ผู้พิพากษาล่ารายชื่อ 1,380 คน คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญประเด็นเพิ่มสัดส่วน ก.ต.ศาลยุติธรรม ที่มาจากฝ่ายการเมือง หวั่นเสี่ยงถูกแทรกแซงแต่งตั้งโยกย้าย
ที่ศาลฎีกา อาคารศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 13.30 วันนี้ (17 มิ.ย.) นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และนายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้แถลงข่าวพร้อมนำรายชื่อผู้พิพากษาจำนวน 1,380 คนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเรื่องการเพิ่มสัดส่วน ก.ต.ศาลยุติธรรม ที่มาจากฝ่ายการเมืองและการอุทธรณ์โทษวินัยให้สามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ พร้อมจดหมายเปิดผนึกยื่นต่อ นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อส่งมอบไปยัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
โดยนายภัทรศักดิ์กล่าวว่าจะนำหนังสือดังกล่าวไปเสนอยัง สนช.เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งในประเด็นนี้สอดคล้องกับที่ศาลยุติธรรมเคยได้แถลงจุดยืน 7 ข้อ ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแล้วก่อนหน้านี้ และเป็นเรื่องที่สำนักงานศาลยุติธรรมมีความห่วงใย เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อผู้พิพากษา โดยข้อร้องเรียนที่ได้เสนอไปนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา
ต่อมานายศรีอัมพรได้แถลงว่า ภายหลังจากที่ผู้พิพากษาจำนวน 427 คนออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญเรื่องการเพิ่มสัดส่วน ก.ต.ศาลยุติธรรม ที่ผ่านมาจากฝ่ายการเมืองไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 จนมีกระแสข่าวว่าคณะกรรมาธิการยกร่างฯ อาจแก้ไขให้ร่างรัฐธรรมนูญเพิ่ม ก.ต.คนนอกจำนวน 1 คน ที่เป็นตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งพวกเราไม่เห็นด้วยจึงรวบรวมรายชื่อผู้พิพากษาทุกระดับชั้น จำนวน 1,380 คน ทำจดหมายเปิดผนึกแสดงเหตุผลคัดค้านแนวคิดดังกล่าวรวมถึงแนวคิดที่กำหนดให้ผู้พิพากษาที่ถูก ก.ต.ลงโทษทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้เนื่องจากจะเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของ ก.ต. และหากศาลถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองประชาชนที่มีคดีความเข้าสู่ศาลก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้น อยากให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นในการเพิ่มสัดส่วน ก.ต.คนนอกว่าจะแก้ปัญหาอะไรและหากประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร
“เมื่อปี 2535 เกิดวิกฤตตุลาการ เนื่องมาจากนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงแต่งตั้งประธานศาลฎีกา และก่อนหน้านั้นยังมีความพยายามออกกฎหมายเพื่อให้นักการเมืองเข้ามามีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาหลายครั้ง กระทั่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้เสนอให้แยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรม และมีการแก้ไขสัดส่วนของ ก.ต.โดยฝ่ายศาลไม่ต้องการให้มี ก.ต.มาจากบุคคลภายนอก ที่ไม่ใช่ผู้พิพากษา แต่นักวิชาการด้านกฎหมายเห็นว่า ศาลยุติธรรมเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยควรมีความยึดโยงกับประชาชน จึงกำหนดให้วุฒิสภาสรรหาบุคคลที่เหมาะสม 2 คน ร่วมเป็น ก.ต.จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 ก็ใช้หลักการเดิมมาถึงปัจจุบันโดยไม่เคยมีปัญหาอะไร ส่วนที่อ้างว่าเพื่อให้องค์ประกอบ ก.ต.ของศาลยุติธรรมเหมือนกับ คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง หรือ ก.ศ.ป.ของศาลปกครอง นั้นผมเห็นว่าองค์ประกอบของทั้งสองศาลแตกต่างกัน เนื่องจากในการก่อตั้งศาลปกครอง ได้นำแบบอย่างมาจากต่างประเทศ โดยยินยอมให้ตัวแทนของค.ร.ม.เข้ามาเป็น ก.ศ.ป. แต่ในส่วนของ ก.ต.ศาลยุติธรรมเห็นว่าไม่ควรเพิ่มสัดส่วน ก.ต.จากคนนอกที่มาจากฝ่ายรัฐบาล” นายศรีอัมพรกล่าว
