“วันชัย” เผยทิศทาง สปช.ลงมติร่างรัฐธรรมนูญแบ่งได้ 5 จำพวก ทั้งเก็บอาการ-เริ่มออกอาการโวยไม่แก้ตามใจ-พวกส่อไม่รับร่างแต่ต้นต้องรื้อใหม่ ดูก็รู้พวกไหน พวกออกอาการหลังยุบ สปช. และพวกที่ยังก็ไม่รับเหตุปฏิรูปยังไม่เสร็จ แย้ม พวกนี้มีไม่น้อย ฟันธง รธน.ร่อแร่เต็มที-กมธ.ยกร่างฯ พร้อมทบทวนสัดส่วนบอร์ดตุลาการ ยันกำหนดสัดส่วน 1 ใน 3 ไร้เจตนาแทรกแซง
วันนี้ (17 มิ.ย.) นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงทิศทางการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิก สปช.ว่า เท่าที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนหารือกันในหมู่สมาชิกเกี่ยวกับการที่จะลงมติต่อร่างรัฐธรรมนูญที่กรรมาธิการยกร่างฯ จะส่งให้ สปช.ภายในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ขณะนี้สมาชิกมีแนวความคิดแบ่งกันไปได้ประมาณ 5 จำพวกด้วยกัน คือ (1. พวกเก็บอาการ คือให้เหตุผลว่าจะดูร่างรัฐธรรมนูญที่แก้เสร็จเสียก่อนแล้วค่อยให้ความเห็นว่าจะรับหรือไม่รับ สมาชิกกลุ่มนี้มีลักษณะแบ่งรับแบ่งสู้ คือ 50-50 (2. พวกที่เริ่มออกอาการ คือรู้ว่าข้อเสนอในการแก้รัฐธรรมนูญของตนไม่ได้รับการแก้ไขโดยอาจจะมีข้อมูลมาจาก กมธ.ยกร่างฯและรู้ว่าถึงอย่างไรข้อเสนอของตนก็ไม่ได้รับการแก้ไขจึงเริ่มออกอาการ และนับวันอาการก็ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น (3. พวกออกอาการที่จะไม่รับร่างฯมาตั้งแต่ต้นเพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างมานั้นไม่เข้าท่า ไม่เหมาะสม มันเยอะ มันมากเกินไป อิรุงตุงนังพัลวันกันไปหมด แก้อย่างไรก็ไม่เข้าที่เข้าทาง มีทางเดียวคือรื้อ โละทำใหม่ ดูๆ ก็รู้กันอยู่ว่าเป็นกลุ่มไหนพวกไหนเพราะออกอาการแรงๆมาตั้งแต่ต้น ฟาดกันหนักตั้งแต่ยกแรก รอยรักรอยแค้นแน่นฝังลึก ยังไงๆ ก็ไม่รับ
นายวันชัยกล่าวต่อว่า (4. พวกเพิ่งออกอาการหลังแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ยุบ สปช.เมื่อก่อนก็สงบเสงี่ยมเจียมตนไม่ออกอาการ ตอนนี้จึงทิ้งทวน แสดงบทบาทหวือหวากัน แค่เสนอให้เปิดคาสิโนก็ระเบิดไปทั้ง สปช.ต่อไปจะมีหลากหลายกลุ่มมากกว่านี้ออกมาทิ้งระเบิดทิ้งทวนแล้วก็เอาเรื่องรัฐธรรมนูญมาทิ้งระเบิดเป็นลูกๆเป็นดอกๆไป ซึ่งต้องคอยดูต่อไป และ (5. พวกที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญจะดีหรือไม่ดี จะแก้หรือไม่แก้อย่างไรก็ไม่รับ เอาสถานการณ์บ้านเมืองมาเป็นตัวตั้งให้ความสำคัญมากกว่ารัฐธรรมนูญโดยเห็นว่าการปฏิรูปยังไม่เสร็จ เลือกตั้งก็กลับมาเหมือนเดิมจะรีบเลือกตั้งไปทำไม ทางที่ดีคว่ำกลางทางเสียดีกว่า พวกนี้ก็มีไม่น้อยไปๆ มาๆ พวกที่ 5 ก็จะไปรวมกับพวก 2, 3 และ 4 ก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งหลังวันที่ 22 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป หลังจากได้รับร่างแล้วอาจจะรวมพวกที่ 1 มาอีกเยอะก็เป็นไปได้ ชะตากรรมของรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกำลังแก้กันอยู่นี้ในความเห็นของตนดูอาการแล้วร่อแร่เต็มที
“นี่เป็นการประเมินจากการพูดคุยกับ สปช.ด้วยกัน ไม่ใช่เป็นการรณรงค์แต่เป็นการทดสอบและตรวจสอบอาการและความเห็นซึ่งกันและกัน ส่วนใครจะมองว่าด่วนวินิจฉัยเร็วหรือช้าก็ว่ากันไป แต่เมื่ออาการโดยรวมมันเป็นเช่นนี้จะให้ว่าอย่างไรเล่า” นายวันชัยกล่าวทิ้งทาย
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการและไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เข้ามาเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมนั้น ไม่ได้มีเจตนาจะให้คนนอกเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในและการทำงานของศาลยุติธรรม เพราะคณะ กมธ.ยกร่างฯ ยังถือว่าเป็นศาลต้องทำงานภายใต้หลักความอิสระและปราศจากการแทรกแซงใดๆ ทั้งสิ้น
นายไพบูลย์กล่าวว่า เดิมทีสาเหตุที่ต้องกำหนดสัดส่วนดังกล่าว เพราะต้องการให้ศาลทำงานเชื่อมโยงกับประชาชนมากขึ้น ซึ่งเป็นหลักเดียวกับคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง แต่เมื่อคณะผู้พิพากษาได้แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการกำหนดจำนวนสัดส่วนตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ทางคณะกมธ.ยกร่างฯ ก็พร้อมจะนำกลับไปทบทวนและพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งส่วนตัวเสนอว่าควรให้มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมแค่ 2 คนตามเดิม
“ขอยืนยันว่าคณะกมธ.ยกร่างฯ ไม่มีเจตนาจะทำให้การทำงานของศาลถูกแทรกแซง แต่หากคณะผู้พิพากษาเห็นว่าสิ่งที่คณะกมธ.ยกร่างฯกำหนดไว้นั้นไม่เหมาะสม ก็พร้อมจะพิจารณาทบทวนเพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อไป” นายไพบูลย์กล่าว