สวนดุสิตโพลชี้ประชาชน 76.94 % หนุนปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ให้เวลา 2 ปี ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ การศึกษาและการเมือง ตามลำดับ "ไพบูลย์" อ้างเป็นเรื่องของประชาชนที่จะไปล่าชื่อหนุนให้ "ประยุทธ์" อยู่ต่อ "สุริยะใส" ชี้กระแสต่ออายุรัฐบาลมาจาก 5 ปัจจัย ย้ำเป็นเรื่องละเอียดอ่อน คสช. ต้องคิดให้มาก ปชป.ดักคอ ต้องชี้แจงให้ชัดจะปฏิรูปเรื่องอะไรบ้าง ขณะที่ ”ทักษิณ" โพสต์ IG ดูบอลยูฟ่าฯ นัดชิงที่เยอรมัน ใช้พาสปอร์ตมอนเตเนโกร
จากที่มีกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศก่อน จึงจะมีการเลือกตั้ง โดยให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. บริหารประเทศไปในลักษณะเช่นนี้ก่อน เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน กรณี ปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง สวนดุสิตโพล จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,249 คน ระหว่าง วันที่ 3-6 มิ.ย.58 สรุปผลได้ ดังนี้
1. ประชาชนคิดอย่างไร กับ กรณีที่มีกระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนจึงจะมีการเลือกตั้ง โดยให้พล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศไปก่อน
อันดับ 1 ควรปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น จะได้ไม่มีความขัดแย้งหลังการเลือกตั้ง 76.94% อันดับ 2 การปฏิรูปควรให้ความสำคัญกับปัญหาเร่งด่วน โดยเฉพาะเศรษฐกิจ การเมือง และการทุจริต 73.18% อันดับ 3 จะใช้วิธีการใดก็ได้ ขอเพียงบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ 57.65% อันดับ 4 ควรมีการชี้แจงถึงข้อดีข้อเสียของการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ51.64% อันดับ 5 อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นการเมืองรูปแบบเดิมๆ 50.07%
2. สิ่งที่ประชาชนอยากให้มีการปฏิรูปให้แล้วเสร็จก่อน คือ อันดับ 1 เศรษฐกิจ 74.22% อันดับ 2 การศึกษา 72.06%
อันดับ 3 การเมือง 68.69% อันดับ 4 ทุจริตคอร์รัปชัน 67.50% อันดับ 5ระบบราชการ 65.88%
3. นับจากวันนี้ ประชาชนคิดว่าควรใช้เวลานานเท่าใดในการปฏิรูปประเทศเพื่อให้พร้อมสู่การเลือกตั้ง อันดับ 1 เป็นเวลา2 ปี 36.20% เพราะ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่ช้าไม่เร็วจนเกินไป ทำให้มีเวลาในการปฏิรูปและพัฒนาประเทศ ฯลฯ อันดับ 2เวลา 1 ปี 31.09% เพราะ อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติ ฯลฯ อันดับ 3 เวลา3 ปี 18.19% เพราะ เป็นเรื่องสำคัญ ละเอียดอ่อน ควรศึกษาข้อมูลจากหลายๆฝ่าย อยากได้นักการเมืองที่ดี เป็นการเมืองที่ใสสะอาด ฯลฯ
อื่นๆ ไม่แน่ใจ แล้วแต่สถานการณ์และความเหมาะสม ,ไม่เกิน 5 ปี, ใช้เวลาเท่าใดก็ได้ 14.52%
4. ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้มีการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง อันดับ 1เห็นด้วย 75.11%
เพราะ จะได้มีความพร้อมในทุกๆด้าน ไม่เกิดปัญหาภายหลัง ประเทศจะได้เดินหน้า มีเสถียรภาพ เป็นประชาธิปไตย ฯลฯ อันดับ 2 ไม่เห็นด้วย 24.89% เพราะ อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว การปฏิรูปไม่น่าจะแก้ปัญหาให้หมดไปได้ อาจต้องใช้เวลานานมาก ฯลฯ
** สปช.โบ้ยเป็นเรื่องของประชาชน
นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะนำข้อเสนอให้ทำประชามติให้รัฐบาลอยู่ปฏิรูปประเทศต่อไปอีก 2 ปี ก่อนการเลือกตั้ง เข้าหารือยังที่ประชุม หลังสมาชิก สปช. มีความเห็นแตกต่างกันว่า เรื่องดังกล่าว ก็เป็นความเห็นส่วนบุคคลของสมาชิกแต่ละคน เท่าที่ฟังเป็นความเห็นที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายจริง ซึ่งแต่ละฝ่ายมีจำนวนเท่าไร ก็ยังไม่ชัดเจน เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานที่ไม่ตรงกันอยู่
