xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” ไม่ห่วงร่าง รธน.แป้ก ยันทำดีที่สุดแล้ว ภาคประชาชนวอนอย่าตัดกลไกภาคพลเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ไม่ห่วงร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน พร้อมกลับไปสอนหนังสือ ยันทำดีที่สุดแล้ว ระบุรัฐธรรมนูญแค่สร้างกฎเกณฑ์-กติกาให้เป็นประชาธิปไตย การเมืองจะดีหรือไม่อยู่ที่คนใช้และประชาชน ย้ำหมวดปฏิรูปและปรองดองเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนจะให้ไปอยู่ในกฎหมายลูกหรือในร่างฯ ต้องฟังความเห็นทุกฝ่าย ด้านภาคีเครือข่ายประชาสังคม 3 จังหวัดวอนอย่าตัดกลไกภาคพลเมือง

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมงานเสียงปฏิรูปออนไลน์ ถึงการมาเป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ว่าอยากจะให้ประชาชนจดจำภาพในแบบใดว่า ตนไม่อยากจะให้จำในภาพไหน ถ้าจะจำก็ขอให้จำเพียงว่า 1. มีหน้าที่อะไรทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด 2. ตัดสินโดยมีหลักวิชา อย่าตัดสินด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว ด้วยอารมณ์ ด้วยความโกรธ อาฆาต อคติ

ส่วนหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านจะทำอย่างไรนั้น นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่ผ่านก็ไม่ผ่าน ตนก็กลับไปสอนหนังสือ เป็นเรื่องไม่แปลก อย่างว่าแต่รัฐธรรมนูญไม่ผ่านเลย พรุ่งนี้นายบวรศักดิ์อาจจะเป็นลมตายก็ได้ มันไม่ได้มีความแน่นอนอะไรในชีวิต มันเป็นสัจธรรมของโลก เป็นธรรมะ เพราะฉะนั้นจะผ่านหรือไม่ผ่านไม่ได้อยู่ที่ตน แต่อยู่ที่ สปช.อยู่ที่ประชาชน ตนทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดก็จบ

ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสามารถทำให้พรรคการเมืองอยู่ครบวาระหรือไม่นั้น นายบวรศักดิ์กล่าวว่า คงตอบไม่ได้ จำไว้อย่างหนึ่งว่ารัฐธรรมนูญสร้างกฎเกณฑ์ สร้างประชาธิปไตย แต่มันไม่มีวิญญาณ มันเป็นตัวหนังสือ เหมือนกติกากีฬา แต่ว่ากีฬาก็มีกรรมการ กรรมการบางประเภทก็ตัดสินแพ้ชนะได้ เช่น กีฬามวย แต่กีฬาบางประเภทก็ตัดสินแพ้ชนะไม่ได้ ได้แต่รักษากติกา เช่น ฟุตบอล กีฬาก็ต้องรู้แพ้ รู้ชนะ ถือเป็นน้ำใจนักกีฬา แต่ว่านักฟุตบอลที่มาจากอังกฤษ อิตาลี ก็ไม่เหมือนกัน บางคนเล่นแบบเตะขาเพื่อนได้ก็เตะ เล่นนอกกติกาตลอด ที่เรียกว่าวัฒนธรรมของนักกีฬาแต่ละชาติที่ไม่เหมือนกัน และตรงนี้จะทำให้กติกาศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ก็ได้ เหมือนกับรัฐธรรมนูญ เขียนขึ้นมา กรรมการคือประชาชน เป็นคนตรงไปตรงมา ไม่มีการขายเสียง ก็ตัดสินอย่างหนึ่ง แต่ถ้ากรรมการไม่เป็นแบบนั้น ก็แสดงว่าทุนมีอิทธิพลเหนือกรรมการ

เมื่อถามถึงขั้นตอนการทำประชามติต่อไปจากนี้ไปเป็นอย่างไรบ้าง นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า วันที่ 2-6 มิ.ย.นี้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะรับฟังผู้ชี้แจง วันที่ 7 มิ.ย.-3 ก.ค.ถ้าไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ยืดระยะไปอีก 30 วัน กรรมาธิการยกร่างฯ ก็ต้องทำหน้าให้เสร็จ จากนั้นตั้งแต่วันที่ 4-22 ก.ค.ทบทวนทั้งร่าง และวันที่ 23 ก.ค.ก็ส่ง สปช.แต่ถ้าขยายเวลาออกไปอีก 1 เดือนก็ต้องส่งวันที่ 25 ส.ค.หลังจากนั้น 15 วัน สปช.ก็ต้องโหวตภายในวันที่ 5 ก.ย. หลังจากนั้นถ้ามีการทำประชามติ ก็ไปจัดพิมพ์รัฐธรรมนูญ 47 ล้านเล่ม กรรมาธิการยกร่างฯ เสนอไปว่าหลังจากแจกรัฐธรรมนูญไปแล้วก็ให้เวลา 3 เดือนในการพิจารณา ถกเถียงว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร ส่วนกรณีว่าต้องทำประชามติหรือไม่นั้น ตนเห็นว่าต้องทำ เพราะปี 2550 ก็ผ่านการทำประชามติมา แล้วถูกยกเลิกไป แล้วครั้งนี้จะมาออกรัฐธรรมนูญโดยไม่ผ่านประชามติได้อย่างไร

