“วิษณุ” แจงดะ ชี้เปิดช่องถามเพิ่มในประชามติเอาเรื่องอื่น เช่น เปิดบ่อนเสรี หรือเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ ชี้คำถามความเห็นรัฐธรรมนูญ ถ้าตั้งไม่สอดคล้องก็มีปัญหา ด้าน “สุวพันธุ์” เผยกรอบเวลาสภาขับเคลื่อนฯ อยู่ตามรัฐบาลและต้องดูในรัฐธรรมนูญใหม่ ก่อนลงมติโหวตวาระ 3 ผ่านฉลุย 203 เสียง งดออกเสียง 3
วันนี้ (18 มิ.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ประชุมได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับแก้ไข มาตรา 5 เรื่องขั้นตอนการทำประชามติ สนช.หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การให้ สนช.และสปช.ตั้งคำถามเพื่อทำประชามติ สามารถสอบถามในประเด็นอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ และเมื่อประชาชนได้ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้วจะสามารถแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ตามความเห็นของประชาชนในประเด็นคำถามประชามติข้อสองได้อย่างไร
นายวิษณุชี้แจงว่า การกำหนดคำถามประชามติเพิ่มเติมนั้นสามารถถามได้ทั้งเรื่องที่อยู่ในหรือนอกร่างรัฐธรรมนูญ เช่น เห็นด้วยกับการเปิดกาสิโนถูกกฎหมายหรือไม่ หรือ เห็นด้วยกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือไม่ แต่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากแต่ละสภาก่อน ส่วนการแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญตามความเห็นของประชาชนในคำถามประชามติข้อสองนั้น ส่วนตัวคิดว่าการตั้งคำถามต้องตั้งคำถามให้ดี ถ้าตั้งไม่ดีก็อาจมีปัญหาได้ เช่น ถ้าลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไปตั้งคำถามว่าเห็นด้วยกับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงหรือไม่ ถ้าประชาชนบอกว่าเห็นด้วย ก็จะเกิดปัญหาต้องไปแก้รัฐธรรมนูญอีก
ส่วนมาตรา 6 มีการแก้ไขมาตรา 37/1 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ประเด็นการทำประชามติ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช.อภิปรายตั้งข้อสังเกตว่า ในวรรคท้ายกรณีศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าร่างรัฐธรรมที่มีการแก้ไขแล้วไม่ตรงกับผลการลงประชามติ จะทำอย่างไร ซึ่งนายวิษณุได้ชี้แจงว่า ความเป็นจริงปัญหาเกิดยาก เพราะมติของศาลรัฐธรรมนูญที่จะส่งกลับไปยังกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะบอกชัดเจนว่าไม่ตรงกับประชามติอย่างไรต้องแก้อย่างไร ในอดีตที่ผ่านมาก็เคยมีหลายครั้ง
ต่อมามาตรา 7 ให้ยกเลิกมาตรา 38 และ 39 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน ในประเด็นเรื่องการสิ้นสุดลงของ สปช. รวมทั้งประเด็นการทำหน้าที่ของกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งนายธานี อ่อนละเอียด สมาชิก สนช.ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เนื้อหาระบุว่าหาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง ให้ กมธ.ยกร่างฯ ที่เหลือ ปฏิบัติต่อไปได้ และให้หัวหน้า คสช.แต่งตั้งขึ้นมาทำหน้าที่แทน แต่ไม่ได้ระบุในส่วนตำแหน่งของประธาน กมธ.ยกร่างฯ จึงอยากถามว่าหากเกิดกรณีตำแหน่ง ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ว่างลงไมว่าด้วยเหตุใดๆ ทั้ง ลาออก หรือมีอันเป็นไป จะทำอย่างไร
นายวิษณุชี้แจงว่า ของเดิมเมื่อตำแหน่งต่างๆ ที่มาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อมีปัญหาก็จะย้อนกลับไปที่ตำแหน่งประธาน สปช. แต่เมื่อ สปช.ไม่อยู่แล้ว ทุกอย่างก็จะกลับไปยัง คสช. เป็นหลักการเดียวกันว่า เมื่อไม่มีตำแหน่งประธาน กมธ.ยกร่างฯ แล้ว หากเกิดก่อนวันลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ก็จะกลับไปสู่ ประธาน สปช.พิจารณา ส่วนหากหลังจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของหัวหน้า คสช.จะพิจารณาต่อไป
ขณะที่มาตรา 8 มีการเพิ่มข้อความในมาตรา 39/1, 39/2, 39/3 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ประเด็นเรื่องการลงประชามติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป โดยนายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.อภิปรายว่า ต้องการทราบความชัดเจนที่ระบุว่า การออกเสียงประชามติ ให้ กกต.ออกหลักเกณฑ์และวิธีการ และให้ สนช.เห็นชอบนั้น หลักเกณฑ์การพิจารณาของ สนช.จะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ประเด็นที่กำหนดให้สภาขับเคลื่อนปฏิรูปมาทำหน้าที่แทน สปช.โดยคำนึงถึงความสำคัญเร่งด่วน และระยะเวลาที่เหลืออยู่นั้นแสดงว่าไม่ต้องทำทั้ง 37 วาระได้หรือไม่ อีกทั้ง นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิก สนช.กล่าวว่า อยากทราบสาเหตุที่ ต้องยุบเลิก สปช. เพราะจะทำให้ขาดความต่อเนื่อง อีกทั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ไม่มีการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง จึงเป็นห่วงว่าจะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ
นายวิษณุชี้แจงว่า หลักเกณฑ์ของ กกต.จะเสนอเข้ามาคล้ายร่าง พ.ร.บ. ส่วนการพิจารณาหากมีการตั้ง กมธ.วิสามัญ ขึ้นมาล่วงหน้าไปทำการศึกษาร่วมกับ กกต.ก็จะช่วยประหยัดเวลาได้มาก ซึ่ง สนช.ก็จะมาช่วยทักท้วงแทนสังคม ปัญหาอยู่ตรงที่ บทลงโทษที่ กกต.และ สนช.ไม่สามารถกำหนดได้เอง ดังนั้น จึงให้นำความใน พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ในส่วนของบทลงโทษ ดังนั้น ไม่ว่าจะฉีกบัตร ขัดขวางการออกเสียงประชามติ ย่อมมีความผิดและมีโทษ รวมไปถึงห้ามทำโพลล่วงหน้า 7 วัน
ขณะที่ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเสริมว่า กรอบระยะเวลาการทำงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปนั้น จะทำงานควบคู่ไปกับรัฐบาลปัจจุบันไปจนกว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะมีผลบังคับใช้ และส่งเรื่องต่อไปยังรัฐบาลชุดใหม่ อีกทั้งจะต้องรอดูประเด็นที่เกี่ยวข้องซึ่งบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไปด้วย
จากนั้นที่ประชุมได้มีการลงมติในวาระ 3 โดยวิธีขานชื่อสมาชิกฯ ซึ่งผลปรากฏว่ามีมติรับหลักการ 203 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ดังนั้น ทาง สนช.ได้มีมติเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ตามที่ ครม.และ คสช.เสนอ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 15 วันนับแต่วันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับต่อไป