xs
xsm
sm
md
lg

2กมธ.หนุนปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เขียนบทเฉพาะกาลรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปกรณ์ ปรียากร พร้อมด้วย พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการรับฟังคำชี้แจงคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง และ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยนายปกรณ์ กล่าวว่า ประเด็นที่ กมธ.ทั้ง 2 คณะ เสนอขอแก้ไข มีทั้งสิ้น 132 ประเด็น ซึ่งขอแก้ไขชื่อ และให้แบ่งเป็นหมวดทั้งฉบับ 10 หมวด ดังนี้ 1. หมวดทั่วไป 2. พระมหากษัตริย์ 3. ประชาชนชาวไทย 4. ฝ่ายนิติบัญญัติ 5. ฝ่ายบริหาร 6. ตุลาการ 7. องค์กรตามรัฐธรรมนูญและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 8. ความมั่นคงของประเทศไทย 9. การพัฒนาประเทศ โดยจะนำเรื่องการปฏิรูปมาไว้ในหมวดนี้ 10. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะกาล
ทั้งนี้ ผู้เสนอต้องการให้รัฐธรรมนูญมีลักษณะที่สั้น กระชับ และเอาส่วนที่ไม่จำเป็นไปไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ตัดคำว่า "พลเมือง" โดยให้เปลี่ยนเป็น "ประชาชน" ทั้งหมด เพราะอาจสร้างความสับสน และเกิดการตีความที่ลักลั่น ส่วน ประเด็นการปฏิรูปการเมือง ใน มาตรา 103 ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยให้ ส.ส.มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จำนวน 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน ในแต่ละเขตเลือกตั้ง มีส.ส.อย่างน้อยเขตละไม่เกิน 3 คน ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 1 คน มีสิทธิ์เลือก ส.ส.ได้ 1 คน โดยไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม เพราะจะทำให้รัฐบาลไม่เข้มแข็ง และเกิดความยุ่งยากซับซ้อนกับประชาชน และไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งระบบโอเพ่นลิสต์
ส่วนที่มา ส.ว. เสนอว่า ถ้าจะให้มีอำนาจมากควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจังหวัด ละ 2 คน แต่ถ้ามาจากการสรรหาทั้งหมด จะต้องลดอำนาจลง และมีกลไกป้องกันและตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันที่เข้มแข็ง เช่น เสนอให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ และให้ตั้งศาลว่าด้วยคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ เสนอให้มีกรรมการไต่สวนอิสระ กรณีอภิปรายไม่วางใจคณะรัฐมนตรี ควรยุบพรรคการเมืองได้เฉพาะมีความผิดร้ายแรงต่อสถาบันฯ ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ความมั่นคงประโยชน์ของชาติ ทั้งนี้ เมื่อมีคำพิพากษาของศาลยุติธรรมถึงที่สุด โดยขอเพิ่มความมาตรา 245/2 เรื่องให้มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่อิสระ เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบ และถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ และเสนอให้ตั้งคณะกรรมการประมวลผลแห่งชาติ ให้มีบทบาทในการประเมินบุคคลผู้มีคุณสมบัติตั้งแต่อธิบดีขึ้นไป โดยไม่ให้มีนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง และใหตัดคำว่า กลุ่มการเมือง ออกทุกมาตรา และไม่เอานายกรัฐมนตรี ที่มาจากคนนอก แต่ต้องมาจากประชาชน
นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาล ผู้เสนอเห็นว่า ต้องมีการปฏิรูปให้สำเร็จก่อนการเลือกตั้ง โดยขอให้ กมธ.ยกร่างฯ เป็นผู้จัดทำบัญชีรายละเอียดว่า มีกฎหมายอะไรบ้าง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี ทำให้แล้วเสร็จ และมอบให้ครม. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้กำหนดการเลือกตั้ง
เมื่อถามว่า ขอให้ขยายคำว่า ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง พล.ท.นาวิน กล่าวว่า ต้องพิจารณาความเหมาะสม เพราะข้อเสนอเรื่องการปฏิรูประยะเวลาจะไม่ตรงกับที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าว เป็นคนละเงื่อนไขกับข้อเสนอที่ให้มีการปฏิรูป 2 ปี ก่อนการเลือกตั้ง

