศนี้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

***ซัดเลอะเทอะเรื่องปฏิวัติซ้อน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทุกคนจะต้องช่วยกันในทุกมิติ ไม่ว่าจะกี่หม่อมอุ๋ย กี่สมคิด กี่ประยุทธ์ ไม่ต้องห่วงทุกคนต้องทำงานร่วมกัน และตนรับฟังทุกคน อย่าไปเชื่อว่าที่มีการบอกว่ใครดี ไม่ดี เพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจแก้ไขได้ ด้วยพวกเราทุกคนที่จะต้องร่วมมือกัน และวันนี้เราจะทำอย่างไรให้ระบบราชการมีความเข้มแข็ง ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการ ตนได้ให้แนวทางไปแล้วว่าจะต้องแต่งตั้งแบบที่ทหารตั้ง โดยจะมีคณะกรรมการของแต่ละกระทรวง และรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ต้องมารับผิดชอบในการแต่งตั้ง เหมือนกับ พ.ร.บ.กลาโหม ที่มีคณะกรรมการอยู่ 7 คน โดยทุกคนจะเสนอตัวแทนของเหล่าต่อที่ประชุม ถ้าเห็นชอบก็ผ่าน แต่ที่ผ่านมา ส่วนราชการอื่นทำไม่ได้ ดังนั้นจะเห็นว่า ทหารไม่มีปัญหาเรื่องการแต่งตั้ง จึงไม่ต้องกลัวเรื่องการปฏิวัติซ้อน เพราะมันเลอะเทอะ ถ้าจะปฏิวัติ ก็มาสิ มาปฏิวัติซ้อนตนเลย มาเลย แล้วจะรู้

***ยันประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้เดี๋ยวจะไม่เข้าใจว่าประชาชนเป็นใหญ่คืออะไร ประชาชนเป็นใหญ่อยู่แล้ว โดยมีหน้าที่ในการเลือกตั้ง ใช้อำนาจผ่าน 3 กลไก คือ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ การเลือกตั้ง ต้องเลือกให้ถูก เลือกให้ดี ถ้าไม่ดีจะโทษใครไม่ได้ เพราะประชาชนเป็นคนเลือก บ้านเรามีคนอยู่หลายส่วน หลายระดับ ซึ่งมีความรู้และความยากจนไม่เท่ากัน ความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม จึงเป็นบ่อเกิดของปัญหา ดังนั้น กรณีมือใครยาวสาวได้สาวเอา ต้องไม่เกิดขึ้น รัฐบาลจะสร้างความเท่าเทียมด้วยกฎหมาย หน้าที่ของประชาชน คือ 1.เลือกตั้ง 2.ลงประชามติ 3.เมื่อเกิดปัญหา ก็ร้องเรียนไปยัง ส.ส.ในพื้นที่ และประชาชนสามารถชุมนุมประท้วงได้ แต่ต้องไม่สร้างปัญหา มีการใช้อาวุธใส่กัน

"วันนี้ต่างชาติเข้ามาหา แล้วบอกว่ายินดีที่ประเทศไทยมีความสงบสุข ซึ่งเขาพร้อมจะลงทุนในทุกมิติ แต่ก็ถามด้วยว่า จะมั่นใจได้อย่างไรว่า สถานการณ์จะเป็นอย่างนี้ต่อไปเมื่อผมไม่อยู่ ตรงนี้ประชาชนทุกคนต้องเป็นผู้ให้คำตอบ เพราะประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจ ยืนยันว่า ผมไม่อยากใช้อำนาจ เพราะประเทศไทยมีแต่การใช้อำนาจและกฎหมาย และเมื่อใช้แรงขึ้น จนวันนี้ไม่มีกฎหมายอื่นที่จะใช้แล้ว นอกจากกฎอัยการศึก นอกจากกฎอัยการศึกแล้วก็เหลือแต่การฆ่าฟันกัน เราจะทำในแบบที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งหลายประเทศเคยเกิดขึ้น และตายมากกว่าเรา ตั้งแต่เข้ามายังไม่มีใครตายสักคน เว้นแต่มีคนเจ็บใจจนตาย หรือไม่ก็อดอาหารตาย เพราะบอกคนกินเจ นานเหลือเกิน แต่วันนี้ยังดีที่เรามีคนดี มากกว่าคนไม่ดี"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งในการกล่าวเปิดการประชุม ซึ่งสภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีฝนตกหนักตั้งแต่ช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวแบบมีอารมณ์ขันว่า ที่ผ่านมา พยายามขุดคลองรับน้ำ เพื่อรับฝน แต่ก็ไม่ตก กลับมาตกที่ กทม.ตลอด ไม่รู้ว่าตกไล่ผู้ว่าฯ หรือเปล่า

