xs
xsm
sm
md
lg

ดึงสอบปธ.ศาลปกครอง วิกฤต "องค์กรตุลาการ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย สำหรับการสอบสวน“หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล”ประธานศาลปกครองสูงสุด กรณีจดหมายน้อยสนับสนุนตำรวจ ที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 58 แต่จวบจนถึงวันนี้ กินเวลามากกว่า 2 เดือนแล้ว ยังไม่มีทีท่าว่า จะเริ่มพิจารณาสอบสวน “หัสวุฒิ”เสียที
จึงมีเครื่องหมายคำถามเกิดขึ้นกับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นโดยมติของ คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เหตุเพราะระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองผู้ถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. 2544 ก็กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องสอบสวนให้เสร็จโดยเร็วภายใน 30 วัน หากไม่ทัน และมีเหตุผลก็ให้ขยายอีก 30 วัน รวมเบ็ดเสร็จคือไม่เกิน 60 วัน นับนิ้วดูก็พบว่าเกินเวลาตามที่กำหนดไว้นานแล้ว
เมื่อคณะกรรมการฯไม่เริ่มสอบสวน หรือมีผลสรุปออกมาทางใดทางหนึ่ง ก็หนีไม่พ้นที่จะถูกตั้งข้อสงสัยถึงสาเหตุที่ไม่ทำหน้าที่ค้นหาความจริงให้ปรากฏแก่สังคมเสียที ทั้งที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทบกับภาพลักษณ์“ศาลปกครอง”และตัวของ “หัสวุฒิ”เอง ที่ได้รับความเสียหาย และถูกครหาจากสังคม จากข้อกล่าวหาที่ ก.ศป.ได้ตั้งขึ้น
ก่อนหน้านั้น ก.ศป.ก็ได้มีมติเสียงข้างมาก สั่งพักราชการ“หัสวุฒิ”จากกรณีจดหมายน้อยสนับสนุนตำรวจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ “ช็อค” สถาบันตุลาการทั่วประเทศ เพราะ “หัสวุฒิ”เป็นประธานศาลคนแรกของประเทศ ที่ถูกสั่งพักราชการ
ที่สำคัญผลการสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะมีการสั่งพักราชการ และตั้งคณะกรรมการสอบสวนนั้น ก็ปรากฏว่า “ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม” เลขาธิการศาลปกครอง ซึ่งมีชื่อเกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าว ก็ระบุชัดว่า“หัสวุฒิ”ไม่ได้เกี่ยวข้องในการจัดทำจดหมายน้อยแต่อย่างใด มิหนำซ้ำผลการสอบข้อเท็จจริงก็ยังระบุชัดว่าไม่มีมูลว่า “หัสวุฒิ”เป็นผู้สั่งการให้ทำ
แต่ ก.ศป.ก็ยังมีมติพักราชการ และให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ในขณะเดียวกัน “ดิเรกฤทธิ์”ก็ได้รับการลงโทษไปแล้ว
จึงชวนให้สงสัยถึงสาเหตุที่ ก.ศป. พยายามเอาเรื่องกับ“หัสวุฒิ”อีก ทั้งที่บรรทัดฐานการพักราชการผู้พิพากษา/ตุลาการ หรือแม้กระทั่งข้าราชการ ก็ล้วนแต่ต้องเป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการกรณีทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือ ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา ซึ่งถือเป็นข้อกล่าวหาที่มีความรุนแรง เทียบเคียงไม่ได้ข้อกล่าวหาเรื่อง“จดหมายน้อย”ที่กระทั่งผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ก็ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า การมีหนังสือสนับสนุนข้าราชการตำรวจนั้น เป็นเพียงการให้มูลประกอบการพิจารณา ส่วนการตัดสินใจ เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจตามกฎหมาย และได้มีการให้ข้อมูลต่อผู้บังคับบัญชาเช่นนี้ทั้งจากภายในองค์กรตำรวจเอง และจากภายนอกตลอดมา
พูดได้ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของประธานศาลปกครองสูงสุดแต่อย่างใด จึงไม่แปลกที่คนในแวดวงตุลาการ จะมองว่า การสั่งพักราชการ“หัสวุฒิ”ไม่เป็นธรรม และเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมายเลยทีเดียว
