xs
xsm
sm
md
lg

วงถก ครม.- คสช.ไฟเขียว ลงประชามติ “ร่าง รธน.” ตั้งคำถามอื่นควบคู่ ไม่ชัดมีคำถามอยู่ต่อ 2 ปี หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

   นายวิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.) โดยเห็นชอบในการส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2558 ไปยัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามมาตรา 46 ของ รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557  โดยมีมติให้ทำประชาชนมติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ด้วย
“วิษณุ” แจงผลถกแก้ รธน. ชั่วคราว ร่วม “ครม.- คสช” เห็นชอบส่ง สนช. 7 เรื่อง ไฟเขียวให้ทำประชามติร่าง รธน. ตั้งคำถาม “เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ” พร้อมเปิดทางตั้งคำถามอื่นควบคู่ ไม่ชัดให้ประชามติตั้งคำถามให้รัฐบาลอยู่ต่อ 2 ปี หรือไม่ คาดทำประชามติร่าง รธน. ช่วงปลายเดือน ม.ค. หรือ ต้น ก.พ. 59 ยัน หากไม่ผ่านให้ตั้ง “กรรมการยกร่างฯ” ขึ้นทำหน้าที่แทน

วันนี้ (9 มิ.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า มีการพิจารณา เพื่อให้ความเห็นชอบในการส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2558 ไปยัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามมาตรา 46 ของ รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 โดยกติกามีว่า

1. ต้องเป็นมติเห็นชอบของ ครม. และ คสช.

2. ต้องทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมฉบับเก่า แล้วส่งให้ สนช. จากนั้นต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 15 วัน

3. สนช. มีอำนาจเพียงพิจารณาว่ารับหรือไม่รับ แต่อาจจะตั้งข้อสังเกตแนะนำวิธีปฏิบัติได้ แต่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างไม่ได้ เว้นแต่ได้รับควาเห็นชอบจาก ครม. และ คสช.

4. การให้ความเห็นชอบให้แก้ไข สนช. ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 111 เสียงหรือมากกว่านั้น

5. นายกฯต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายใน 15 วัน นับจากวันที่พิจารณาเสร็จ

6. เมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วก็ให้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา และบังคับใช้ได้ทันที ทั้งนี้ ควรเสร็จสิ้นก่อน 21 ก.ค. หรือ 23 ก.ค.

ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขจะมี 7 เรื่องคือ

1. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ สนช. เดิมตาม มาตรา 8(4) กำหนดว่าคนจะเป็น สนช. “ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” โดยเปลี่ยนเป็นคำว่า “ไม่อยู่ระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” ทั้งนี้ เพื่อเลียนแบบหรือเดินตามร่าง รธน. ฉบับใหม่ แต่ในส่วนการเพิกถอนจากการทุจริตยังห้ามอยู่

2. การที่บุคคลบางตำแหน่งต้องเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปีหนึ่งเป็นจำนวนมาก เพื่อไม่ให้เป็นพระราชภาระมากเกินไป จึงแก้ไขเป็นว่า การถวายสัตย์ตามกฎหมายที่กำหนดต้องเข้าเฝ้าถวายสัตย์นอกจากจะทำเฉพาะต่อหน้าพระพักตร์แล้ว อาจจะโปรดเกล้าฯให้ถวายสัตย์ต่อรัชทายาทที่บรรลุนิติภาวะหรือผู้แทนพระองค์ก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เขียนตามร่างรัฐะรรมนูญใหม่ที่กำลังร่างอยู่

คาดทำประชามติร่างรธน.ช่วงปลายเดือน ม.ค. หรือ ต้น ก.พ. 59

3. การขยายเวลาให้ กมธ.ยกร่างฯ ทำงาน เดิมต้องทำให้เสร็จใน 60 วันนั้น ซึ่งใน 10 วันแรกจะหมดเวลาไปกับการเชิญคนที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และอีก 10 วันในช่วงท้าย จะต้องเชิญคนที่ขอแก้ไขมารับฟังว่าพอใจหรือไม่ และเมื่อรวมวันเสาร์อาทิตย์อีกประมาณ 16 วัน เท่ากับเสียเวลาไปแล้ว 36 วัน เหลืออีกเพียง 24 วัน ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอต่อการแก้ไข เพื่อให้เกิดความรอบคอบจึงระบุไว้ว่า กมธ.ยกร่างฯ สามารถขอขยายได้อีกไม่เกิน 30 วัน รวมแล้วจะไม่เกิน 90 วัน เมื่อ กมธ.ยกร่างฯ มีมติจะขอขยายแล้วก็ให้แจ้งต่อทีประชุม สปช. ทราบเพื่อขอขยายเวลา

4. เรื่องการทำประชามติเมื่อ สปช. มีมติเห็นชอบกับร่างที่กรรมาธิการแก้ไขเสร็จแล้ว ซึ่งคาดว่าประมาณต้นเดือน ก.ย. ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นไปลงประชามติ โดย กกต. เป็นผู้กำกับควบคุม รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไข โดยต้องได้รับความเห็นชอบของ สปช. แล้วจึงประกาศใช้ได้