** ย้ำ"อารยสถาปัตย์-พลเมือง"ไม่ใช่วาทกรรม

ที่รัฐสภา กลุ่มบูรพาพิทักษ์ภาคีเครือข่ายจิตอาสาเพื่อคนพิการ ผู้สูงอายุ และทูตอารยสถาปัตย์ นำโดยนายสุเมธ พลคชา และนายกฤษณะ ละไล ยื่นหนังสือสนับสนุนและมอบดอกไม้ให้กำลังใจแก่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติคำว่า "อารยสถาปัตย์" ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนพิการให้เท่าเทียมเหมือนคนปกติ และลดเหลื่อมล้ำของผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ สตรีมีครรภ์ ที่ประสบปัญหาการเดินทาง

นายบวรศักดิ์กล่าวภายหลังการรับมอบหนังสือว่า จะรับเรื่องดังกล่าวไปแจ้งให้ กมธ.ยกร่างฯ ทราบ เพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญต่อไป โดยยืนยันว่า คำว่า "อารยสถาปัตย์" และ "พลเมือง" ไม่ใช่วาทกรรม เพื่อให้ดูเท่ เก๋ แต่เป็นการส่งสาส์นไปยังคนไทยทุกคนว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าสภาพร่างกายเป็นอย่างไร มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากันหมด เป็นการทำให้เกิดสำนึกความเป็นพลเมือง รู้หน้าที่ สิทธิ ของตัวเองทั้งในระดับชุมชน และระดับประเทศ ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นมนุษย์นิยม ไม่ใช่อำนาจนิยม ตามที่พูดกัน

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายยื่นขอให้กมธ.ยกร่างฯ แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น ว่า ไม่ขอพูดเป็นรายวัน จะขอพูดครั้งเดียวเมื่อถึงเวลา และจะชี้แจงทั้งหมดทุกประเด็นในเร็วๆ นี้ ก่อนที่จะมีการพิจารณาทบทวนแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ส่วนการรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองนั้น ขณะนี้พรรคการเมืองได้ส่งเอกสารเรื่องการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาให้กมธ.ยกร่างฯ แล้ว

**ประชามติร่างรธน.ต้องยึดหลัก 4 ข้อ

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลมอบหมายว่า กกต.จะยึดหลักสำคัญ 4 ข้อ คือ

1.หลักความโปร่งใส กระบวนการขั้นตอนและวิธีการในการทำประชามติต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส นับแต่การจัดเตรียมบัตร การจัดพิมพ์เอกสารเผยแพร่ การทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง การจัดการออกเสียง การนับคะแนน และการรายงานผล ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้

2.หลักเปิดกว้าง การให้ข่าวสารข้อมูลต่อประชาชนต้องเป็นไปภายใต้บรรยากาศที่เปิดกว้าง ให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เห็นเหมือน หรือเห็นต่าง มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้ประชาชนมีการตัดสินใจในการลงประชามติอย่างเป็นเหตุเป็นผล

3.หลักอยู่ในกรอบเนื้อหา การรณรงค์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน ต้องอยู่ในกรอบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่นำมาลงประชามติ กิจกรรมการรณรงค์ต่างๆ ต้องเลือกดำเนินการให้เกิดความเหมาะสม เพื่อไม่ให้ฝ่ายที่ไม่ประสงค์ดีต่อบ้านเมืองใช้เป็นโอกาสในการแอบแฝง ทำกิจกรรมทางการเมืองในทิศทางที่กลุ่มตนเองต้องการได้ โดยให้มีการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด

4.หลักเป็นที่ยอมรับ ผลของการลงประชามติต้องสามารถสร้างการยอมรับต่อประชาชน เพื่อให้ผลการลงประชามติไปใช้ในการกำหนดทิศทางของบ้านเมือง เพื่อให้ประเทศสามารถเดินไปข้างหน้าได้

นายสมชัย ยังให้ความมั่นใจว่า กกต. พร้อมจัดการลงประชามติได้ทันวันที่ 10 ม.ค.2559 โดยเบื้องต้นได้จัดเตรียมแผนการทำงานรองรับในทุกด้าน หาก สปช. ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 4 ก.ย.2558 ทางกกต.จะจัดพิมพ์และส่งร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 19 ล้านฉบับถึงมือประชาชน ภายในวันที่ 30 พ.ย.2558 และจัดให้มีการลงประชามติในวันอาทิตย์ที่ 10 ม.ค.2559 ซึ่งเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2557

***มองทิศทางการลงมติรัฐธรรมนูญร่อแร่

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงทิศทางการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ สปช. ว่า เท่าที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนหารือกันในหมู่สมาชิกเกี่ยวกับการที่จะลงมติต่อร่างรัฐธรรมนูญที่กรรมาธิการยกร่างฯ จะส่งให้ สปช. ภายในวันที่ 22 ส.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้สมาชิกมีแนวความคิดแบ่งกันไปได้ประมาณ 5 จำพวก คือ

1.พวกเก็บอาการ คือ ให้เหตุผลว่าจะดูร่างรัฐธรรมนูญที่แก้เสร็จเสียก่อนแล้วค่อยให้ความเห็นว่าจะรับหรือไม่รับ สมาชิกกลุ่มนี้มีลักษณะแบ่งรับแบ่งสู้ คือ 50-50

2.พวกที่เริ่มออกอาการ คือ รู้ว่าข้อเสนอในการแก้รัฐธรรมนูญของตน ไม่ได้รับการแก้ไข โดยอาจจะมีข้อมูลมาจาก กมธ.ยกร่างฯ และรู้ว่าถึงอย่างไรข้อเสนอของตนก็ไม่ได้รับการแก้ไข จึงเริ่มออกอาการ และนับวันอาการก็ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

3.พวกออกอาการที่จะไม่รับร่างฯ มาตั้งแต่ต้น เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างมานั้น ไม่เข้าท่า ไม่เหมาะสม มันเยอะ มันมากเกินไป อิรุงตุงนัง พัลวันกันไปหมด แก้อย่างไรก็ไม่เข้าที่เข้าทาง มีทางเดียวคือ รื้อ โละ ทำใหม่ ดูๆ ก็รู้กันอยู่ว่าเป็นกลุ่มไหน พวกไหน เพราะออกอาการแรงๆ มาตั้งแต่ต้น ฟาดกันหนักตั้งแต่ยกแรก รอยรักรอยแค้นแน่นฝังลึก ยังไงๆ ก็ไม่รับ

4.พวกเพิ่งออกอาการ หลังแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ยุบ สปช. เมื่อก่อนก็สงบเสงี่ยมเจียมตน ไม่ออกอาการ ตอนนี้จึงทิ้งทวน แสดงบทบาท หวือหวากัน แค่เสนอให้เปิดกาสิโน ก็ระเบิดไปทั้ง สปช. ต่อไปจะมีหลากหลายกลุ่มมากกว่านี้ ออกมาทิ้งระเบิดทิ้งทวน แล้วก็เอาเรื่องรัฐธรรมนูญมาทิ้งระเบิดเป็นลูกๆ เป็นดอกๆ ไป ซึ่งต้องคอยดูต่อไป

