กมธ.ปฏิรูปการเมือง-กฎหมาย ร่วมแถลงสรุปคำขอแก้รัฐธรรมนูญ ลดให้กระชับเหลือ 100 กว่ามาตรา เลือกตั้งแบบสัดส่วนคู่ขนาน เลิกโอเพนลิสต์ ปรับให้ศาลฎีกาถอดถอนแทน ส.ว. นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น ตัดมาตรา 181-182 เสนอ คกก.ประเมินบิ๊กโปรเจกต์รัฐ ไม่ตัดสภาขับเคลื่อนปฏิรูปแต่ต้องเปิดกว้าง เผย 2 กมธ.เห็นพ้องรื้อทั้งฉบับ ตัดภาคออกไป จัดเป็นหมวดๆ ชี้ยกร่างแล้วต้องเร่งกฎหมายลูกไม่เกิน 1 ปี เสนอ ให้กฎหมายที่ไม่มีการพระราชทานคืนมาตกไป
วันนี้ (25 พ.ค.) ที่รัฐสภา คณะอนุกรรมาธิการร่วมจัดทำประเด็นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงบทสรุปการเสนอคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังได้ยื่นต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดย นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกันมีความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่ยาวมากนัก โดยเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้เหลือ 100 กว่ามาตรา ส่วนในรายละเอียดให้ออกเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เราตั้งใจให้รัฐบาลมีความเข้มแข็ง ขณะเดียวกันก็ให้กลไกการตรวจสอบมีประสิทธิภาพ โดยเสนอให้มีการจัดการเลือกตั้งแบบสัดส่วนคู่ขนาน ซึ่งไม่ได้ทิ้งระบบสัดส่วนผสมทั้งหมด โดยกำหนดให้รัฐสภา ประกอบด้วย ส.ส.500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน ซึ่งการแบ่งเขตเป็นเขตใหญ่ เขตละไม่เกิน 2-3 คน ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ยกเลิกระบบโอเพนลิสต์ แต่ให้เป็นบัญชีรายชื่อ โดยใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 100 คน เช่น รัฐธรรมนูญ 50 ส่วน ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จังหวัดละ 2 คน รวม 154 คน โดยคุณสมบัติจะต้องมีความเข้มข้น เพราะขณะนี้ ส.ว.มีอำนาจมากกว่า ส.ส.
นายสมบัติกล่าวว่า ขณะที่กลไกการตรวจสอบ ได้ให้ ส.ส.ลงชื่อจำนวน 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ยื่นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อส่งเรื่องให้คณะกรรมการไต่สวนอิสระ ที่เป็นตัวแทนจากองค์กรอิสระต่างๆ จำนวน 7 คน ทำหน้าที่ไต่สวนความผิด หากพบว่ามีมูลการทุจริตเป็นคดีอาญา ให้ส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นผู้ตัดสิน ขณะเดียวกันหากเป็นการชี้มูลเรื่องการถอดถอน ให้คณะกรรมการไต่สวน ส่งไปยังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อดำเนินการถอดถอนโดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง เพราะหากให้ ส.ว.ใช้เสียง 3 ใน 5 ถอดถอน คงมีปัญหาเหมือนในอดีต ที่การถอดถอนมักไม่สำเร็จ
นายสมบัติกล่าวต่อว่า ขณะที่นายกรัฐมนตรี ต้องมาจากส.ส.เท่านั้น นอกจากนี้ ยังให้มีการตัดมาตรา 181 และ 182 เนื่องจากเกรงว่าหากฝ่ายการเมืองในอนาคตเข้ามาเสนอกฎหมายที่น่ากลัว และเป็นอันตรายก็อาจเกิดปัญหาขึ้นอีกได้ รวมทั้งเสนอให้มีคณะกรรมการประเมินผล ทำหน้าที่ประเมินผลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล เพื่อศึกษาความคุ้มค่า ซึ่งจะทำให้การบริหารงานมีความโปร่งใสมากขึ้น และป้องกันไม่ให้ ส.ส.มีส่วนได้เสีย ส่วนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คิดว่าถ้ารัฐธรรมนูญประกาศใช้จะมีเวลาประมาณ 1 ปี ในการจัดทำกฎหมายลูกที่เชื่อว่าจะครอบคลุมการปฏิรูปทั้งหมด โดยเรายังไม่ได้ตัดสภาขับเคลื่อนฯ แต่จะเสนอให้บุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว ต้องมาอย่างเปิดกว้าง
“รัฐธรรมนูญควรเขียนให้มีสาระสำคัญ กระชับ เป็นไปตามหลักสากล เพราะเราต้องการให้รัฐธรมนูญฉบับนี้ใช้ไปในอนาคตอีกร้อยปี ไม่ใช่ใช้แค่ไม่กี่ปีก็ถูกฉีกอีก ซึ่งทั้งหมดที่เสนอไปนั้น กมธ.ยกร่างฯ จะนำไปพิจารณาปรับแก้ทั้งหมดหรือไม่ เราไม่มีอำนาจในการตัดสิน เราถือว่าได้ทำหน้าที่ในส่วนที่เราต้องทำอย่างเต็มที่แล้ว เขาจะเอาไปใช้หรือไม่ใช้ก็แล้วแต่ เพราะแม้แต่คสช.เองยังบอกว่าไม่มีอำนาจในการแก้ไขอะไรในรัฐธรรมนูญทั้งนั้นส่วนจะส่งผลการโหวตร่างรัฐธรรมนูญใน สปช.หรือไม่นั้น การโหวตเป็นเรื่องของบุคคล เป็นเอกสิทธิ์ และเป็นอิสระของสมาชิกแต่ละคน” นายสมบัติกล่าว
ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ปฏิรูปกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช.กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ทั้ง 2 กมธ.เห็นตรงกันอยู่ที่เนื้อหา และการวางระบบโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ ซึ่งการเสนอขอแก้ไขถือเป็นการรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเลยก็ว่าได้ โดยในเนื้อหาของร่างเดิมได้กำหนดให้พระมหากษัตริย์กับประชาชนอยู่ในหมวดเดียวกัน ซึ่งความเห็นร่วมของคณะกมธ.เห็นว่า ควรจัดตามลำดับความสำคัญแบบสากล โดยให้หมวดพระมหากษัตริย์ออกจากประชาชน และหมวดพระมหากษัตรย์ต้องมาก่อน จึงเสนอโครงสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ คือ ตัดภาคออกไป และจัดเป็นหมวดๆ ดังนี้ หมวด 1 ทั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตรย์ หมวด 3 ประชาชนชาวไทย หมวด 4 ฝ่ายนิติบัญญัติ หมวด 5 ฝ่ายบริหาร หมวด 6 ฝ่ายตุลาการ หมวด 7 องค์กรตามรัฐธรรมนูญและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 8 ความมั่นคงของประเทศ หมวด 9 การพัฒนาประเทศ หมวด 10 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะกาล
นายเสรีกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น หลังจากที่ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จะต้องทำบัญชีของกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าต้องทำทั้งหมดกี่ฉบับ รวมทั้งกฏหมายที่ กมธ.แต่ละคณะต้องทำให้แล้วเสร็จมีกี่ฉบับ แล้วให้สปช.เร่งรัดการทำกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็นภายใน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี เพราะอย่างน้อยที่สุดจะต้องทำให้เห็นว่า แนวทางการปฏิรูปจะชัดเจนได้อย่างไร สำหรับการตรา พ.ร.บ.และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ มีประเด็นสำคัญคือ เมื่อกฏหมายผ่านสภาฯไปแล้ว ต้องมีการลงพระปรมาภิไธย แต่ที่ผ่านมาเมื่อไม่มีการพระราชทานกลับคืนมา กฎหมายจะถูกตีกลับมายังสภาฯ และประกาศใช้ได้ แต่แนวทางให้ที่เสนอคำขอแก้ไขคือ เมื่อไม่มีพระราชทานกฏหมายกลับมายังสภาฯ ก็ให้กฎหมายตกไป เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่มีเหตุสำคัญ เช่น ฝืนต่อเจตนารมย์ของประชาชนให้มีโอกาสไม่ผ่านได้
ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง คนที่ 1 กล่าวว่า เรื่องที่ของนายกฯ ได้มีการประชุม และได้ข้อยุติเมื่อช่วงเช้าวันนี้ โดยให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.อย่างเดียวเท่านั้น และจะไม่มีการเขียนเปิดช่องไว้ในบทเฉพาะกาลเพื่อนำบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นนายกฯ ในช่วงวิกฤต เนื่องจากการกำหนดให้ปลัดกระทรวงรักษาการรัฐมนตรีและให้เลือกปลัดกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งขึ้นมาเป็นรักษานายกฯ ก็จะสามารถอุดช่องโหว่ในยามบ้านเมืองเกิดวิกฤตได้อยู่แล้ว
ขณะที่นายนิรันดร์ พันทรกิจ เลขานุการอนุกมธ.ร่วมจัดทำประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในญัตติดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลงคำ เช่น พลเมือง มาเป็นคำว่า ประชาชนทั้งหมด รวมทั้งยังมีการตัดบางมาตราออกไปทั้งหมด เช่น มาตรา 181-182 หรือตัดบางประโยคออกไป แล้วเขียนใหม่ให้สอดคล้องกับแนวคิด หรือตัดมาตราต่างๆ ออกจำนวนหลายมาตราแล้วนำมาเขียนใหม่ แล้วนำมาสรุปให้เหลือเพียงมาตราเดียวหรือสองมาตรา แล้วให้นำความเหล่านี้ไปบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ 2 กมธ. มีสมาชิก สปช.ลงชื่อร่วมจำนวน 32 คน และประธาน กมธ.อีก 2 คน รวมเป็น 34 คน ซึ่งเป็น 1 ญัตติ มีประเด็นข้อแก้ไขทั้งสิ้น 129 ประเด็น รวมเป็นเอกสาร 123 หน้า