xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เกมชิงอำนาจศาลปกครอง “คนใน”เผาบ้านตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -อลวนอลเวงจนเดาตอนจบของท้องเรื่องไม่ได้ สำหรับปมปัญหาที่เกิดขึ้นภายใน“ศาลปกครองสูงสุด” นับตั้งแต่มีการตั้งเรื่องสอบสวนและสั่งพักราชการ "หัสวุฒิ วิทิตวิริยกุล" ประธานศาลปกครองสูงสุด ไปตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเวลาล่วงเลยมากว่า 3 เดือนก็ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน

โดยเฉพาะตำแหน่งของ “หัสวุฒิ”ที่วันนี้ถูกแขวนไว้โดยการพักราชการ และเป็น "ปิยะ ปะตังทา" รองประธานศาลปกครองสูงสุด คนที่ 1 ที่นั่งปฏิบัติหน้าที่ประธานศาลปกครองสูงสุดแทน

ล่าสุด “หัสวุฒิ”ได้ฟ้องคดีอาญาต่อ“ชาญชัย แสวงศักดิ์ - วิษณุ วรัญญู”ซึ่งเป็น 2 ใน 5 ของคณะกรรมการสอบสวน “หัสวุฒิ”ที่คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) มีมติตั้งขึ้น ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้อง จนเป็นข่าวครึกโครมไปเมื่อไม่กี่วันก่อน

เหตุที่“หัสวุฒิ”ต้องหันมาพึ่งกระบวนการยุติธรรมเองนั้น ก็เนื่องจากมองว่าคณะกรรมการสอบสวนฯ พยายามยื้อเวลา ไม่ทำการสอบสวนให้สิ้นกระบวนความ ทั้งที่ได้รับมอบหมายมานานกว่า 2 เดือน ส่งผลให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้กระทำผิดไปเรื่อยๆ และเหมือนพยายามปิดโอกาสในการกลับมาทำหน้าที่ประธานศาลปกครองสูงสุด 

ซึ่งตรงกับคำกล่าวที่ว่า "ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม" นั่นเอง

ที่สำคัญการพักราชการ และตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ในครั้งนี้นั้น ก.ศป.ได้อาศัยอำนาจตาม มาตรา 24 ของพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และระเบียบของ กศ.ป.เอง ซึ่งในระเบียบที่ว่านั้น ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ให้คณะกรรมการสอบสวนฯ ดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว แต่ไม่เกิน 30 วัน นับแต่ที่ได้รับแต่งตั้งจาก ก.ศป. หากมีความจำเป็นไม่อาจสอบสวนได้เสร็จ ให้ขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 วัน บวกลบคูณหารแล้วก็ไม่เกิน 60 วัน ที่คณะกรรมการสอบสวนฯ ต้องทำงานให้เสร็จ

แต่นับจาก วันที่ 31 มี.ค.58 จนถึงเวลานี้ก็กินเวลามากกว่า 60 วัน ก็ยังไม่มีทีท่าว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ จะดำเนินการใดๆ กระทั่งการประชุมเพื่อกำหนดแนวทาง ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะจัดขึ้นได้ จึงถูกมองเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมาย และระเบียบของ ก.ศป.เอง

ในความเป็นจริง การสอบสวน"หัสวุฒิ" เกี่ยวกับปม“จดหมายน้อย”นั้น ไม่น่าจะใช้เวลาสอบสวนนากมากนัก เพราะที่ผ่านมา ก็มีการสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้น เป็นที่มาของการพักราชการ “หัสวุฒิ”อยู่แล้ว เรียกได้ว่าตั้งแต่มี “คนปล่อยข่าว”จน “เรื่องแดง”ขึ้นมา ก็มีกระบวนการรับลูกกันมาเป็นทอดๆ 

"คนในศาลปกครอง" มองว่า ภายในคณะกรรมการสอบสวนฯ ที่ตั้งขึ้น ซึ่งมี"ชาญชัย"นั่งเป็นประธาน และมี"วิษณุ" เป็นกรรมการ และเลขาฯนั้น กลับไม่มั่นใจใน พยาน-หลักฐาน รวมทั้งน้ำหนักของความผิดที่เกิดขึ้น จึงไม่เดินหน้าสอบสวนอย่างเป็นกิจลักษณะเสียที

เหมือนกังวลใจในเรื่องของเสียงโหวตภายในคณะกรรมการฯ 5 คน มากกว่า

จึงเป็นต้นตอของการทำหนังสือไปถึงก.พ.ให้ทบทวนการส่ง “ธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์”ร่วมเป็นกรรมการสอบฯ โดยอ้างว่า มีความใกล้ชิดกับ“หัสวุฒิ”ทั้งที่ผิดมารยาทระหว่างองค์กรอย่างชัดเจน และยังเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายอีกด้วย สุดท้ายก.พ.ก็ยืนยันให้ “ธีรยุทธ์”มาเป็นตามเดิม