ส่วนกำหนดการที่กรรมาธิการยกร่างฯ จะไปประชุมที่สวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงปลาเดือน มิ.ย.นั้น นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับหลายอย่าง อาจจะไม่มีการประชุมที่สวนสนฯ เลยก็ได้ หากที่นี่มีความราบรื่น รวดเร็ว อันนั้นเป็นการจองเอาไว้ก่อน มันขึ้นอยู่กับการทำงานของกรรมาธิการฯช่วงนั้นว่า ไปได้เร็ว ตกลงได้เร็ว เสร็จเรียบร้อย แล้วจะไปสวนสนฯ ทำไม แต่ที่กะเอาไว้ก่อนเพราะรู้ว่าแรงกดดันจะเข้ามาสารพัด จะพูดกันยาวกว่าร่างแรกเยอะ ประสบการณ์ของตนในปี 2540 มันบอกแบบนั้น มันเป็นโค้งสุดท้ายแล้ว

ต่อข้อถามว่า การปฏิรูปที่ร่างขึ้นมาจะให้ประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า เขาตั้ง สปช.ขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่นี้ เพื่อให้ทำสิ่งที่คนมั่งมีมหาศาลกับคนไม่มีให้มันเข้ามาใกล้กันมากขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะฉะนั้นตนถือว่าหมวดปฏิรูปและหมวดปรองดองเป็นหมวดสำคัญ ไปหาในประเทศอื่นก็ไม่มี ส่วนจะมีการตัดหมวดปฏิรูปออกไปเป็นกฎหมายลูกหรือไม่นั้น ตนยังไม่พูดไม่ได้ เพราะยังมี 2 ความเห็น แต่สำหรับตน ต้องฟังเหตุผลของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งบอกว่า มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้จุดเด่นของมันคือ ปฏิรูปและปรองดอง ก็ต้องเอาไว้ อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าเอาไว้ในเรื่ององค์กร กลไกและหลักการสำคัญ แต่รายละเอียดตกผลึกแล้วหรือไม่ ถ้าเขียนรัฐธรรมนูญแล้วทำไม่ได้ขึ้นมามันจะยุ่ง เพราะว่ามันจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ ก็ต้องชั่งน้ำหนัก

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ในฐานะที่ตนก็คือ สปช. เราก็ทำหน้าที่ของ สปช.ไปได้เรื่อยๆ เพราะเราคือคนเสนอ ไม่ได้เป็นคนทำ คนทำคือ คสช.และรัฐบาล มันก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ สปช.เพียงอย่างเดียว เพราะ สปช.ก็ทำเต็มหน้าที่แล้ว ไม่ได้บกพร่องอะไรเลย เราก็ต้องฟังเสียงประชาชน จะมาฟังแต่พวกเดียวกันเองไม่ได้

“ผมถือคติอยู่ข้อหนึ่ง คือ ที่คุณอุทัย พิมพ์ใจชน พูดเตือนคนร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ว่า “ถ้าพวกคุณถามว่าพวกเราจะเอาอย่างไร ถึงจุดเสื่อมแล้วนะ คุณต้องถามว่าพวกเขาก็คือประชาชน จะเอายังไง แบบนั้นคุณไม่เสื่อมหรอก” คำพูดนี้ยังอยู่ในหูของผมจนถึงวันนี้ ผมคิดว่ามีความจำเป็นต้องทำ สปช.ตั้งขึ้นเพื่อต้องการให้เกิดการปฏิรูป แต่จะทำโดยใคร ผมไม่รู้ แต่จุดยืนของผมคือต้องทำ ในวันนี้เราถูกวิจารณ์มากเรื่องการสืบทอดอำนาจ ก็มีคนพูดกันในกรรมาธิการยกร่างฯ แล้วว่า ให้ตัดออกให้หมด ไม่ต้องมี สปช., สนช. เลือกใหม่ให้หมดเลย หรืออาจจะมีเหมือนเดิมก็ได้ ผมยังตอบตอนนี้ไม่ได้ สิ่งที่พูดไปทั้งหมดคือความเห็นส่วนตัว ไม่ได้เป็นความเห็นของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” นายบวรศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (4 มิ.ย.) องค์กรภาคีเครือข่ายการพัฒนาประชาสังคม 3 จังหวัดซึ่งเป็นตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร ราชบุรี และสระบุรี นำโดย นายสมเกียรติ ภู่ธรรมศิริ ได้เข้ายื่นหนังสือผ่านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเรียกร้องให้ กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาไม่ตัดกลไกภาคพลเมืองตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางคณะขอเสนอแก้ไขซึ่งประกอบด้วย สมัชชาพลเมือง มาตรา 215 สภาตรวจสอบภาคพลเมือง มาตรา 71 และ สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ มาตรา 74 เพราะทั้ง 3 กลไกดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญยิ่งในการก่อให้เกิดการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้ง ยังสร้างความเข้มแข็งให้กับพลเมือง รวมถึงส่งผลให้ประชาชนเจ้าของอธิปไตยสามารถใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงของประชาชน ซึ่งหากตัดไปอาจไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรรมนูญ ร่างที่ 1

ขณะที่ นายบัณฑูรกล่าวว่า ขณะนี้ทาง กมธ.ยกร่างฯ กำลังรับฟังความเห็นอยู่ซึ่งจะนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ และระหว่างวันที่ 6-7 มิ.ย. กมธ.ยกร่างฯได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ดังนั้น จึงขอเชิญชวนประชาชนที่ต้องการแสดงความคิดเห็นไปร่วมในเวทีดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น