5.พวกที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญจะดีหรือไม่ดี จะแก้หรือไม่แก้อย่างไร ก็ไม่รับ เอาสถานการณ์บ้านเมืองมาเป็นตัวตั้ง ให้ความสำคัญมากกว่ารัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าการปฏิรูปยังไม่เสร็จ เลือกตั้งก็กลับมาเหมือนเดิม จะรีบเลือกตั้งไปทำไม ทางที่ดีคว่ำกลางทางเสียดีกว่า พวกนี้ก็มีไม่น้อยไปๆ มาๆ พวกที่ 5 ก็จะไปรวมกับพวก 2 , 3 และ 4 ก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งหลังวันที่ 22 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป หลังจากได้รับร่างแล้ว อาจจะรวมพวกที่ 1 มาอีกเยอะก็เป็นไปได้ ซึ่งชะตากรรมของรัฐธรรมนูญที่กำลังร่าง กำลังแก้กันอยู่นี้ จะไปรอดหรือไม่ แต่ในความเห็นของตน ดูอาการแล้วร่อแร่เต็มที

"นี่เป็นการประเมินจากการพูดคุยกับ สปช. ด้วยกัน ไม่ใช่เป็นการรณรงค์ แต่เป็นการทดสอบ และตรวจสอบอาการ และความเห็นซึ่งกันและกัน ส่วนใครจะมองว่า ด่วนวินิจฉัยเร็ว หรือช้า ก็ว่ากันไป แต่เมื่ออาการโดยรวมมันเป็นเช่นนี้ จะให้ว่าอย่างไรเล่า"นายวันชัยกล่าว

***ค้านเพิ่ม ก.ต.คนนอกหวั่นถูกแทรกแซง

ที่ศาลฎีกา อาคารศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และนายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้นำรายชื่อผู้พิพากษาจำนวน 1,380 คนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเรื่องการเพิ่มสัดส่วน ก.ต.ศาลยุติธรรม ที่มาจากฝ่ายการเมืองและการอุทธรณ์โทษวินัยให้สามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ พร้อมจดหมายเปิดผนึกยื่นต่อนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อส่งมอบไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

นายภัทรศักดิ์กล่าวว่า จะนำหนังสือดังกล่าวไปเสนอยัง สนช. เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งในประเด็นนี้ สอดคล้องกับที่ศาลยุติธรรมเคยได้แถลงจุดยืน 7 ข้อ ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแล้วก่อนหน้านี้ และเป็นเรื่องที่สำนักงานศาลยุติธรรมมีความห่วงใย เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อผู้พิพากษา โดยข้อร้องเรียนที่ได้เสนอไปนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา

ต่อมานายศรีอัมพร ได้แถลงว่า พวกเราไม่เห็นด้วย จึงรวบรวมรายชื่อผู้พิพากษาทุกระดับชั้น จำนวน 1,380 คน ทำจดหมายเปิดผนึกแสดงเหตุผลคัดค้านแนวคิดดังกล่าว รวมถึงแนวคิดที่กำหนดให้ผู้พิพากษาที่ถูก ก.ต.ลงโทษทางวินัยมีสิทธิ์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ เนื่องจากจะเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของ ก.ต. และหากศาลถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ประชาชนที่มีคดีความเข้าสู่ศาล ก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้น อยากให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นในการเพิ่มสัดส่วน ก.ต.คนนอกว่าจะแก้ปัญหาอะไรและหากประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร

"เมื่อปี 2535 เกิดวิกฤติตุลาการ เนื่องมาจากนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงแต่งตั้งประธานศาลฎีกา และก่อนหน้านั้นยังมีความพยายามออกกฎหมายเพื่อให้นักการเมืองเข้ามามีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาหลายครั้ง กระทั่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้เสนอให้แยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรม และมีการแก้ไขสัดส่วนของ ก.ต.โดยฝ่ายศาลไม่ต้องการให้มี ก.ต.มาจากบุคคลภายนอก ที่ไม่ใช่ผู้พิพากษา แต่นักวิชาการด้านกฎหมายเห็นว่า ศาลยุติธรรมเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยควรมีความยึดโยงกับประชาชน จึงกำหนดให้วุฒิสภาสรรหาบุคคลที่เหมาะสม 2 คน ร่วมเป็น ก.ต.จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2550 ก็ใช้หลักการเดิมมาถึงปัจจุบันโดยไม่เคยมีปัญหาอะไร"นายศรีอัมพรกล่าว

