“สมบัติ” เผยพร้อมรวมแปรญัตติแก้ร่างรัฐธรรมนูญกับ กมธ.ปฏิรูปกฎหมาย ก่อนส่ง กมธ.ยกร่างฯ ไม่เกิน 25 พ.ค. รับตัดกลุ่มการเมือง เลิก ม.181-182 คืนอำนาจ กกต.ตามเดิม ให้ คกก.ประเมินผล ประเมินรัฐด้วย แก้คำว่าพลเมืองเป็น ประชาชน ยุบ คกก.ปรองดองที่มีอำนาจล้างผิด มี 2 ทางเลือกสภาขับเคลื่อนปฏิรูป ห้าม สปช.-สนช.นั่ง หรือปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง วิป สนช.คาดประชามติถึงมือไม่เกินต้นเดือนหน้า หนุน คสช.ไม่จุ้น รธน.
วันนี้ (20 พ.ค.) นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการสรุปความเห็นเพื่อเสนอแปรญัตติให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปรับปรุงแก้ไขว่า กรรมาธิการฯ จัดเตรียมญัตติเสร็จแล้วจะส่งให้กรรมาธิการปฏิรูปการเมืองในวันนี้ จากนั้นจะนำไปรวมกับการแปรญัตติของกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมาย โดยคาดว่าจะส่งคำแปรญัตติทั้งหมดให้แก่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้เร็วสุดในวันที่ 22 พ.ค. หรือช้าสุดวันที่ 25 พ.ค. ซึ่งตรงตามกรอบเวลาที่กำหนดอย่างแน่นอน
สำหรับประเด็นที่เสนอ เช่น ให้ตัดกลุ่มการเมืองออกเพราะไม่มีผลในทางปฏิบัติ กลุ่มการเมืองเล็กไม่มีโอกาสได้ เนื่องจากกำหนดเป็นภาคหากในภาคนั้นได้ไม่ถึง 7-8 หมื่นคนก็ไม่มีสิทธิได้ ส.ส. แตกต่างจากเดิมที่ใช้คะแนนรวมทั้งประเทศ ดังนั้น สิ่งที่กรรมาธิการยกร่างฯ คิดจึงไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ยังเสนอให้เลิกระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ตัดมาตรา 181 และ 182 ทิ้งเพราะเป็นการทำลายดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วน การจัดการเลือกตั้งให้ กกต.ดำเนินการเหมือนเดิมและมีอำนาจแจกใบแดงก่อนได้โดยเปิดช่องให้ผู้ได้รับผลกระทบยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์กลาง หรือศาลอุทธรณ์ภาคภายใน 7 วัน
นอกจากนี้ยังเห็นว่า ในส่วนของคณะกรรมการประเมินผลให้ประเมินโครงการรัฐด้วยไม่ใช่แค่ประเมินองค์กรอิสระเท่านั้น และให้เปลี่ยนคำว่า “พลเมือง” เป็นคำว่า “ประชาชน” เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน อีกทั้งส่วนการแสดงรายการเสียภาษีที่กำหนดไว้ 3 ปี ทางกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองฯ เห็นว่าควรจะเปลี่ยนเป็น 5 ปี ซึ่งเป็นไปตามรอบการประเมินภาษีของกรมสรรพากร และให้เปิดเผยต่อสาธารณชนด้วย รวมทั้งให้ยกเลิกคณะกรรมการปรองดองในภาค 4 การปฏิรูปและการปรองดองที่ให้อำนาจในการเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ โดยให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเสริมสร้างความปรองดองที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาทำหน้าที่แทน ส่วนเรื่องสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปนั้นมีความเห็นสองแนวทางคือ หากจะต้องมีสององค์กรนี้ที่มาต้องไม่ได้มาจาก สปช.และสนช.เหมือนที่กำหนดไว้ในขณะนี้ว่ามาจาก สปช.60 คน และ สนช.30 คน แต่ให้มีการสมัครแบบเปิดกว้างแทน หรือ อีกทางเลือกหนึ่งให้จัดทำกฎหมายปฏิรูปให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งโดยไม่จำเป็นต้องมีสภาขับเคลื่อนฯและคณะกรรมการยุทธศาสตร์
ด้านนายสมชาย แสวงการ เลชาวิป สนช.เปิดเผยว่า หลัง ครม.และคสช.มีมติที่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติแล้ว คาดว่าเรื่องน่าจะส่งมาที่ สนช.ได้ภายในปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า โดยสนช.มีสิทธิพิจารณาแค่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น การเสนอให้เปลี่ยนแปลงต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.และคสช. อีกทั้งยังเห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า คสช.จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพราะเป็นต้นสายของแม่น้ำทั้งห้าจะได้ไม่เกิดภาพว่ามีการชี้นำ แต่ให้เป็นหน้าที่ ครม.ซึ่งมีรัฐมนตรีที่ไม่ใช่คนของ คสช.อยู่ด้วยเป็นผู้พิจารณาแทน