“ในกรณีที่มีการทำผิด และฉีกบัตรหรือขัดขวางการทำประชามติมีการกำหนดไว้ว่า ให้นำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าสด้วยการออกเสียงประชามติมปี 2552 มาบังคับใช้กำหนดบทลงโทษ”

“ทั้งนี้ การลงประชามติที่บริสุทธิ์ยุติธรรมและถูกต้องต้องให้ประชาชนได้รับข้อมูลให้มากที่สุด จึงกำหนดให้จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบแล้วแจกจ่ายให้กับผู้มีสิทธิ อย่างน้อย 80% ของครัวเรือน ซึ่งประเทศไทยมี 23 - 24 ล้านครัวเรือน 80% คือ 19 ล้านครัวเรือน ซึ่งเมื่อแจกได้ครบ 80% แล้ว กกต. จะกำหนดวันออกเสียงประชามติโดยไม่เร็วกว่า 30 วัน แต่ไม่ช้ากว่า 45 วัน คือคาดว่าจะเป็นช่วงปลายเดือน ม.ค. หรือ ต้น ก.พ. 59”

เผยคำถามประชามติ “เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ”

สำหรับคำถาม คำถามหลักจะถามว่า “เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ” ส่วนหากมีการขอให้ถามประชามติเรื่องอื่นด้วยนั้น ต้องเป็นมติที่ส่งมาจาก สนช. สปช. สภาละหนึ่งประเด็น และหาก ครม. เห็นชอบประเด็นใดก็จะส่งให้ กกต. จัดให้ออกเสียงประชามติควบคู่ไปในวันเดียวกัน หาก ครม. ไม่เห็นชอบประเด็นใดก็ให้ถามแต่ว่าจะรับหรือไม่รับร่างเท่านั้น

หากมีการถามในประเด็นอื่นและคำถามขัดแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญให้กรรมาธิการยกร่างฯ ปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับผลประชามตินั้นให้เสร็จสิ้นใน 30 วันแล้ว ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เมื่อ นายกฯเห็นชอบก็นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายใน 30 วัน

5. เมื่อ สปช. ลงมติไม่ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างของ กมธ.ยกร่างฯ ถือว่าภารกิจเสร็จสิ้นแล้วให้ยุบ สปช. แล้วตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีสมาชิกไม่เกิน 200 คน อายุไม่น้อยกว่า 35 ปี อาจจะเคยเป็นหรือเคยเป็น สปช. มาก่อนก็ได้ โดยมีนายกฯเป็นผู้แต่งตั้งและไม่ต้องนำขึ้นกราบบังคมทูลฯ โดยจะให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเสนอแนะการปฏิรูปโดยไม่ไกี่ยวกับการร่าง รธน. อีก

6. ถ้า กมธ.ยกร่างฯ สิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามให้ตั้งคณะกรรมการที่เรียกชื่อใหม่ ว่า “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” จำนวน 21 คน ซึ่งหัวหน้า คสช. เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งว โดยไม่ต้องนำขึ้นกราบบังคมทูลฯ และไม่ห้ามว่าจะเป็นคนเก่าหรือคนใหม่ด้วย โดยมี ประธาน 1 คน และ กรรมการไม่เกิน 20 คน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรับฟังความเห็นจากประชาชนให้เสร็จสิ้นใน 180 วัน หรือ 6 เดือน จากนั้นนำไปออกเสียงประชามติ

7. เป็นการแก้ไขภาษาและตัวเลขของมาตราเล็กน้อย และคาดว่า ส่งร่างให้ประธาน สนช. ได้ใน 1 - 2 วันนี้

ไม่ชัด! ประชามติควบคู่ ตั้งคำถามให้รัฐบาลอยู่ต่อ 2 ปี หรือไม่

ส่วนกรณีการเปิดช่องให้ตั้งอีกคำถาม หากถามว่าให้รัฐบาลอยู่ต่อหรือไม่จะเข้าข่ายเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า หากตั้งหลักคิดจากการถามคำถามอย่างนี้ก็เข้าข่ายถูกครหา ดังนั้นอย่าไปตั้งหลักคิดว่าจะต้องไปถามแบบนี้ ทำไมไม่นึกว่าอีกคำถามอาจจะถามว่า เอา รธน. ฉบับไหนมาใช้ หรือ เรื่องนิรโทษกรรมเป็นต้นก็ได้ กรณีหากคณะกรรมการร่าง รธน. ร่างแล้วไม่ผ่านอีก ก็จะทำให้อยู่ในวังวนเดิมๆ นายวิษณุ กล่าวว่า หากไม่ผ่านอีกจะไม่เป็นวังวนแน่นอน อาจจะหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับใดมาก็ได้ แต่ตรงนี้ยังไม่อยากให้นึกถึงขั้นตอนนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น