***มึนปฏิรูปแบบถอยหลังเข้าคลอง

นายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา หนึ่งในผู้ร่วมลงนามจดหมายปิดผนึก กล่าวว่า ศาลยุติธรรมแยกออกมาจากกระทรวงยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็เพื่อไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองใช้อำนาจก้าวก่ายแทรกแซงความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี แล้วเหตุใดจึงคิดเพิ่มตัวแทนนักการเมืองให้เข้ามามีบทบาทในการแต่งตั้งโยกย้ายและลงโทษผู้พิพากษา อย่างนี้เรียกว่าปรับเปลี่ยน เพื่อให้นักการเมืองมีโอกาสแทรกแซงศาลมากขึ้น เป็นการลดทอนความเป็นอิสระของศาลในการที่จะไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ถือว่าเป็นการปฎิรูปแบบถอยหลังเข้าคลอง

"แม้รัฐบาลชุดนี้สุจริตใจไม่ได้คิดแทรกแซงศาล ซึ่งก.ต.ที่มาจากการสรรหาของวุฒิสภา 2 คน ที่มีอยู่เดิมก็มากเกินพอแล้ว เพราะขนาดนายเมธี ครองแก้ว ซึ่งปัจจุบันเป็น ก.ต. สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจากคนนอก ก็ยังมีความเห็นว่า สัดส่วน ก.ต.จากคนนอกแค่ 2 คนนั้นมีความเหมาะสมเพียงพอแล้ว"นายสมชาติกล่าว

***“วิษณุ”ไม่ขัดข้องตุลาการ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมจำนวน 1,130 คน เข้าชื่อคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) และการอุทธรณ์คำสั่ง ก.ต. โดยจะส่งมายังแม่น้ำทั้ง 5 สายว่า ไม่ขัดข้องหากจะส่งมา ตนเห็นแต่เพียงในข่าว และมองว่าเรื่องดังกล่าวควรส่งไปที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะในส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งไปหมดแล้ว และก่อนหน้านี้ทางตุลาการก็มีการเสนอความเห็นมายัง ครม. 2 ข้อ คือไม่เห็นด้วยกับการให้มีผู้แทน ครม. อยู่ใน ก.ต. และการเปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษวินัยผู้พิพากษา จากเดิมที่ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ซึ่งประเด็นที่สองถือเป็นหนึ่งใน 112 ประเด็นที่ ครม. เสนอปรับแก้และตัดออก ไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งได้ส่งทั้ง 2 ประเด็นไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างแล้ว

** หนุนตัดทิ้งเพิ่มสัดส่วน ก.ต.คนนอก

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลยุติธรรม 1,130 คน เข้าชื่อคัดค้าน กมธ.ยกร่างฯ ที่กำหนดให้เพิ่มสัดส่วนคนนอก เป็นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เป็น 1 ใน 3 และให้สามารถอุทธรณ์มติของ ก.ต. ได้ ว่า กมธ.กฎหมายฯ และกมธ.การเมือง ได้ร่วมกันเสนอคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ให้ตัดทิ้ง ทั้งสัดส่วนคนนอกที่เพิ่มเป็น 1 ใน 3 และการอุทธรณ์มติของ ก.ต. โดยขอปรับแก้ให้กลับไปใช้แบบเดิมเหมือนที่ทำมา เนื่องจากหากกำหนดบทบัญญัติไว้แบบนี้ จะทำให้องค์กรตุลาการขาดความเป็นอิสระ อาจทำให้ถูกแทรกแซงการพิจารณาคดีได้

"การเข้าชื่อของตุลาการศาลยุติธรรมกว่า 1,000 คน เพื่อคัดค้านการร่างรัฐธรรมนูญ ของ กมธ.ยกร่างฯ จะส่งผลต่อการพิจารณาลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอย่างมาก แน่นอน กมธ. ยกร่างฯ ทั้ง 36 คน ต้องกลับมาทบทวนปัญหาอย่างแท้จริงแล้วว่า มันอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ร่างกันไปแบบคิดเองเออเอง"นายเสรีกล่าว

นายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตรองประธานศาลฎีกา และสมาชิก สปช. กล่าวว่า ตนได้ร่วมเข้าชื่อเสนอตัดเนื้อหาในส่วนนี้ร่วมกับ กมธ.กฎหมายฯ และกมธ.การเมือง แล้ว เพราะเราเห็นว่า กมธ.ยกร่างฯ ไม่มีเหตุผล ที่จะมาเปลี่ยนแปลงเพิ่มสัดส่วนคนนอกของ ก.ต. และกำหนดให้สามารถอุทธรณ์คำสั่งของ ก.ต.ได้ เพราะหลักการเดิมที่วางไว้ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 นั้น ถือว่าดีอยู่แล้ว การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นไปอย่างฉ้อฉล เขียนกฎหมายปลายเปิด เกิดช่องว่างให้ตีความได้มาก เที่ยวแคะนั่น แคะนี่ อะไรที่ดีอยู่แล้วก็ไปแก้ให้เสีย อย่างนี้ไม่เรียกการปฏิรูป

**เห็นด้วยศาลค้านสัดส่วน ก.ต.1ใน 3

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตนได้ไปคุยกับทาง กมธ.หลายคน ก็มีความเห็นตรงกันกับกลุ่มผู้พิพากษา ที่เสนอให้คัดค้านให้มีส่วนจากบุคคลภายนอก จำนวน 1 ใน 3 เข้ามาเป็น กต. เพื่อป้องกันอิทธิพลของฝ่ายการเมืองต่อองค์กรตุลาการ ซึ่งเรื่องนี้คงจะต้องมีการหารือกันในที่ประชุมต่อไป โดยที่ผ่านมา ในร่างรัฐธรรมนูญมีการบัญญัติให้ กต.ได้บัญญัติสัดส่วน 1 ใน 3 นั้น ก็เพราะมีหลักคิดว่า องค์ประกอบของ กต. ควรจะมาจากส่วนที่เกี่ยวโยงกับประชาชน ยึดโยงกับภายนอก ให้เหมือนองค์ประกอบของศาลปกครอง แต่ในขณะนี้หลักคิดดังกล่าวคงไม่ถูกต้องแล้ว เมื่อมีทางผู้พิพากษาได้ให้เหตุผลทักท้วงออกมา โดยให้เหตุผลว่า ลักษณะศาลปกครอง และศาลยุติธรรมนั้น ไม่เหมือนกัน

"ผมเห็นว่าเรื่องการเป็นอิสระ และปลอดจากการเมืองนั้น ผมเห็นด้วย เพราะองค์กรอิสระที่เปิดช่องให้ส่วนของคนนอกเข้ามามากๆ นั้นเป็นเรื่องอันตราย ในขณะนี้ ทาง กต. เองก็มีสัดส่วนของคนนอกอยู่แล้วจำนวน 2 คน ซึ่งผมคิดว่า หลักการนี้ก็ดีอยู่แล้ว ไม่ควรเพิ่มเป็น 1 ใน 3 และในเรื่องขององค์กรศาล ที่มีการจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ และก็ให้คนนอกเข้ามาอบรมด้วย เรื่องนี้ทางเราก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน เพราะจะทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถเข้าช่องนี้ด้วย รวมถึงนักธุรกิจ ที่อาจจะมีการสร้างความสนิทสนมกับองค์กรศาลได้ และทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดี แต่เชื่อว่าทางศาล ก็อยากให้มีอิสระปลอดจากการแทรกแซงทุกด้าน" นายไพบูลย์กล่าว

