xs
xsm
sm
md
lg

เสนอแก้ พ.ร.บ.จราจรฯ จี้ คมนาคม-ขนส่ง-ท่องเที่ยว สางปมอุบัติเหตุ “นักปั่น”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ อุบัติเหตุรถกระบะชนท้ายรถจักรยานทำให้นักปั่นชาวชิลิีเสียชีวิต
“นักปั่น” สังเวยชีวิตบนถนนไทยหลายครั้ง เครือข่ายลดอุบัติเหตุสะท้อน ก.คมนาคม ขนส่งทางบก ก.ท่องเที่ยวและกีฬา ยังไม่ขยับแก้ปัญหา จี้ร่วมกันหาทางป้องกัน เสนอ 4 มาตรการ แก้ พ.ร.บ.จราจรทางบก รถใหญ่ให้เกียรติรถเล็ก มีมาตรการคุ้มครองชดเชยเมื่อรถจักรยานเกิดอุบัติเหตุ

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวถึงกรณีอุบัติเหตุรถกระบะชนท้ายรถจักรยาน ที่ ถ.มิตรภาพ เขตรอยต่อ อ.พล จ.ขอนแก่น กับ อ.บัวลาย จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา จนส่งผลให้นักปั่นจักรยานข้ามโลกชาวชิลีเสียชีวิต คือ นายฮวน ฟรานซิสโก ทั้งที่มีเป้าหมายปั่นจักรยาน 5 ทวีป เพื่อสร้างสถิติใหม่ลงในกินเนสส์บุ๊ก และมีผู้บาดเจ็บ 2 ราย ซึ่งเป็นภรรยาและลูกชาย วัย 2 ปี ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรก โดยปี 2556 เคยเกิดเหตุกับนักปั่นจักรยานรอบโลก 2 สามีภรรยาชาวอังกฤษ ถูกรถกระบะชนเสียชีวิตในพื้นที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา กลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก ทำให้ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นประเทศที่ไม่มีความปลอดภัยบนถนนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แม้จะผ่านมาเกือบ 2 ปี ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดที่จะดำเนินงานป้องกันแก้ไข และมีมาตรการป้องกันสำหรับผู้ใช้รถจักรยานอย่างจริงจัง จนทำให้ประเทศไทยมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานมากขึ้น

นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันหาทางแก้ไขป้องกันอย่างจริงจัง ไม่ปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจนเป็นความเคยชิน เพื่อให้คนขี่จักรยานและผู้ใช้รถใช้ถนนอื่นๆ ได้มีความปลอดภัยและลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องความปลอดภัยของคนขี่จักรยาน ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานยังไม่มีการตื่นตัวหรือขับเคลื่อนมาตรการใดๆ มารองรับที่จะสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้แก่คนใช้รถจักรยานทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตำรวจผู้บังคับใช้กฎหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอื่นๆ อีกหลายหน่วยงาน

“ทุกฝ่ายต้องร่วมป้องกันแก้ไขและกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยเดิม และนักปั่น ตลอดจนผู้ใช้รถ ใช้ถนน ต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิอันชอบธรรมในการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย ร่วมเสนอแนวทางเพื่อสร้างความปลอดภัย เช่น การเสนอให้มีเส้นทางเฉพาะรถจักรยาน การร่วมกันปรับเปลี่ยนทัศนคติของรถใหญ่ที่ควรให้เกียรติรถเล็กที่ร่วมเส้นทางเดียวกัน เนื่องจากการใช้รถจักรยานจะเป็นส่งเสริมการออกกำลังกาย ช่วยลดมลพิษ ประหยัดพลังงานแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย” นายพรหมมินทร์ กล่าว

นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า สคอ. ขอเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมผลักดันกำหนดมาตรการป้องกัน คือ 1. ต้องปรับแก้ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยกำหนดให้มีการคุ้มครองผู้ใช้รถจักรยานเพิ่มมากยิ่งขึ้น “รถใหญ่ต้องให้เกียรติและให้สิทธิรถเล็ก” พร้อมกำหนดบทลงโทษที่เข้มขึ้นกว่าเดิม 2. ต้องมีมาตรการคุ้มครองชดเชยเยียวยาผู้ใช้รถจักรยานเมื่อเกิดอุบัติเหตุเป็นการเฉพาะ 3. การกำหนดมาตรฐานของรถจักยานที่ปลอดภัยข้อปฏิบัติกรณีนำมาขี่บนถนนใหญ่ และ 4. ควรทำเลนจักยานให้ครอบคลุมและสร้างการรับรู้ร่วมกันทั่วประเทศ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น