แต่เมื่อ ก.ศป.มีมติออกมา “หัสวุฒิ”เองก็มีสปิริตพอที่จะยอมรับมติต่างๆ แต่กลับยิ่งทำให้รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมซ้ำเติมไปอีก เมื่อคณะกรรมการสอบสวนมีพฤติกรรมที่มองได้ว่าพยายาม “ยื้อเวลา”ไม่เร่งดำเนินการตามระยะเวลาที่ระเบียบของ ก.ศป. กำหนดไว้
เมื่อเชื่อมโยงของเรื่องราวต่างๆ และเจตนาพิเศษของ ก.ศป. เสียงข้างมาก ในหลายมิติ จึงเห็นเหตุให้ “หัสวุฒิ”ฟ้องคดีอาญามาตรา 157 ต่อ “ชาญชัย แสวงศักดิ์”ประธานคณะกรรมการสอบสวน และ “วิษณุ วรัญญู”เลขานุการคณะกรรมการสอบสวน ฐานไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่ดำเนินการนัดประชุม เพื่อพิจารณาสอบสวนตามที่ได้รับมอบหมาย แต่กลับยื่นเรื่องคัดค้าน“ธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์” กรรมการสอบสวนผู้แทนจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ถึง 2 ครั้ง ทั้งที่ไม่มีเหตุผลเพียงพอ ซึ่ง ก.พ.เองก็ยืนยันส่งชื่อ “ธีรยุทธ์”เช่นเดิม ทั้ง 2 ครั้ง
ทำให้ถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ผิดมารยาท และไม่ให้เกียรติ ก.พ.เป็นอย่างยิ่ง
มีการวิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของคณะกรรมการสอบสวน ทั้งกลัว “ความจริง”จะปรากฏ หากทำการสอบสวนและสรุปผลออกมา และกลัวการที่ “ธีรยุทธ์”จะมานั่งเป็นกรรมการสอบสวน ที่อาจทำให้เกิดความได้เปรียบ-เสียปรียบ ในเรื่องเสียงของการลงมติภายในคณะกรรมการสอบสวนที่มีอยู่ 5 คน
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในศาลปกครองว่า เมื่อคัดค้าน “ธีรยุทธ์”ไม่สำเร็จ จึงต้องถ่วงเวลาเพื่อรอให้ “ไพบูลย์ เสียงก้อง” ซึ่งเป็นกรรมการสอบสวนด้วยนั้น เกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย.นี้เสียก่อน เพื่อความได้เปรียบหากถึงเวลาที่ต้องลงมติ
สะท้อนให้เห็นว่า ก.ศป. หรือกระทั่งคณะกรรมการสอบสวน ไม่มั่นใจในพยานหลักฐาน จึงมุ่งไปที่คะแนนโหวต มากกว่าที่จะพิจารณาเนื้อหาในสำนวนว่า “หัสวุฒิ”มีความเกี่ยวข้อง หรือมีความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่
เมื่อความยุติธรรมไม่เกิดขึ้นโดยเร็ว ก็กลายเป็นความ “อยุติธรรม”โดยปริยาย ทั้งยังถูกมองขยายผลไปถึงเกมช่วงชิงอำนาจภายในศาลปกครอง ที่มี “บางฝ่าย”พยายามทุกวิถีทางให้การสกัดไม่ให้ “หัสวุฒิ”ได้กลับมาทำหน้าที่ประธานศาลปกครองสูงสุดตามเดิม และต้องการให้ปลดออกไป เพื่อที่ฝ่ายของตัวเองจะได้เข้าสู่อำนาจแทน
เป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นในองค์กรที่เป็นผู้อำนวยความยุติธรรมให้แก่สังคม เพราะขนาดคนในองค์กรเองก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ซ้ำร้าย ยังเชื่อมโยงเกี่ยวกับความอยากได้ใคร่มี ในอำนาจยศศักดิ์ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นกับคนที่ได้ชื่อว่าเป็น “ตุลาการ”ด้วยซ้ำ
เรื่องนี้สังคมต้องการคำตอบ และไม่ควรคงปล่อยผ่านไป เพราะศาลปกครอง คือองค์กรที่ทำหน้าที่ให้ความยุติธรรมในการพิจารณาคดีปกครองแก่ประชาชน แต่ถ้าภายในองค์กรเองยังปราศจากซึ่งความยุติธรรมแล้ว จะทำหน้าที่ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนอย่างสง่างามต่อไปได้อย่างไร
**ก.ศป.และคณะกรรมการสอบสวน ต้องทำหน้าที่ให้เกิดความกระจ่าง การยื้อเวลาเหมือนที่ผ่านมาย่อมไม่เป็นผลดีกับ“ศาลปกครอง” เอง สุดท้ายอาจหนีไม่พ้น"วิกฤตการณ์" ที่กัดกร่อนความน่าเชื่อถือ “องค์กรตุลาการ” ในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น