ประธาน กมธ.ยกร่างฯ แจง ครม.ตั้งข้อสังเกตให้ตัดคำว่าพลเมืองไม่ได้ขอแก้ รอ “วิษณุ” แจง โต้ไม่ใช่แค่วาทกรรม รับคำขอผู้บริหารมีน้ำหนัก พร้อมชั่งน้ำหนัก ยันมุ่งแก้ขายเสียง ชี้ต้องขุดรากผู้อุปถัมภ์การเมือง ไม่เป็นอิสระทางเศรษฐกิจ เปลี่ยนประชาชนให้สนการเมืองเท่าการบ้าน สู่วัฒนธรรมพลเมือง รับผิดชอบสังคม ยันปฏิรูปยังบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ลั่นไม่รู้สึกถอดใจ
วันนี้ (29 พ.ค.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีเสนอให้ตัดคำว่า “พลเมือง” ออกจากร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นการตั้งข้อสังเกต ไม่ใช่คำขอแก้ไข ขณะที่กรรมาธิการฯ ก็รับไว้พิจารณา แต่หากต้องการจะเห็นการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย และต้องการยกเลิกวัฒนธรรมการซื้อสิทธิขายเสียงต้องลงไปที่รากฐานของการซื้อสิทธิขายเสียง เหตุเพราะคนส่วนใหญ่ยังต้องอาศัยพึ่งพา ผู้อุปถัมภ์ทางการเมือง ไม่เป็นอิสระทางเศรษฐกิจ ดังพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้จริงเมื่อประชาชนมีอิสระทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง นี่คือเหตุหนึ่งที่จะต้องปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำ และต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมราษฎรที่ไม่สนใจการเมือง เห็นแต่เรื่องการทำมาหากินสนใจแต่การบ้าน ใช้สิทธิ 1 นาทีก็จบ ปล่อยให้ผู้มีอำนาจการเมืองตัดสินใจแทน ไปสู่วัฒนธรรมพลเมือง ซึ่งเห็นการเมืองสำคัญเท่ากับการบ้าน เป็นเรื่องของตนเอง มีสำนึกพลเมือง มีใจที่รับผิดชอบต่อสังคม เคารพกฎหมายหน้าที่ตนเอง รับสิทธิเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น ต้องมีพฤติกรรมของพลเมือง คือดูแลบ้านเมืองที่เสียหาย
“คุณก็ไปถามคณะรัฐมนตรี คือ อาจารย์วิษณุ (เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี) ว่าทำไมท่านขอแก้ มันใช้คำได้เยอะ ประชาชน, ปวงชน, ราษฎร, พลเมือง จะเอาคำไหนก็ได้ แต่ต้องมีนัยที่จะแก้ปัญหาของบ้านเมือง ไม่ใช่เลือกใช้ตามสะดวก ไม่ใช่วาทกรรม อย่าง “ลงเรือเป๊ะ” เป็นวาทกรรม “เกินลงกา” เป็นวาทกรรม แต่ “พลเมือง” ไม่ใช่วาทกรรม เป็นการพยายามแก้ปัญหาวัฒนธรรมราษฎรซื้อสิทธิขายเสียง คงต้องให้ท่านมาชี้แจงและเราจะพิจารณาอีกที แต่หนึ่งคำขอแก้ไขของ ครม.ถือว่ามีน้ำหนักเพราะเป็นผู้บริหารราชการ แต่ก็รับฟัง สปช.ทั้ง 8 กลุ่มด้วยซึ่งมีทั้งข้อเสนอที่เหมือนกัน และขัดกัน โดยกรรมาธิการจะต้องชั่งน้ำหนักอีกทีโดยดูที่เหตุผลและหลักการว่าอันไหนน่าจะเป็นผลดีกับคนส่วนใหญ่ ส่วนคนตัดสินใจขั้นสุดท้าย ด่านแรกคือ สปช. ด่านสองคือประชาชน ถือเป็นเอกสิทธิ์ ผมรับได้ทั้งสิ้น และพร้อมรับคำพิพากษา”
ถามต่อว่าคำขอของ ครม.ที่เสนอให้ตัดการปฏิรูปออกไป จะตอบรับหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ต้องดูเหตุผลกัน แต่ ครม.ไม่ได้ขอให้ติดทิ้ง เพราะนายวิษณุก็ยืนยันกับตนว่าอยากให้เขียนไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และเขียนหลักใหญ่ๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้กระชับ ยืนยันว่าการปฏิรูปยังบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแน่นอน เพราะชื่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าให้มาทำการปฏิรูปประเทศ อีกทั้งก่อนหน้านี้ทุกฝ่ายต่างก็เรียกร้องให้มีการปฏิรูป แต่จะมีการตัดออกตามข้อเสนอของครม.หรือไม่ยังตอบไม่ได้ แต่ยังมีเรื่องปฏิรูปและการปรองดองเหมือนเดิม
เมื่อถามว่ามีการเสนอให้แก้ไขจำนวนมากเช่นนี้รู้สึกถอดใจหรือไม่ ประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ไม่มีถอดใจ เพราะอาสาเข้ามาแล้วจะถอดใจอะไรกัน