ทั้งนี้ ตนคิดว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของ สปช. ที่จะต้องมีมติ หรือมีความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา เพราะตามที่ตนได้เสนอในที่ประชุม ก็ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า เป็นเรื่องของประชาชนที่จะร่วมลงชื่อกันเอง เพื่อเสนอไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดังนั้นการที่สมาชิก สปช. จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็เป็นเรื่องส่วนตัวในฐานะประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น ส่วนข้อถกเถียงดังกล่าวจะนำไปสู่การต่ออายุของ สปช. ด้วยหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะข้อเสนอดังกล่าว คือการทำประชามติถามประชาชนว่า จะให้ คสช. กับครม. บริหารราชการแผ่นดินต่อไปอีก 2 ปี เพื่อปฏิรูปให้แล้วเสร็จหรือไม่ หากประชาชนมีมติออกมาให้ คสช. กับครม. อยู่ต่อ การจะกำหนดแนวทางปฏิรูปเอาไว้อย่างไร แล้วจะให้แม่น้ำสายอื่นๆ อยู่ด้วยหรือไม่ จึงเป็นเรื่องของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะที่เป็นหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องเป็นคนตัดสินใจต่อไป
เมื่อถามถึงความคืบหน้าของการล่ารายชื่อประชาชน เพื่อยื่นเสนอไปให้พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาตัดสินใจนั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของประชาชน ที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งเท่าที่ทราบตอนนี้ก็มีกลุ่มที่แสดงตัวออกมาชัดเจนว่า หนุนแนวทางดัวกล่าว ก็อย่าง หลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย พร้อมเครือข่ายภาคประชาชน ที่พยายามเร่งรวบรวมให้ครบตามจำนวนอยู่ ก็คาดว่าเร็วๆ นี้ น่าจะครบตามจำนวนได้
อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่จะทำให้การทำประชามติคุ้มค่า เพราะคิดว่านอกจากจะถามว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ถ้ามีคำถามอื่นๆ ที่เป็นของแถมจะต้องถามประชาชน ก็ให้ถามไปในคราวเดียวกัน จะน่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะเรามีปัญหาสำคัญที่เป็นผลประโยชน์ของชาติโดยส่วนรวมหลายเรื่องที่ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
** ชี้กระแสต่อายุรัฐบาลมาจาก 5 ปัจจัย
นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า กระแสต่ออายุรัฐบาล 2 ปี เพื่อทำการปฏิรูปประเทศ ก่อนเลือกตั้งนั้น เป็นกระแสที่คาดหมายได้ แต่ที่แปลกใจคือ กระแสนี้มาเร็ว และมาแรงเกินคาด โดยเฉพาะท่าทีที่ไม่ปฏิเสธของนายกฯ และระดับสูงในคณะคสช. ซึ่งกระแสนี้น่าจะเกิดจากสาเหตุ 5 ประการ คือ
1. ความไม่เชื่อมั่นว่าเมื่อกลับไปเลือกตั้งแล้ว การเมืองจะกลับคืนสู่สภาวะปกติ ไม่แตกแยกเผชิญหน้ากันอีก
2. รูปธรรมของการปฏิรูปยังไม่ชัดเจน ไม่เป็นรูปเป็นร่าง
3. ผลงานของ คสช. กล้าทำ กล้าแก้ปัญหาในเรื่องใหญ่ๆ ที่รัฐบาลปกติทำไม่ได้ หรือไม่ทำ เช่น ปัญหาสลากราคาแพง ปัญหาบุกรุกที่ป่าสงวน ปัญหาค้ามนุษย์ เป็นต้น
4.พรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคที่มีโอกาสตั้งรัฐบาล หรือชนะเลือกตั้ง ยังไม่ปฏิรูปตัวเอง ซึ่งอาจทำให้ได้ผู้มีอำนาจหน้าเดิมๆ
5. ยังไม่เห็นสัญญานปรองดองที่เป็นรูปธรรม ซ้ำร้ายความแตกแยกขัดแย้งยังปรากฏอยู่เป็นระยะ
แม้กระแสต่ออายุของรัฐบาลจะมีที่มาที่ไปก็ตาม แต่ผู้เกี่ยวข้องต้องระมัดระวัง เพราะเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ต้องคิดกันให้มาก ที่สำคัญระยะเวลาตามโรดแมปของ คสช. ก็เหลือเวลากว่า 1 ปี ถ้าจะทำเรื่องปฏิรูปให้ป็นเรื่องเป็นราว ก็ยังอยู่ในวิสัยที่พอทำได้