**เขียนปฏิรูปก่อนเลือกตั้งในรธน.

ขณะที่ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.การปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า คณะกมธ.ทั้งสองคณะ ได้ร่วมกันเสนอให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง โดยให้เพิ่ม มาตรา 304/1 ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้คณะกมธ.ยกร่างฯ จัดทำบัญชีรายการกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่จำเป็น พร้อมหลักการและเหตุผล รวมถึงวัตถุประสงค์การให้มีกฎหมายดังกล่าว และส่งให้ สปช.ดำเนินการยกร่าง จัดทำกฎหมายดังกล่าว โดยให้จัดทำร่วมกับคณะกมธ.ยกร่างฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี เพื่อให้การปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จ หลังจากนั้น ส่งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดำเนินการจัดให้มีกฎหมายดังกล่าวต่อไป จากนั้นให้ ครม.โดยความเห็นชอบของ คสช. และคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว.ต่อไป
" คำขอแก้ไขดังกล่าว ไม่ได้เป็นการทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนลงความเห็นว่าจะให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ให้ดำเนินการไว้ในบทเฉพาะกาล โดยสาเหตุที่ต้องเสนอแนวทางนี้ไว้ เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลส่วนใหญ่มักจะไม่ดำเนินการออกกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงจำเป็นต้องกำหนดเรื่องนี้เอาไว้ ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกมธ.ยกร่างฯ ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่"
นายสมบัติ ยืนยันว่า ใช้เวลานานเกินไปไม่ได้ เพราะเข้าใจดีว่า ทุกคนต้องการการเลือกตั้ง ซึ่งคิดว่าการทำกฎหมายต่างๆ จะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี
ด้านนายเสรี กล่าวว่า การจัดทำกฎหมายดังกล่าว จะต้องจำแนกออกเป็น 3 บัญชี ประกอบด้วย 1. บัญชีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2. กฎหมายลูกที่ต้องออกตามรัฐธรรมนูญ และ 3. กฎหมายปฏิรูปที่ สปช.นำเสนอ โดยเป็นการดำเนินการตาม มาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2257 ที่กำหนดให้คณะกมธ.ยกร่างฯ และสปช. ร่วมกันจัดทำกฎหมายที่จำเป็นต่อการปฏิรูปประเทศ ซึ่งข้อเสนอนี้เกิดก่อนข้อเสนอให้มีการทำประชามติว่าจะเห็นด้วยกับการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง 2 ปี หรือไม่ ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ
" การใช้การออกฎหมายเป็นตัวชี้วัดถึงการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งนั้น มีความชัดเจนในการวัดผลมากกว่า ส่วนการปฏิรูปประเทศจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ทั้งในด้านการพัฒนาหลายๆ ด้าน ก็เป็นเรื่องอนาคต หลังจากมีกฎหมายต่างๆ ออกมาแล้ว" นายเสรี กล่าว

**ทำประชามติ กันต่างชาติโจมตี

นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปอีก 2 ปี ก่อนการเลือกตั้ง ว่า ไม่ว่าจะเป็นแนวทางของตน หรือ แนวทางจากคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ของกมธ.การเมือง และกมธ.กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่เสนอให้กำหนดในบทเฉพาะกาล ของร่างรัฐธรรมนูญว่า ให้จัดทำกฎหมายลูก 2 ปี ก็จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติอยู่ดี โดยแบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ
1. มี 2 คำถามคือ จะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2558 หรือไม่ และเห็นชอบให้มีการปฏิรูปอีก 2 ปี ก่อนการเลือกตั้งหรือไม่
2. มีคำถามเดียวว่า จะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2558 หรือไม่ ในกรณีที่มีการปรับแก้ไขตามข้อเสนอ ซึ่งยังขึ้นอยู่กับ กมธ.ยกร่างฯ ว่า จะเห็นเป็นอย่างไร
"ถ้าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ประชาชนเพียงแค่เสียงเดียวรัฐบาลก็ต้องฟัง หากผลการจัดทำประชามติ ออกมาเห็นชอบให้ คสช.อยู่ทำหน้าที่ปฏิรูปต่อไป ข่าวนี้ก็จะกระจายไปทั้งโลก จะไม่มีรัฐบาลไหนกล้าถามเรื่องการเลือกตั้งอีก หากยังถาม ก็แสดงว่าไม่ดูตาม้าตาเรือ ไม่เห็นว่าเราเป็นประชาธิปไตยแล้ว" นายไพบูลย์ กล่าว
ส่วนข้อเสนอที่ให้นำเรื่องการปฏิรูปอีก 2 ปี ก่อนการเลือกตั้ง เข้าหารือต่อที่ประชุมสปช.นั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนไม่มีปัญหา จะนำเข้าหรือไม่ก็ได้ เพราะข้อเสนอของตน สอดคล้องกับสมาชิก สปช.หลายคน แต่การหารือกันใน สปช. จะหมิ่นเหม่ถูกมองว่า เป็นการขยายอำนาจให้ตนเองหรือไม่ ตนมองว่าเป็นเรื่องของประชาชน เมื่อเห็นว่าจะให้ปฏิรูปอีก 2 ปี ก็ให้เสนอไปที่นายกรัฐมนตรี ดังนั้น ฟังเสียงประชาชนแทนดีกว่าฟังเสียง สปช. เพราะที่ผ่านมา ก็ไม่ค่อยมีใครฟังสปช.เท่าไร
ขณะเดียวกัน นายสมเกียรติ หอมละออ ตัวแทนชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย และ อดีตแกนนำกลุ่ม กปปส. เดินทางเข้ายื่นหนังสือ ต่อนายไพบูลย์ นิติตะวัน เพื่อสนับสนุน การปฏิรูปให้สำเร็จก่อนมีการเลือกตั้ง

