xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ทดสอบเลือกตั้ง"โอเพ่นลิสต์" พบปัญหาเพียบ-นับคะแนน3วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 18 พ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้จัดสาธิตการลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ หรือ โอเพ่นลิสต์ ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่กำหนด โดยในการสาธิตครั้งนี้ ได้มีการจำลองหน่วยเลือกตั้งที่มีกรรมการประจำหน่วย จำนวน 9 คนตามที่กฎหมายกำหนด มีการนำบัตรเลือกตั้งตัวอย่าง ที่จัดทำขึ้นจำนวน 200 ฉบับ มาให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานกกต. ทดลองลงคะแนน โดยเริ่มเปิดการลงคะแนนตั้งแต่ เวลา 09.00-10.00 น.
อย่างไรก็ตาม บัตรเลือกตั้งตัวอย่างทั้งสองรูปแบบนั้น แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ยังเป็นลักษณะเดิม คือ มีหมายเลขผู้สมัคร และช่องกากบาท แต่บัตรเลือกตั้งโอเพ่นลิสต์ นั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นช่องสำหรับลงคะแนนพรรค หรือกลุ่มการเมือง ซึ่งในบัตรจะมีชื่อ และภาพสัญลักษณ์ของแต่ละพรรคปรากฏตามหมายเลขที่แต่ละพรรคจะได้รับ พร้อมช่องทำเครื่องหมายที่ไว้ให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้เลือกกากบาท และช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน
ขณะที่ส่วนที่ 2 จะเป็นช่องหมายเลขของผู้สมัคร และช่องทำเครื่องหมายให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง กากบาทว่าจะเลือกผู้สมัครหมายเลขใด ของพรรค หรือกลุ่มการเมือง ที่ผู้สมัครกากบาทในส่วนแรก และช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน ซึ่งในกรณีที่ผู้ใช้สิทธิกากบาทเลือกพรรค หรือกลุ่มการเมืองแล้ว แต่ไม่ได้กากบาทในช่องเลือกผู้สมัครหมายเลขใด ก็ไม่ถือว่าเป็นบัตรเสีย โดยคะแนนที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งพรรค ก็จะถูกนำไปรวมคำนวนเป็นจำนวนส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรค หรือกลุ่มการเมืองนั้นในภายหลัง ส่วนกรณีไม่มีการเลือกพรรค แต่เลือกผู้สมัคร จะถือว่าเป็นบัตรเสีย
ส่วนการนับคะแนนนั้น แบบแบ่งเขตยังเป็นรูปแบบเดิม แต่แบบโอเพ่นลิสต์ จะมีการนับคะแนนแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก จะนับคะแนนของแต่ละพรรค หรือกลุ่มการเมืองก่อน และแยกบัตรดีของแต่ละพรรคออก ก่อนที่จะนับคะแนนในขั้นตอนที่ 2 คือ นับคะแนนของผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ แต่ละหมายเลข โดยจะแยกนับทีละพรรค ก่อนจะนำคะแนนที่ได้ มาจัดลำดับบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค หรือกลุ่มการเมือง โดยเรียงตามผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดไปหาต่ำสุด เพื่อรอนำไปคำนวณต่อไป
ทั้งนี้ นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการ กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการสาธิตลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ว่า เหมือนการลงคะแนนเลือกตั้งส.ส.แบบทั่วไป แต่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะต้องจำหมายเลยผู้สมัครที่ตนชื่นชอบ เนื่องจากบัตรลงคะแนนเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ จะมีช่องให้ลงคะแนนให้กับพรรค และลงคะแนนเลือกผู้สมัครของพรรค หรือกลุ่มการเมืองนั้นๆ ที่ตนชื่นชอบด้วย
ภายหลังการสาธิตในครั้งนี้ กกต. จะสรุปอุปสรรคปัญหา ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น เสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป หากในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้ระบบโอเพนลิสต์ ก็จะเขียนรายละเอียดใน ร่าง พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. และกำหนดในระเบียบวิธีปฏิบัติของกกต.ด้วย
ขณะที่ นายนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. มองว่า การเลือกตั้งระบบโอเพนลิสต์ อาจสร้างความสับสนให้กับประชาชน และเกิดความยุ่งยากในการนับคะแนน เพราะขั้นตอนการนับคะแนน จะแยกนับคะแนนแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ โดยแบบบัญชีรายชื่อ จะแยกเป็นรายพรรคก่อน และนับคะแนนอีกครั้งในแต่ละพรรค เพื่อจัดลำดับที่ประชาชนต้องการ ดังนั้นระยะเวลาในการนับคะแนน จึงต้องเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ยังต้องเพิ่มอุปกรณ์ที่ใช้ในแต่ละหน่วยด้วย เพราะต้องจัดเตรียมให้พอกับพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมือง ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง
หลังการทดสอบการลงคะแนนเลือกตั้ง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง แถลงสรุปผลการสาธิตลงคะแนนแบบโอเพ่นลิสต์ พบว่า การให้ประชาชนใช้สิทธิลงคะแนน 3 ประเภท ไม่เป็นปัญหาต่อระยะเวลาการลงคะแนนที่กฎหมายกำหนดไว้ ว่าให้เลือกตั้งตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. โดยหน่วยเลือกตั้งหนึ่ง จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 800 คน หากมาใช้สิทธิ์ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ กกต.คิดว่าเอาอยู่ แต่ขั้นตอนการนับคะแนน มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น ในส่วนของบัญชีรายชื่อ ต้องนับสองขั้นตอน ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เมื่อคำนวณแล้ว หากมีผู้มาใช้สิทธิ์ 75 % หรือ 600 คน จะต้องใช้เวลานับรวมราว 5 - 6 ชั่วโมง โดยที่ยังไม่รวมปัญหาปลีกย่อย เช่น การประท้วง หรือนับแล้วจำนวนบัตรไม่ตรงกับบัญชี และหากให้นับรวมที่เขตเลือกตั้ง ก็ต้องเพิ่มเวลาของการขนส่ง การตรวจสอบหีบบัตรอีกราว 6 ชั่วโมง กับเวลาที่จะต้องใช้ในการนับที่หน่วย รวมกว่า 60 ชั่วโมง เพราะเขตเลือกตั้งมีขนาดใหญ่ขึ้น จากเดิม 400 เขต เหลือ 250 เขต ทำให้หน่วยเลือกตั้งต่อเขตมากขึ้น จากเดิมราว 300 หน่วย เป็นราว 400 หน่วยต่อเขต การเอาบัตรมาคลุกเพื่อนับรวม 1 เขตนับใช้ราว 10 กระดาน จะต้องใช้เวลานับ 3,600 นาที เท่ากับ 60 ชั่วโมง รวมแล้ว ต้องใช้เวลารวม 66 –70 ชั่วโมง หรือสามวันเศษ จึงจะประกาศผลเลือกตั้งได้ แต่หากกระจายจุดนับให้มากกว่า 1 จุด ในแต่ละเขตเลือกตั้ง เช่น นับรวมที่อำเภอ ก็จะลดเวลาลง แต่ก็อาจมีปัญหาจากกรณีหีบบัตรมาช้า ร้องทุจริตการขนส่ง อย่างไรก็ตามได้เสนอแนวทางไปยัง กมธ.ยกร่างฯ แล้วว่า หากหีบบัตรเลือกตั้งที่เกิดปัญหามีจำนวนบัตรที่ไม่กระทบจนเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อผลการเลือกตั้ง ก็ให้สามารถเริ่มนับจากหีบเท่าที่มีอยู่ได้
ทั้งนี้ จากการที่กรรมาธิการยกร่างกำหนดให้กลุ่มการเมืองสามารถลงสมัครได้ ทำให้ประเมินว่า ในการเลือกตั้งจะได้รับความสนใจจากพรรค และกลุ่มการเมืองลงสมัครมาก ซึ่งก็จะมีผลให้บัตรเลือกตั้งที่จะนำมาใช้ อาจต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยนายสมชัยได้แสดงตัวอย่างที่มีพรรค และกลุ่มการเมือง ส่งผู้สมัครรวม 280 พรรค จะทำให้ต้องมีบัตรเลือกตั้งขนาด 60 X 90 ซม.ทีเดียว
"ประมาณการณ์จากปัจจุบัน มีพรรคการเมืองแล้ว 74 พรรค ในอนาคตอาจมีกลุ่มการเมืองเพิ่มอีก 100–200 พรรค/กลุ่ม เช่น เกิดกลุ่มการเมืองจังหวัดละ 5 – 7 กลุ่ม เพราะกลุ่มการเมืองจัดตั้งง่ายกว่าพรรค ทั้งยังส่งผู้สมัครได้ทั้งสองแบบ เมื่อต้องให้มีหมายเลขเดียวกันทั้งสองแบบ เช่นเดียวกับพรรคการเมือง ก็ต้องมาจัดลำดับหมายเลขในบัตรเลือกตั้งด้วย และหากมีถึง 400 พรรค บัตรก็ต้องใหญ่ขึ้นไปอีก คำถามคือ หากให้มีกลุ่มการเมืองลงสมัครได้มาก บัตรเลือกตั้งของไทย อาจติดกินเนสบุ๊กเรคคอร์ด ว่าเป็นบัตรเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก"
อย่างไรก็ตาม ประชาชนก็ต้องจดจำพรรค และกลุ่มการเมืองจำนวนมาก และยังต้องจดจำลำดับบัญชีรายชื่อที่จะเลือก และระบบเลือกตั้งดังกล่าวยัง เป็นภาระของคณะกรรมการประจำหน่วย เพราะการดำเนินการที่ซับซ้อนมากขึ้น เกิดการสิ้นเปลือง เช่น ใช้อุปกรณ์มากขึ้น การจัดพิมพ์บัตรที่ใหญ่ขึ้น ปรับขนาดคูหาเพิ่มขึ้น หากมีการนับบัตรรวม อาจเพิ่มเวลานับถึง 70 ชั่วโมง บัตรเสียอาจเพิ่มขึ้น เพราะความซับซ้อน และอาจต้องใช้สถานที่กว้างกว่าเดิม
" ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ดำเนินการจะคุ้มกับเพียงการให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือก โอเพ่นลิสต์ หรือไม่ และเป็นไปได้ที่ประชาชนเลือกเบอร์ต้นๆ เพื่อไม่ให้เป็นภาระจดจำ ก็อาจทำให้เจตนารมรณ์จัดลำดับไม่เป็นผล แต่หากกมธ.ยกร่างฯ เห็นว่าคุ้มค่า กกต.ก็ดำเนินการจัดการได้" นายสมชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น