ส่วนฝ่ายการเมืองที่คัดค้านประเด็นนี้ ก็ต้องกลับมาคิดปฏิรูปพรรคให้เป็นรูปธรรม เพราะความไม่ไว้วางใจต่อนักการเมืองเพิ่มสูงมากขึ้นจนน่าใจหาย จนส่งผลต่อสถาบันการเมืองในภาพรวม
"ผมเป็นห่วงว่า การทำประชามติเรื่องต่ออายุรัฐบาล อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดก็ได้ อาจเกิดความแตกแยกซ้ำซ้อนเข้ามาอีก เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหว การทำสัญญาประชาคมจัดทำโรดแมปร่วมกัน กางปฏิทินกำหนดหลักไมล์ปฏิรูปให้ชัดเจน ว่าจะทำเรื่องใดบ้าง โดยเชิญทุกฝ่ายมาพูดคุยอาจจะดีกว่า" นายสุริยะใส กล่าว
**อยากเลือกตั้ง ฝ่ายการเมืองต้องหยุดป่วน
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึง การเดินทางไปชี้แจงคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันนี้ ( 8 มิ.ย.) ว่า ทางคณะของตนจะมีผู้ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ร่วมกับตน คือ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง นายอุดม เฟื่องฟุ้ง สปช. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และ นายนิรันดร์ พันทรกิจ สปช. ด้านอื่นๆ โดยการชี้แจงของทางกลุ่มจะนำเสนอให้ทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้เขียนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีเนื้อหาที่สั้น กระชับ และนำเนื้อหาที่เป็นรายละเอียด เอาไปใส่ในกฎหมายลูก ซึ่งเป็นการเขียนร่างฯ ตามหลักสากล ซึ่งตนเห็นว่า หากตัดในส่วนเนื้อหาที่มีการขยายความออกไปนั้น ก็ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างอยู่นี้ เหลือเพียงแค่ 118 มาตรา อีกทั้ง การชี้แจงของคณะของตน ก็จะไปชี้แจงให้ทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯได้ทราบว่า โครงสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ควรออกแบบให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีกลไกการตรวจสอบที่เข้มข้น มีมาตรการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ
ส่วนประเด็นที่มีสมาชิกสปช. บางราย ต้องการให้มีการทำประชามติ ในประเด็นที่ว่า ขอให้มีการปฏิรูปประเทศให้เรียบร้อยก่อนการเลือกตั้ง เป็นระยะเวลา 2 ปี นั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่มีข้อยุติ เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคล ที่ยังต้องมีการถกเถียงกันต่อไป ส่วนที่ฝ่ายการเมืองออกมาคัดค้านแนวคิดนี้ ตนเห็นว่า ที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองได้ทำให้บ้านเมืองเกิดวิกฤตขึ้น ดังนั้นหากฝ่ายการเมืองต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ก็ควรจะให้ความเชื่อมั่นต่อประชาชน ว่า จะไม่ทำสิ่งใดที่ก่อให้เกิดวิกฤตอีก เพราะที่ผ่านมา ประชาชนมีความวิตกกังวลว่า หากมีการเลือกตั้งแล้ว ความขัดแย้งจากฝ่ายการเมือง ยังคงมีอยู่ บ้านเมืองก็จะกลับไปเป็นแบบเดิม เพราะฉะนั้นหากฝ่ายการเมืองยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดวิกฤตแล้ว คงจะไม่มีเหตุผลใดที่จะทำให้ผู้มีอำนาจ เลื่อนจัดการเลือกตั้งออกไปตามกำหนดที่วางไว้ได้