***"สมยศ"รู้ตัวมือโพสต์ปฏิวัติซ้อน

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบหาตัวผู้โพสต์ปล่อยข่าวการปฏิวัติซ้อนผ่านทางโซเชียลมีเดีย ว่า ล่าสุดได้รับรายงานว่าสืบทราบตัวผู้ที่ปล่อยข่าวลือดังกล่าวจนสร้างความตื่นตระหนกกับประชาชน โดยพบว่าเป็นบุคคลที่เปิดเว็บไซต์ www.dangdd.com ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ปิดกั้นการเข้าถึงไว้แล้ว ส่วนผู้โพสต์ทราบว่าเป็นบุคคลที่ใช้เซิฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้พบว่า ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่นำระบบ "ซิงเกิ้ลเกตเวย์" หรือระบบป้องกันข้อความที่ไม่เหมาะสมมาใช้ในงานด้านความมั่นคง ก็จะทำให้ข้อความเหล่านี้ที่สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติจะยังคงอยู่ และไม่มีทางที่จะสามารถคัดกรองได้ ก็จะต้องมานั่งแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างนี้ตลอดไป เป็นการคอยตรวจสอบไล่ปิดแบบนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องลงทุนในเรื่องนี้อย่างเช่นที่หลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้ เพราะเป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศ

"ได้เสนอให้ฝ่ายความมั่นคงพิจารณาเรื่องการจัดซื้อเครื่องมือชนิดนี้เข้ามาใช้ในราชการหลายครั้ง โดยเสนอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เป็นแม่งาน ซึ่งเครื่องนี้มีราคาอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่กับงานด้านความมั่นคงแล้วถือว่าคุ้มค่า"

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีการโพสต์ข้อความเรื่องการปฏิวัติซ้อนนั้น เจ้าหน้าที่ทำได้เพียงการตรวจสอบ ปิดกั้นในภายหลังเท่านั้น โดยผู้กระทำผิดหรือผู้โพสต์ใช้วิธีเปลี่ยนรายละเอียดของชื่อเว็บไซต์ เช่น ใส่จุดหรือเครื่องหมายต่างๆ เพิ่มเข้าไปเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถเปิดขึ้นมาใหม่และโพสต์ข้อความลงไปได้อีก แต่ตอนนี้เจ้าหน้าที่ทราบแล้วว่าผู้กระทำผิดอยู่ที่ไหนและเป็นใคร แต่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย

เมื่อถามว่ากรณีที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองหรือไม่ พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า ตนไม่สามารถบอกได้ แต่ขอให้ไปดูที่ชื่อเว็บไซต์ว่าชื่ออะไร ก็จะรู้ได้ทันที

***สนช.ค้านเปิดทาง 111-109 คืนการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันนี้ (18 มิ.ย.) มีวาระการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยขั้นตอนการพิจารณา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. จะให้สมาชิก สนช. อภิปรายได้อย่างเต็มที่ โดยไม่จำกัดเวลา จากนั้นจะลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ด้วยวิธีการขานชื่อเป็นรายบุคคล ต่อด้วยพิจารณาเป็นรายมาตราในวาระ2ก่อนลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ในวาระที่ 3 ซึ่งจะใช้วิธีการลงคะแนนแบบขานชื่อเช่นกัน

ทั้งนี้ มีรายงานว่าตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่พล.อ.ประยุทธ์ ส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาให้ สนช. เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ปรากฏว่ามีสมาชิก สนช. หลายคนได้มีข้อสงสัยต่อเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญ คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ที่กำหนดให้บุคคลที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งสามารถมาดำรงตำแหน่งสมาชิก สนช. และรัฐมนตรีได้ จากเดิมที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 ได้กำหนดข้อห้ามเอาไว้ โดยเตรียมสอบถามถึงความชัดเจนจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อไป

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสนช. กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเนื้อหาในมาตรา 3และไม่เข้าใจว่ารัฐบาลและ คสช. มีวัตถุประสงค์อะไร เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้มีหลักการสำคัญเพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ มองว่ารัฐบาลมีความต้องการให้อดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองกลุ่ม 111 และ กลุ่ม 109 เข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองใช่หรือไม่ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ย่อมมองเช่นนั้นได้ หรืออาจมองได้อีกด้านหนึ่งว่าเป็นการต้องการสร้างความปรองดอง แต่ส่วนตัวมีหลักการแน่วแน่ว่าการปรองดองที่ถูกต้องนั้นจะต้องไม่ปรองดองกับคนที่กระทำผิด
กำลังโหลดความคิดเห็น