“คนในศาลปกครอง”ยังวิเคราะห์ข้ามช็อตไปอีกว่า การที่“ชาญชัย”ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่เร่งสรุปเรื่องนี้ เพราะจะรอเวลาให้ "ไพบูลย์ เสียงก้อง" ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ซึ่งร่วมเป็นกรรมการสอบสวนฯ เกษียณอายุราชการในเดือนก.ย.นี้เสียก่อน เพราะภาพลักษณ์ของ “ไพบูลย์”ถูกมองว่าเดินทางสายกลางมาโดยตลอด หากได้รับฟังพยาน-หลักฐานต่างๆ แล้วอาจมีความเห็นว่า“หัสวุฒิ”ไม่ผิดได้

ขณะที่ "วรพจน์ วิศรุตพิชญ์" ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ที่เป็นคณะกรรมการสอบสวนฯ อีกราย ก็เคยมีความเห็นในทำนองไม่เห็นด้วยกับการนำประเด็นเรื่อง “จดหมายน้อย”ขึ้นมา จนทำให้เกิดความขัดแย้งภายในองค์กร

เท่ากับว่ามี 3 เสียง ในคณะกรรมการสอบสวนฯ ทั้ง"ไพบูลย์ - วรพจน์" รวมไปถึง"ธีรยุทธ์" ตัวแทนจากก.พ. ที่มีแนวโน้มว่า อาจลงมติว่า "หัสวุฒิ"ไม่มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา

ตรงนี้เอง ที่ถูกมองว่าเป็น“เกมถ่วงเวลา”เพื่อความได้เปรียบเรื่องเสียงโหวตในคณะกรรมการ โดยไม่สนใจว่า เวลาที่ล่วงเลยไป จะขัดระเบียบ ก.ศป.หรือไม่ อย่างไร ขณะที่ฝ่าย “หัสวุฒิ”เองก็เลือกที่จะนิ่งอยู่ในที่ตั้ง เพื่อรอผลสอบสวน ผิดถูกอย่างไรก็ว่ากันไป แต่เมื่อมีแนวโน้มที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่เริ่มแรก จึงจำเป็นออกมากระทุ้ง โดยการฟ้องต่อศาลอาญา
 
ความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น ทำให้สังคมไม่ได้มองเป็นเรื่องของการสอบสวน“ประธานศาลปกครองสูงสุด”เท่านั้น แต่เป็นเรื่องการเมืองภายในศาลปกครองมากกว่า ไม่ผิดนักหากเสียงวิพากษ์วิจารณ์การสอบสวน“หัสวุฒิ”จะถูกขยายความจากความผิดส่วนบุคคลเป็น“เกมหักเหลี่ยมชิงอำนาจ”ภายในศาลปกครองเอง

เพราะประเด็นที่นำมาสู่การสอบสวน“หัสวุฒิ”นั้น หากมองผิวเผิน ย่อมไม่ถูกต้องเหมาะสม แต่หากลงลึกไปในรายละเอียดแล้ว“หัสวุฒิ” มีส่วนกับการกระทำความผิดนั้นหรือไม่ คือสิ่งที่สังคมต้องการคำตอบ อีกทั้งยังมีความพยายามปล่อยข่าวอย่างต่อเนื่องด้วยว่า นอกเหนือจากปม “จดหมายน้อย”แล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นที่มีชื่อ “หัสวุฒิ”เข้าไปเกี่ยวข้อง และมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นปลีกย่อยที่ต้องการบั่นทอนความน่าเชื่อถือของประธานศาลปกครองสูงสุดมากกว่า

เมื่อเป็นแบบนี้ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรที่ขึ้นชื่อว่า ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมต้องมัวหมอง ยิ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป “ความศักดิ์สิทธิ์”ขององค์กรตุลาการแห่งนี้ ก็ยิ่งจะเสียหายหนักขึ้น ขณะเดียวกัน ก็กลายเป็นความขัดแย้งแตกแยกภายใน จนยากที่จะประสานกันได้ สุดท้ายต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องเดินออกไป ส่วนจะเป็นฝ่ายไหนต้องติดตามแบบตาไม่กระพริบ 

ต้องไม่ลืมว่า “ศาลปกครอง”ถือเป็นเป้าหนึ่งที่ “ฝ่ายการเมือง”พยายามหาช่องทางให้ยุบทิ้ง เพื่อไปเป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกาเท่านั้น เมื่อ“คนใน”สนใจแต่การแก่งแย่งชิงอำนาจ โดยไม่สนใจถึง“ความศักดิ์สิทธิ์”ของตัวองค์กรเองแล้วก็เหมือนเป็นการสุมไฟเผาบ้านตัวเอง โดยไม่ต้องรอให้“ฝ่ายการเมือง”กลับมาทำลายด้วยซ้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น