** "วิษณุ" แย้มทำประชามติได้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีที่มีการเสนอให้มีการทำประชามติ เพื่อให้รัฐบาลยู่ทำงานปฏิรูปต่ออีก 2 ปี เรื่องการต่ออายุของรัฐบาลเพื่อทำการปฏิรูปนั้น สามารถทำได้ แต่เป็นเรื่องที่ สมควรหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไตร่ตรองเวลานี้ และการทำประชามติ หากเราอยากรู้อะไรที่เป็นหลักการ และไม่เกี่ยวกับเรื่องตัวบุคคลสามารถถามได้
เมื่อถามว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ที่จะยืดเวลาเพื่อปฏิรูปออกไปอีก 2 ปี นายวิษณุ กล่าวว่า ตนอยากตอบ แต่ถ้าตอบไป จะถูกนำไปเชื่อมโยงกับกรณีข้อเสนอของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ เมื่อถามต่อว่า ถ้าตัดประเด็นของนายไพบูลย์ออกไป โรดแมปของ คสช. จะยังเหมือนเดิมหรือไม่ นายวิษณุชี้แจงว่า จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้อีก 2 - 3 วัน ในรูปแบบข่าวอย่างเป็นทางการ
**ปชป.ขอชี้แจงเรื่องที่จะปฏิรูปให้ชัด
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ยังไม่เห็นแนวคิดว่าจะเป็นอย่างไร ตอนนี้มีการพูดถึงการปฏิรูป ว่าจะไม่เรียบร้อย นายกฯ เองก็พูดว่า เรื่องนี้ต้องไปดูวิธีการว่าให้มีความชอบธรรมหรือไม่ โดยไม่ให้มองว่าเป็นการขยายอำนาจ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทุกคนก็อยากเห็นการปฏิรูปให้มีความมั่นคง ถ้าเป็นเช่นนั้น ทุกอย่างก็พอจะยืดหยุ่นได้ แต่ก็คงพูดกันไม่ได้ว่า ใช้เวลาเท่าไรจึงจะเหมาะสม
"คำว่าปฏิรูปสำเร็จ มันจะวัดกันอย่างไร 2 ปี ตกลงจะปฏิรูปตำรวจไหม แยกสอบสวนออกมาจาก สตช. ภายใน 2 ปีหรือเปล่า หรือว่าเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดภายใน 2 ปี หรือเปล่า ถ้ามันมีความเป็นรูปธรรมแบบนี้ ก็อาจจะทำให้ประชาชนมองเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น แต่ถ้าพูดเฉยๆ ว่าปฏิรูปเสร็จก่อน ตรงนี้จะแปลว่าอะไร นายกฯ ก็คงต้องไปคิดว่า ปฏิรูปสำเร็จหรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จก็คงถูกต่อว่าอีก" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ขอให้ผู้เสนอให้อยู่ต่ออีก 2 ปีเพื่อปฏิรูป ออกมาชี้แจง หรืออธิบายสังคมให้ชัดว่า การปฏิรูปนี้ หมายถึงอะไร และมีเนื้อหาสาระด้านใดบ้าง หากหมายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยกร่างกฎหมายลูก แล้วมีหลักประกันอะไร ที่จะให้กับประชาชนว่าถ้าครบ 2 ปีที่ปฏิรูปเสร็จแล้ว คนไทยจะหันหน้ามากอดกัน ปรองดองกัน
" กรณีที่ สปช.บางกลุ่ม ชื่นชม ตบมือเชียร์ให้นายกฯ อยู่ต่อ ผมไม่แปลกใจ เพราะคนพวกนี้ล้วนมาตามอำนาจแต่งตั้งของคสช. ทั้งสิ้น เขาก็ต้องเชียร์ให้นายกฯ อยู่ต่อ เพื่อที่พวกเขาจะได้อยู่ต่อไปด้วย ผมขอเตือนท่านนายกฯ ให้ระวังคุณไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. และกมธ.ยกร่างฯ ที่ออกมาเชียร์เรื่องนี้ ระวังจะเข้ารกเข้าพง เพราะปัญหาหลักที่จะเกิดหากอยู่ยาว นอกจากต่างประเทศแล้ว คนที่จะเชื่อมั่นนายกฯ คือ คนชั้นกลางและข้าราชการประจำที่มีเงินเดือน แต่ผู้ที่รับผลกระทบคือ ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน และคนหาเช้ากินค่ำ ที่ไร้รายรับประจำ ถ้าผู้มีอำนาจไม่คุ้มครองดูแลคนจน เมื่อถึงขาลงมันจะลำบาก จนต้องฆ่าเสืออย่างที่นายกฯว่า" นายนิพิฏฐ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเสนอให้ทำประชามติถามความเห็นประชาชน พ่วงกรณีนี้กับการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่นายไพบูลย์ เคยเสนอ นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า เหมือนการส่งสัญญาณให้ฉีกโรดแมปที่วางไว้แล้ว เมื่อเบอร์ 1ในรัฐบาลพูด คนในสังคมต้องฟัง จากเดิมที่วางโรดแมปว่าจะเลือกตั้งปลายปี 58 เลื่อนมาเป็น ก.พ. 59 อ้างทำกฎหมายลูก แล้วเลื่อนมาเป็น พ.ค. 59 บอกไม่ทัน จนถึงอ้างทำประชามติเลื่อนมาเป็น ก.ย.59 สัญญาณล่าสุด คืออยู่ต่ออีก 2 ปี หรืออยู่ยาว จึงขอเตือนในฐานะกัลยาณมิตรที่ไม่เคยวิจารณ์นายกฯเลย แต่เที่ยวนี้ต้องเตือนดังๆ ขอให้ระวังคนรอบตัวให้ดี คนยิ่งสูง จะยิ่งหนาว เพราะคนรอบข้างไม่มีใครกล้าเตือน มีแต่ประเภทดีครับผม เหมาะสมครับนาย ใช่ครับท่าน ทั้งนั้น