ด้านนายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา หนึ่งในผู้ร่วมลงนามจดหมายปิดผนึก กล่าวว่า ศาลยุติธรรมแยกออกมาจากกระทรวงยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็เพื่อไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองใช้อำนาจก้าวก่ายแทรกแซงความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี แล้วเหตุใดจึงคิดเพิ่มตัวแทนนักการเมืองให้เข้ามามีบทบาทในการแต่งตั้งโยกย้ายและลงโทษผู้พิพากษา อย่างนี้เรียกว่าปรับเปลี่ยนเพื่อให้นักการเมืองมีโอกาสแทรกแซงศาลมากขึ้น เป็นการลดทอนความเป็นอิสระของศาลในการที่จะไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ถือว่าเป็นการปฎิรูปแบบถอยหลังเข้าคลอง แม้รัฐบาลชุดนี้สุจริตใจไม่ได้คิดแทรกแซงศาล ซึ่ง ก.ต.ที่มาจากการสรรหาของวุฒิสภา 2 คน ที่มีอยู่เดิมก็มากเกินพอแล้ว เพราะขนาดนายเมธี ครองแก้ว ปัจจุบันเป็น ก.ต.สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจากคนนอก ก็ยังมีความเห็นว่าสัดส่วน ก.ต.จากคนนอกแค่ 2 คนนั้นมีความเหมาะสมเพียงพอแล้ว
นายสมชาติกล่าวอีกว่า มีข้อสังเกตว่าตามร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มี ก.ต.มาจากบุคคลภายนอกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ก.ต.ที่เป็นผู้พิพากษานั้น ทำให้สงสัยว่ามีคนต้องการให้ฝ่ายการเมืองมีโอกาสเข้ามาแทรกแซงศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะคำว่าไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 นั้น ย่อมหมายถึงว่าจะให้มี ก.ต.จากภายนอกมากว่าครึ่งหนึ่งของ ก.ต.ทั้งหมดก็ได้ จึงอยากทราบว่าถ้อยคำที่ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 นั้น เป็นความคิดริเริ่มของกรรมาธิการยกร่างฯ ท่านใด และเหตุใดกรรมาธิการยกร่างฯ ท่านอื่นจึงไม่ทักท้วง ถ้าผู้พิพากษาเป็นเช่นเดียวกับข้าราชการฝ่ายอื่นที่ต้องฟังคำสั่งนักการเมืองแล้ว ประชาชนซึ่งมีคดีความในศาลจะได้รับความเป็นธรรมได้อย่างไร
“ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรมี ก.ต.ที่มาจากฝ่ายการเมืองเลยด้วยซ้ำไป เพื่อที่ศาลจะปลอดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง และสามารให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนโดยไม่ต้องมีใครมากดดัน และวุฒิสภาบางยุคบางสมัยก็ไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง ยิ่งเพิ่มตัวแทนฝ่ายการเมืองเข้ามาใน ก.ต. เท่าไหร่ก็เสี่ยงต่อการแทรกแซงศาลมากขึ้นเท่านั้น การที่กรรมาธิการยกร่างในเรื่องก.ต.เช่นนี้ มองว่าเป็นการดิสเครดิตของศาลของยุติธรรมหรือไม่ เพราะเมื่อมีการเสนอให้มีสัดส่วน ก.ต.ที่มาจาก ครม. 1 คน แล้วก็ยังมีแนวคิดเสนอให้สามารถอุทธรณ์คำสั่งลงโทษของ ก.ต.ต่อศาลฎีกาได้อีก ซึ่งผู้พิพากษาที่ถูก ก.ต.ลงโทษ ก็ไม่เคยเรียกที่จะอุทธรณ์คำสั่ง เพราะผู้พิพากษาทราบดีกว่า ก.ต.เป็นองค์กรบริหารสูงสุดของศาล ที่มีประธานศาลฎีกานั่งเป็นประธานก.ต.อยู่แล้ว” นายสมชาติกล่าว
สำหรับผู้พิพากษาที่ร่วมลงชื่อท้ายหนังสือปิดผนึกนั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 1,380 คน แยกเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา 203 คน ศาลอุทธรณ์และอุทธรณ์ภาค 506 คน ศาลชั้นต้น 671 คน โดยมีผู้บริหารระดับสูงทั้ง 3 ชั้นศาล เช่น รองประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์และประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอื่นๆ อธิบดีผู้พิพากษาภาค และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลต่างๆ
เมื่อถามว่า หากคณะกรรมาธิการยกร่างยังยืนยันตามความเห็นเดิมที่จะให้มีสัดส่วนคนนอกเพิ่มเข้ามาใน ก.ต.จะทำให้เกิดวิกฤติตุลาการหรือไม่ นายศรีอัมพรกล่าวว่า วิกฤตจะเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายการเมืองเข้ามาใช้อิทธิพลแทรกแซงการแต่งตั้ง อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องอยู่ภายในรัฐธรรมนูญ ถ้าหากรัฐธรรมนูญออกแบบมาไม่ดี ทำให้เกิดผลเสีย เราก็ต้องออกมาบอกประชาชน ซึ่งขณะนี้เราก็ไม่ว่าทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะแปรญัตติสัดส่วน ก.ต.ออกมาอย่างไร โดยผู้พิพากษาที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่ใช่เพื่อต้องการล้มรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่เรื่องการเมืองแต่เป็นเพียงเสียงสะท้อนให้รัฐธรรมนูญออกมาเป็นฉบับที่ดี เพื่อให้เป็นธรรมและที่พึ่งแก่ประชาชนได้
เมื่อถามว่า หากคณะกรรมาธิการยกร่างแปรญัตติให้เพิ่มสัดส่วน ก.ต.คนนอกที่มาจาก ครม.เพียง 1 คนก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับเสียงข้างมากใน ก.ต.ใช่หรือไม่ นายศรีอัมพร กล่าวว่า หากยอมให้คนนอกเข้ามาได้ 1 เสียง ต่อไปก็ต้องมีเพิ่มเป็น 2-3 เสียง อะไรก็ตามที่เสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงเราก็ไม่เห็นด้วย สัดส่วน 2 คนที่มาจากวุฒิสภาก็เพียงพอแล้วและควรจะไปปฏิรูปหน่วยงานยุติธรรมอื่นที่มีปัญหามากกว่าจะมาปฏิรูปศาลยุติธรรมที่ไม่ได้มีปัญหาอะไร