“หัสวุฒิ” ชิ่งหนีสื่อ หลังถูกรุกถามปัญหาจดหมายน้อย ด้านโฆษกศาลฯ อ้างอยู่ระหว่างการสอบสวนของ ก.ศป. ไม่ควรแทรกแซง เชื่อแล้วเสร็จแจงสาธารณะได้ พร้อมยันเกณฑ์ตุลาการเกษียณ 65 ปี ไม่เหมาะกับตุลาการศาลปกครอง เผยปี 57 สางคดีแล้วเสร็จ 8,455 คดี พบปัญหาการบริหารงานบุคคล โดยกระทรวงมหาดไทยยังครองแชมป์คดีและหน่วยงานที่ถูกร้องมากสุด
วันนี้ (6 มี.ค.) นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด พร้อมด้วย นายไพโรจน์ มินเด็น โฆษกศาลปกครอง และนายวชิระ ชอบแต่ง รองโฆษกศาลปกครอง ร่วมแถลงข่าว ผลการดำเนินงานของศาลปกครอง เนื่องในโอกาสครบรอบ 14 ปี
นายหัสวุฒิกล่าวว่า นับแต่ศาลปกครองเปิดทำการ ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 2544 จนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2558 มีคดีเข้าสู่ศาลทั้งสิ้น 104,673 คดี ในปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา มีคดีเข้าสู่กระบวนวิธีพิจารณาคดี ทั้งสิ้น 8,949 คดี เป็นคดีของศาลปกครองสูงสุด จำนวน 2,576 คดี และเป็นคดีของศาลปกครองชั้นต้น อีก 6,373 คดี โดยมีคดีที่พิจารณาแล้วเสร็จ จำนวน 8,455 คดี
ส่วนแผนกคดีบริหารงานบุคคล ที่ศาลเปิดขึ้นใหม่เมื่อ 10 มี.ค. 2557 รวมระยะเวลา 10 เดือน พบว่ามีคดีเข้าสู่การพิจารณาแล้ว 1,219 คดี แยกเป็นรับเข้าศาลปกครองสูงสุด 402 คดี ศาลปกครองชั้นต้น 817 คดี และพิจารณาคดีได้แล้วเสร็จ 355 คดี
อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจคดีปกครองที่มีการยื่นฟ้องต่อศาลมากที่สุดนับแต่เปิดทำการศาลปกครอง พบว่าเป็นเรื่องของการบริหารงานบุคคลและวินัย 17,769 คดี การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ละเมิด รับผิดอย่างอื่น 14,068 คดี และการควบคุมอาคารทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 13,313 คดี โดยหน่วยงานที่ถูกฟ้องคดีมากสุด ยังคงเป็นกระทรวงมหาดไทย 19,943 คดี กระทรวงคมนาคม 12,490 คดีและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 10,676 คดี
ด้านนายไพโรจน์กล่าวกรณีร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม หรือ กตธ. ขึ้นมาพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ถ้ามีถือว่าเป็นเรื่องดีที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย จะได้ไม่ต้องมีการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะทำได้จริงหรือไม่
ส่วนกรณีในการยกร่างรัฐธรรมนูญมีการแก้ไขให้ตุลาการในศาลยุติธรรมรวมถึงตุลาการศาลปกครอง เกษียณอายุราชการเมื่อมีอายุ 65 ปีนั้น นายไพโรจน์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดมีมติไม่เห็นด้วย โดยทางศาลเห็นว่าคุณสมบัติของตุลาการศาลปกครอง จะแตกต่างจากตุลาการในศาลยุติธรรม โดยผู้ที่จะดำรงตำแหน่งในศาลปกครองชั้นต้นนอกจากจะมีอายุไม่น้อยกว่า 35 ปีแล้ว ยังต้องเคยดำรงตำแหน่งในหน่วยราชการในระดับ 8 มาไม่น้อยกว่า 3 ปี ทำให้ผู้ที่จะสอบเข้าเป็นตุลาการศาลชั้นต้นจะมีอายุไม่น้อยกว่า 40 ปีขึ้นไปทั้งนั้น ระยะเวลาในการที่จะสร้างความเชี่ยวชาญ จนมีความชำนาญในการพิจารณาคดีก็จะเหลือน้อย ฉะนั้นการกำหนดว่าให้เกษียณอายุ 65 ปีแต่ยังให้ไปเป็นตุลาการอาวุโสได้เหมือนศาลยุติธรรมคงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับตุลาการศาลปกครอง เช่นเดียวกับตุลาการศาลปกครองสูงสุด ถ้าประกาศรับจากบุคคลภายนอกเลยส่วนใหญ่ก็จะเป็นบุคคลที่มีอายุไม่น้อยกว่า 60 ปี เข้ามาแล้วก็จะเหลือระยะเวลาทำงานน้อย
ผู้สื่อข่าวถามว่า การสอบเรื่องจดหมายน้อยที่เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองและประธานศาลปกครองสูงสุดมีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องในการสนับสนุนตำรวจมีความคืบหน้าอย่างไร นายไพโรจน์พยายามหลีกเลี่ยงที่จะตอบ โดยระบุว่าตนก็ไม่รู้เรื่อง ทราบว่าสื่อสนใจเรื่องนี้ แต่มันเป็นเรื่องที่มีผลกระทบหลายอย่าง และเรื่องดังกล่าวคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) กำลังพิจารณาอยู่ ก็ไม่ทราบว่าก่อนหน้านี้มีการเผยแพร่ไปได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องลับ เป็นเรื่องภายในที่ไม่ควรจะมีการเผยแพร่ และในเมื่อขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาตามขั้นตอน ก็ควรให้ ก.ศป. พิจารณาอย่างเต็มที่ไม่ควรมีอะไรไปแทรกแซง ซึ่งคิดว่าคงไม่นานหากเรื่องแล้วเสร็จก็เชื่อว่าน่าจะมีการชี้แจงให้ทราบได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวครั้งนี้แม้นายหัสวุฒิจะมาแถลงข่าวด้วยตนเอง แต่เมื่อแถลงถึงผลการดำเนินงานของศาลปกครองแล้วเสร็จก็ได้ลุกจากโต๊ะแถลงข่าวทันที โดยไม่ยอมที่จะตอบคำถามของผู้สื่อข่าวที่พยายามจะสอบถามถึงกระแสข่าวที่ว่า ก.ศป.มีมติว่านายหัสวุฒิกระทำผิดในกรณีจดหมายน้อย โดยนายหัสวุฒิได้ชี้นิ้วบอกในทำนองให้สอบถามจากโฆษกที่นั่งรอตอบคำถามผู้สื่อข่าวอยู่ และเมื่อผู้สื่อข่าวพยายามเดินตามเพื่อที่จะไปถามนายหัสวุฒิก็ถูกกันจากเจ้าหน้าที่ของศาลไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าถึงตัวนายหัสวุฒิ
อย่างไรก็ตาม การออกมาแถลงข่าวของนายหัสวุฒิครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดปัญหาเรื่องจดหมายน้อย และพบว่านายหัสวุฒิมีร่ายกายที่ซูบผอมกว่าเดิมมากเหมือนมีปัญหาสุขภาพ