** ภาคเศรษฐกิจหนักใจราคาข้าว-ยาง
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ รองประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ ประธานกรรมการสภาหอการค้าไทย กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง จะมีผลต่อภาพรวมด้านเศรษฐกิจ และกระทบต่อการเข้ามาลงทุนในประเทศหรือไม่ ว่าไม่ทราบว่ารัฐบาลจะต่ออายุ 2 ปีหรือไม่ เพราะในภาคเศรษฐกิจไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งการเมืองเป็นอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น เรามองด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งทุกรัฐบาล ก็ส่งเสริมธุรกิจให้เติบโต แข็งแรง และทำกิจการให้สะดวก เพราะถ้าเศรษฐกิจแข็งแรง รัฐบาลก็เก็บภาษีได้มากขึ้น ดังนั้นการต่ออายุหรือไม่ ไม่ได้เป็นเรื่องที่กังวล อย่าไปคาดเดาว่าจะมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งหรือไม่
ขณะนี้เศรษฐกิจของเราแข็งแรง เพราะเงินเดินสะพัดยังเกินดุลอยู่ อีกทั้งการนำเข้าด้านพลังงาน ยังลดลงอีก ซึ่งทำให้ประหยัดงบประมาณได้กว่า 3 แสนล้านบาท แม้ว่าจะมีการปัญหาเรื่องของการส่งออกบ้าง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหา เช่น สหภาพยุโรปประสบปัญหาเศรษฐกิจไม่ดีทำให้ต้องลดค่าเงินตัวเอง 10 - 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เขาซื้อของเราน้อยลง แต่ช่วงนี้สัญญาณเริ่มดีขึ้น
เมื่อถามว่า หากมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เศรษฐกิจในภาพรวมยังพอไปได้หรือไม่ นายอิสระ กล่าวว่า บางส่วนที่ลำบากคือ เรื่องข้าวเคยได้ในราคาตันละ 14,000-15,000 บาท ก็เหลือ 8,000-9,000 บาท เพราะในอดีตมีเงินสนับสนุนจำนวนมาก ส่วนยางพารา ราคาลดลงมาเหลือ 50 กว่าบาท จากเดิมกิโลกรัมละ 90-100 บาท แต่ก็ถือเป็นภาวะเศรษฐกิจของโลก แต่เราก็ต้องปรับตัว เพราะถือว่าสินค้าทั้ง 2 ตัวนี้ เป็นสินค้าหลักของประเทศ แต่ก็ยังมีเรื่องดีก็คือ ภาคการท่องเที่ยว ที่ทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ดูจากในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 23-24 เปอร์เซ็นต์ ถือว่านักท่องเที่ยวเข้ามาเกินเป้า คาดว่าทั้งปี เราจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 28.5 ล้านคน จากเดิม 25 ล้านคน จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจของเราจะยังคงไปได้ดี
***"ทักษิณ" โพสต์ IG ดูบอลยูฟ่าฯ นัดชิง
เมื่อกลางดึกวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ภาพผ่านอินสตาแกรม @thaksinlive เป็นบรรยากาศภายในโอลิมปิก สเตเดียม กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในระหว่างร่วมเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก รอบชิงชนะเลิศ ระหว่างบาร์เซโลน่ากับยูเวนตุส
โดยระบุข้อความว่า "มาดูบอลคู่ชิง Champions League ประจำปี 2015 ที่กรุงเบอร์ลินประเทศเยอรมัน ระหว่างทีม Barcelona ทีมเก่งจากสเปนกับทีม Juventus จากอิตาลี ใจชอบ Barcelona แต่อดเชียร์ Tevez striker ของ Juventus ไม่ได้ เพราะเพิ่งย้ายมาจาก Manchester City เท่ากับ striker ของ ทีมชาติ Argentina ด้วยกันแต่มาอยู่คนละทีมคือ Messi กับ Tevez"
รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ขอเดินทางเข้าประเทศเยอรมนีด้วยหนังสือเดินทางของประเทศนิคารากัวที่ถืออยู่ แต่ไม่ได้รับอนุญาต จึงจำเป็นต้องเดินทางไปทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ที่ประเทศมอนเตเนโกรก่อน และใช้ขออนุญาตเข้าประเทศเยอรมนีอีกครั้ง ก่อนที่จะได้รับอนุญาตในที่สุด.