** ทำประชามติ ถามเรื่องปฏิรูปได้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี สมาชิก สปช. บางส่วน เสนอให้ทำประชามติสอบถามประชาชนว่า ต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง 2 ปี หรือไม่ว่า เป็นเรื่องที่คนอื่นจุดชนวนขึ้นมา ตนไม่ได้เกี่ยวข้อง รัฐบาลไม่ได้รับรู้ ส่วนเรื่องนี้จะต้องใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่กำลังแก้ไขหรือไม่นั้น ตนกำลังคิดอยู่ เพราะหากเกิดให้ถามเรื่องให้ปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง 2 ปีขึ้นมา และไม่ได้เขียนเผื่อเอาไว้จะมีปัญหา
อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของการทำประชามติครั้งนี้คือเรื่องรัฐธรรมนูญ หากอยากจะถามเรื่องอื่นด้วย ต้องระวังคำตอบของเรื่องนั้น จะไปขัดกันกับคำตอบเรื่องรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ต้องคิด แต่ตนยังคิดไม่ออก เพราะคนอื่นเป็นคนเสนอ อาจต้องถามคนเสนอ ว่าคิดอย่างไร
รองนายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่กำลังแก้ไขเพิ่มเติม เพราะหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อให้มีการทำประชามติ ต้องคิดเผื่อวันหลังกรณีเกิดคิดว่าจะทำเรื่องอื่น เพื่อจะได้ไม่ต้องมานั่งแก้กันอีก จึงอาจต้องเผื่อทิ้งเอาไว้ ส่วนจะใช้หรือไม่ใช้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การใส่เอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คงไม่ถึงกับต้องตั้งคำถามเอาไว้ เพราะการทำประชามติ มันมุ่งไปสู่เรื่องว่าจะรับ หรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกมธ.ยกร่างฯ เท่านั้น เพียงแต่ต้องตระหนักว่า สังคมยามนี้ ต้องการให้ถามอย่างอื่น
" ที่เรายอมรับได้คือ ให้ถามอย่างอื่นด้วย ไม่ว่ากัน เพราะอยู่ในวงเงินที่จะต้องทำประชามติอยู่แล้ว ไม่ได้เสียเวลาอะไร เพียงแต่ต้องคิดไม่ให้คำตอบขัดแย้งกับคำตอบเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่เราไม่ยอมรับ ที่จะมาถามอย่างอื่นแทน คือ ไม่ถามเรื่องรัฐธรรมนูญเลย อย่างนั้นไม่เอา และไม่เสี่ยง" นายวิษณุ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายกังวลเรื่องนี้จะกลายเป็นระเบิดเวลา นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถเป็นห่วงกันได้ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เป็นระเบิด และลุกลาม คนที่มีหน้าที่ต้องไปคิด ถ้าเราถือว่า นี่ เป็นการถามใจประชาชนก็ไม่มีอะไรผิดที่จะต้องถาม ไม่เอาก็บอกมาว่าไม่เอา คนจะได้รู้ว่าไม่เอา แต่อีกกรณีคือหากเอาขึ้นมา ซึ่งถ้าจะถามก็ต้องเปิดทางให้ถามได้ เมื่อถามว่า มีผลโพลสนับสนุนให้รัฐบาลปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง จะเป็นปัจจัยให้คิดได้หรือไม่ว่าควรจะต้องทำ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้สนใจ และไม่ได้เป็นปัจจัยให้คิดว่า จะทำ หรือไม่ทำ เพราะสัปดาห์หน้า อาจจะสำรวจออกมาอีกอย่างก็ได้
เมื่อถามว่า ใครจะเป็นคนตัดสินใจเรื่องรูปแบบ นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลไม่เป็นคนออกแบบแน่ และไม่ต้องเอาไปใส่ไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการทำประชามติ แต่ต้องคิดกระบวนการขึ้นมา แม้กระทั่งเรื่องคำถาม เรื่องรัฐธรรมนูญ จะถามอย่างไร ยังไม่ใส่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเลย

** "บิ๊กตู่"ท่องคาถา "ทำตามโรดแมป"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง กรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมล่ารายชื่อประชาชน 5 หมื่นคน เพื่อแสดงเจตจำนง ขอให้รัฐบาลทำประชามติปฏิรูปประเทศ 2 ปีก่อนเลือกตั้ง ว่า ใครล่า ล่ามาทำอะไร ตนไม่สนใจ เป็นเรื่องของโรดแมปจบ เลิกถามเรื่องนี้กับตนได้แล้ว

** ผบ.ทบ.การันตีไม่มีปฏิวัติซ้อน

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงการวามาตรการ ในการดูแลช่วงรณรงค์ ร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนลงประชามติว่า คิดว่าประชาชนมีความเข้าใจ อาจมีคนไม่เห็นด้วยบ้างเกี่ยวกับผลกระทบประโยชน์ของเขาหลายประการ แต่เชื่อว่า ขณะนี้เราอยู่ได้ด้วยคนส่วนใหญ่ที่เข้าใจรัฐบาล และ คสช. ซึ่งนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า ไม่ยึดติดในสิ่งเหล่านี้ แต่ก้าวเข้ามาเพราะเกิดวิกฤตรุนแรงจริงๆ ถ้าไม่แก้ไข ก็คงไม่เรียบร้อยเหมือนในขณะนี้ ซึ่งมองไม่ออกว่าถ้าไม่เข้ามาตอนนี้จะเป็นอย่างไร แต่เมื่อเข้ามาแล้วสถานการณ์เรียบร้อยทุกคนก็อย่าลืมภาพที่ผ่านมา ว่าเหตุการณ์ต่างๆ เกิดจากความไม่เข้าใจ ไม่สามัคคี และไม่ปรองดองกัน ตอนนี้จึงต้องร่วมมือ และพูดคุยกันตามช่องทางที่ถูกต้อง เข้าใจว่าทุกอย่างจะผ่านพ้นไปด้วยดี
"ของวิงวอนให้ทุกคนเข้าใจ และเราสามารถแสดงความคิดเห็นตามกรอบได้ เมื่อเรียบร้อยไปตามโรดแมป ก็คงดำเนินการไปตามนั้น แต่ระยะเวลาในโรดแมป ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย ถ้าราบรื่นดีก็จะเป็นไปตามที่วางไว้ แต่อาจจะมีการปรับเวลายืดออกไปบ้าง ก็คงไม่มากอะไรนัก อยู่ที่ขั้นตอนต่างๆ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นต้น ทางรัฐบาลไม่ได้ไปกะเกณฑ์อะไร เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องออกมาว่าจะมีอะไรที่จะแก้ไขหรือไม่ เวลาอาจขยับไปบ้าง แต่คงไม่ยาวนานเกินไปกว่าที่พวกเรารอคอย " ผบ.ทบ. ระบุ
เมื่อถามว่า มีข่าวลือเรื่องปฏิวัติซ้อน หลังข่าวเรื่องสถาบันฯ พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ไม่มีแน่นอน กองทัพยังยึดถือนโยบายรัฐบาล และตัวท่าน นายกรัฐมนตรี ทุกอย่างเป็นไปตามต้องการในการทำให้ประเทศชาติมั่นคง องค์การที่อยู่ภายใต้รัฐบาล ก็ร่วมมือร่วมใจกันดี กองทัพพร้อมช่วยรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี อย่างเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น