สปช.ร่วมค้านกับตุลาการศาลยุติธรรม ปม กมธ.ยกร่างฯ เพิ่มสัดส่วนคนนอกเป็น ก.ต. และอุทธรณ์มติได้ หวั่นถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง “เสรี” เผย กมธ.กฎหมาย และ กมธ.การเมือง เสนอให้ตัดทิ้งแล้ว เตือนหากยังดื้ออาจมีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ “อุดม” ฉะยกร่าง กมธ.อย่างฉ้อฉล “ไพบูลย์” ชี้เป็นอันตรายต่อกระบวนการยุติธรรม
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่ากรณีตุลาการศาลยุติธรรม 1,130 คนเข้าชื่อคัดค้านคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้เพิ่มสัดส่วนคนนอกเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เป็น 1 ใน 3 และให้สามารถอุทธรณ์มติของ ก.ต.ได้นั้น กมธ.กฎหมายฯ และ กมธ.การเมือง ได้ร่วมกันเสนอคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ให้ตัดทิ้งทั้ง สัดส่วนคนนอกที่เพิ่มเป็น 1 ใน 3 และการอุทธรณ์มติของ ก.ต. โดยขอปรับแก้ให้กลับไปใช้แบบเดิมเหมือนที่ทำมา เนื่องจากหากกำหนดบทบัญญัติไว้แบบนี้ จะทำให้องค์กรตุลาการขาดความเป็นอิสระ อาจทำให้ถูกแทรกแซงการพิจารณาคดีได้
“การเข้าชื่อของตุลาการศาลยุติธรรมกว่า 1,000 คน เพื่อคัดค้านการร่างรัฐธรรมนูญ ของ กมธ.ยกร่างฯ จะส่งผลต่อการพิจารณาลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอย่างมากแน่นอน กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คนต้องกลับมาทบทวนปัญหาอย่างแท้จริงแล้วว่ามันอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ร่างกันไปแบบคิดเองเออเอง”
ด้านนายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตรองประธานศาลฎีกา และ สมาชิก สปช.กล่าวว่า ตนได้ร่วมเข้าชื่อเสนอตัดเนื้อหาในส่วนนี้ร่วมกับ กมธ.กฎหมายฯ และกมธ.การเมือง แล้ว เพราะเราเห็นว่า กมธ.ยกร่างฯ ไม่มีเหตุผล ที่จะมาเปลี่ยนแปลงเพิ่มสัดส่วนคนนอกของ ก.ต. และกำหนดให้สามารถอุทธรณ์คำสั่งของ ก.ต.ได้ เพราะหลักการเดิมที่วางไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นั้นถือว่าดีอยู่แล้ว การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นไปอย่างฉ้อฉล เขียนกฎหมายปลายเปิด เกิดช่องว่างให้ตีความได้มาก เที่ยวแคะนั่นแคะนี่ อะไรที่ดีอยู่แล้วก็ไปแก้ให้เสีย อย่างนี้ไม่เรียกการปฏิรูป
เช่นเดียวกับนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญว่าตนได้ไปคุยกับทาง กมธ.ยกร่างฯ หลายคนก็มีความเห็นตรงกันกับกลุ่มผู้พิพากษาที่เสนอให้คัดค้านให้มีส่วนจากบุคคลภายนอกจำนวน 1 ใน 3 เข้ามาเป็น ก.ต.เพื่อป้องกันอิทธิพลของฝ่ายการเมืองต่อองค์กรตุลาการ เรื่องนี้คงจะต้องมีการหารือกันในที่ประชุมต่อไป
ที่ผ่านมานั้นในร่างรัฐธรรมนูญมีการบัญญัติให้ ก.ต.มีสัดส่วน 1 ใน 3 ก็เพราะมีมีหลักคิดว่า องค์ประกอบของ ก.ต.ควรจะมาจากส่วนที่เกี่ยวโยงกับประชาชน ยึดโยงกับภายนอกให้เหมือนองค์ประกอบของศาลปกครอง แต่ในขณะนี้หลักคิดดังกล่าวคงไม่ถูกต้องแล้วเมื่อมีทางผู้พิพากษาได้ให้เหตุผลทักท้วงออกมาโดยให้เหตุผลว่าลักษณะศาลปกครองและศาลยุติธรรมนั้นไม่เหมือนกัน
“ผมเห็นว่าเรื่องการเป็นอิสระและปลอดจากการเมืองนั้นผมเห็นด้วยเพราะองค์กรอิสระที่เปิดช่องให้ส่วนของคนนอกเข้ามามากๆ นั้นเป็นเรื่องอันตราย ในขณะนี้ทาง ก.ต.เองก็มีสัดส่วนของคนนอกอยู่แล้วจำนวน 2 คน ผมคิดว่าหลักการนี้ก็ดีอยู่แล้วไม่ควรเพิ่มเป็น 1 ใน 3 และในเรื่องขององค์กรศาลที่มีการจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ และก็ให้คนนอกเข้ามาอบรมด้วยเรื่องนี้ทาง กมธ.ยกร่างฯ ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกันเพราะจะทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถเข้าช่องนี้ด้วย รวมถึงนักธุรกิจที่อาจจะมีการสร้างความสนิทสนมกับองค์กรศาลได้และทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดี แต่เชื่อว่าทางศาลก็อยากให้มีอิสระปลอดจากการแทรกแซงทุกด้าน”