“สุริยะใส” รับ เป็นเรื่องยาก กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนกรอบหลักของ รธน. เพราะมิเช่นนั้นอาจไปยกร่างกันใหม่ และรื้ออีกหลายสิบมาตราที่เกี่ยวข้อง ฟันธง สุดท้าย คสช.- นายกฯ หนุนประชามติ
วันนี้ (3 พ.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) แสดงความเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะทบทวนประเด็นที่กำลังมีการโต้แย้งกันอยู่ในขณะนี้ เพราะระบบคิดของกรรมาธิการยกร่างฯ ได้วางโครงสร้างของระบบการเมืองค่อนข้างใหม่ และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เข้มข้นกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ถ้าจะมีการทบทวนบ้างก็คงเป็นประเด็นปลีกย่อย เพราะหากไปรื้อกันใหม่ เช่น ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ก็ต้องรื้อมาตราอื่นๆ ประกอบอีกหลายสิบมาตรา ซึ่งกรรมาธิการก็จำเป็นต้องเดินหน้า ไม่เช่นนั้นร่างรัฐธรรมนูญก็คงไม่เสร็จตามโรดแมป ที่สำคัญคนที่ค้านในแต่ละประเด็นต้องชี้ให้เห็นปัญหาของร่างรัฐธรรมนูญและจัดทำข้อเสนอแนะที่ดีกว่าอาจจะได้รับกระแสสนับสนุน จนกรรมาธิการยกร่างกลับไปทบทวนแก้ไขก็อาจเป็นไปได้ และช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก็ไม่มากนักในการหาข้อยุติให้ตรงกันได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะข้อเสนอของพรรคการเมืองกับชุดความคิดของกรรมาธิการยกร่างนั้น บางประเด็นยืนอยู่คนละขั้ว ยากจะหาข้อยุติในระยะเวลาอันสั้นได้
นายสุริยะใส ระบุต่อว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ก็หนีไม่พ้นต้องใหัประชาชนตัดสินใจด้วยการลงประชามติ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพิ่มขั้นตอนการประชามตินั้น ก็ใชัเวลาช่วงสั้นๆ ได้อยู่แล้วไม่มีปัญหาอะไร ถ้า คสช. และรัฐบาลอยากจะให้ทำ ซึ่งสังคมวงกว้างก็อยากเห็นการทำประชามติอยู่แล้วด้วย
“ผมยังเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า สุดท้ายแล้ว คสช. และนายกฯ จะสนับสนุนให้มีการทำประชามติ เพราะอำนาจ คสช. มาแค่ช่วงสั้นๆ ในระยะยาวจะไม่สามารถคุ้มกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ แต่ผลการลงประชามติ ถ้าประชาชนเห็นด้วยจะเป็นวัตซีนคุ้มกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ให้มีการรื้อตามอำเภอใจ” นายสุริยะใส ระบุ
นายสุริยะใส เผยอีกว่า ที่สำคัญ ก่อนประชามติจะต้องมีขั้นตอนที่เรียกว่าประชาพิจารณ์เพื่อให้ทั้งฝ่ายที่เห้นด้วยและไม่เห็นด้วยได้เสนอความคิดเห็นให้ข้อมูลกับประชาชนก่อนวันลงมติ ซึ่งถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมไปด้วย