ผ่าประเด็นร้อน
ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย สำหรับการสอบสวน “หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล” ประธานศาลปกครองสูงสุด กรณีจดหมายน้อยสนับสนุนตำรวจ ที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 58 แต่จวบจนถึงวันนี้ กินเวลามากกว่า 2 เดือนแล้ว ยังไม่มีทีท่าว่า จะเริ่มพิจารณาสอบสวน “หัสวุฒิ” เสียที
จึงมีเครื่องหมายคำถามเกิดขึ้นกับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยมติของ คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เหตุเพราะระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองผู้ถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. 2544 ก็กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องสอบสวนให้เสร็จโดยเร็วภายใน 30 วัน หากไม่ทัน และมีเหตุผลก็ให้ขยายอีก 30 วัน รวมเบ็ดเสร็จคือไม่เกิน 60 วัน นับนิ้วดูก็พบว่าเกินเวลาตามที่กำหนดไว้นานแล้ว
เมื่อคณะกรรมการไม่เริ่มสอบสวน หรือมีผลสรุปออกมาทางใดทางหนึ่ง ก็หนีไม่พ้นที่จะถูกตั้งข้อสงสัยถึงสาเหตุที่ไม่ทำหน้าที่ค้นหาความจริงให้ปรากฏแก่สังคมเสียที ทั้งที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทบกับภาพลักษณ์ “ศาลปกครอง” และตัวของ “หัสวุฒิ” เอง ที่ได้รับความเสียหาย และถูกครหาจากสังคม จากข้อกล่าวหาที่ ก.ศป. ได้ตั้งขึ้น
ก่อนหน้านั้น ก.ศป. ก็ได้มีมติเสียงข้างมาก สั่งพักราชการ “หัสวุฒิ” จากกรณีจดหมายน้อยสนับสนุนตำรวจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ “ช็อก” สถาบันตุลาการทั่วประเทศ เพราะ “หัสวุฒิ” เป็นประธานศาลคนแรกของประเทศ ที่ถูกสั่งพักราชการ
ที่สำคัญ ผลการสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะมีการสั่งพักราชการ และตั้งคณะกรรมการสอบสวนนั้น ก็ปรากฏว่า “ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม” เลขาธิการศาลปกครอง ซึ่งมีชื่อเกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าว ก็ระบุชัดว่า “หัสวุฒิ” ไม่ได้เกี่ยวข้องในการจัดทำจดหมายน้อยแต่อย่างใด มิหนำซ้ำผลการสอบข้อเท็จจริงก็ยังระบุชัดว่าไม่มีมูลว่า “หัสวุฒิ” เป็นผู้สั่งการให้ทำ
แต่ ก.ศป. ก็ยังมีมติพักราชการ และให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ในขณะเดียวกัน “ดิเรกฤทธิ์” ก็ได้รับการลงโทษไปแล้ว
จึงชวนให้สงสัยถึงสาเหตุที่ ก.ศป. พยายามเอาเรื่องกับ “หัสวุฒิ” อีก ทั้งที่บรรทัดฐานการพักราชการผู้พิพากษา/ตุลาการ หรือแม้กระทั่งข้าราชการ ก็ล้วนแต่ต้องเป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการกรณีทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือ ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา ซึ่งถือเป็นข้อกล่าวหาที่มีความรุนแรง เทียบเคียงไม่ได้ข้อกล่าวหาเรื่อง “จดหมายน้อย” ที่กระทั่งผู้บริหาร
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ก็ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า การมีหนังสือสนับสนุนข้าราชการตำรวจนั้น เป็นเพียงการให้มูลประกอบการพิจารณา ส่วนการตัดสินใจ เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจตามกฎหมาย และได้มีการให้ข้อมูลต่อผู้บังคับบัญชาเช่นนี้ทั้งจากภายในองค์กรตำรวจเอง และจากภายนอกตลอดมา
พูดได้ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของประธานศาลปกครองสูงสุดแต่อย่างใด จึงไม่แปลกที่คนในแวดวงตุลาการ จะมองว่า การสั่งพักราชการ “หัสวุฒิ” ไม่เป็นธรรม และเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมายเลยทีเดียว
แต่เมื่อ ก.ศป. มีมติออกมา “หัสวุฒิ” เองก็มีสปิริตพอที่จะยอมรับมติต่างๆ แต่กลับยิ่งทำให้รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมซ้ำเติมไปอีก เมื่อคณะกรรมการสอบสวนมีพฤติกรรมที่มองได้ว่าพยายาม “ยื้อเวลา” ไม่เร่งดำเนินการตามระยะเวลาที่ระเบียบของ ก.ศป. กำหนดไว้
เมื่อเชื่อมโยงของเรื่องราวต่างๆ และเจตนาพิเศษของ ก.ศป. เสียงข้างมาก ในหลายมิติ จึงเห็นเหตุให้ “หัสวุฒิ” ฟ้องคดีอาญามาตรา 157 ต่อ “ชาญชัย แสวงศักดิ์” ประธานคณะกรรมการสอบสวน และ “วิษณุ วรัญญู” เลขานุการคณะกรรมการสอบสวน ฐานไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่ดำเนินการนัดประชุม เพื่อพิจารณาสอบสวนตามที่ได้รับมอบหมาย แต่กลับยื่นเรื่องคัดค้าน “ธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์” กรรมการสอบสวนผู้แทนจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ถึง 2 ครั้ง ทั้งที่ไม่มีเหตุผลเพียงพอ ซึ่ง ก.พ. เองก็ยืนยันส่งชื่อ “ธีรยุทธ์” เช่นเดิม ทั้ง 2 ครั้ง
ทำให้ถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ผิดมารยาท และไม่ให้เกียรติ ก.พ. เป็นอย่างยิ่ง
มีการวิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของคณะกรรมการสอบสวน ทั้งกลัว “ความจริง” จะปรากฏ หากทำการสอบสวนและสรุปผลออกมา และกลัวการที่ “ธีรยุทธ์” จะมานั่งเป็นกรรมการสอบสวน ที่อาจทำให้เกิดความได้เปรียบ-เสียปรียบ ในเรื่องเสียงของการลงมติภายในคณะกรรมการสอบสวนที่มีอยู่ 5 คน
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในศาลปกครองว่า เมื่อคัดค้าน “ธีรยุทธ์” ไม่สำเร็จ จึงต้องถ่วงเวลาเพื่อรอให้ “ไพบูลย์ เสียงก้อง” ซึ่งเป็นกรรมการสอบสวนด้วยนั้น เกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย.นี้เสียก่อน เพื่อความได้เปรียบหากถึงเวลาที่ต้องลงมติ
สะท้อนให้เห็นว่า ก.ศป. หรือกระทั่งคณะกรรมการสอบสวน ไม่มั่นใจในพยานหลักฐาน จึงมุ่งไปที่คะแนนโหวต มากกว่าที่จะพิจารณาเนื้อหาในสำนวนว่า “หัสวุฒิ” มีความเกี่ยวข้อง หรือมีความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่
เมื่อความยุติธรรมไม่เกิดขึ้นโดยเร็ว ก็กลายเป็นความ “อยุติธรรม” โดยปริยาย ทั้งยังถูกมองขยายผลไปถึงเกมช่วงชิงอำนาจภายในศาลปกครอง ที่มี “บางฝ่าย” พยายามทุกวิถีทางให้การสกัดไม่ให้ “หัสวุฒิ” ได้กลับมาทำหน้าที่ประธานศาลปกครองสูงสุดตามเดิม และต้องการให้ปลดออกไป เพื่อที่ฝ่ายของตัวเองจะได้เข้าสู่อำนาจแทน
เป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นในองค์กรที่เป็นผู้อำนวยความยุติธรรมให้แก่สังคม เพราะขนาดคนในองค์กรเองก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ซ้ำร้าย ยังเชื่อมโยงเกี่ยวกับความอยากได้ใคร่มี ในอำนาจยศศักดิ์ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นกับคนที่ได้ชื่อว่าเป็น “ตุลาการ” ด้วยซ้ำ
เรื่องนี้สังคมต้องการคำตอบ และไม่ควรคงปล่อยผ่านไป เพราะศาลปกครอง คือ องค์กรที่ทำหน้าที่ให้ความยุติธรรมในการพิจารณาคดีปกครองแก่ประชาชน แต่ถ้าภายในองค์กรเองยังปราศจากซึ่งความยุติธรรมแล้ว จะทำหน้าที่ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนอย่างสง่างามต่อไปได้อย่างไร
ก.ศป. และคณะกรรมการสอบสวน ต้องทำหน้าที่ให้เกิดความกระจ่าง การยื้อเวลาเหมือนที่ผ่านมาย่อมไม่เป็นผลดีกับ “ศาลปกครอง” เอง สุดท้ายอาจหนีไม่พ้น “วิกฤตการณ์” ที่กัดกร่อนความน่าเชื่อถือ “องค์กรตุลาการ” ในที่สุด