กมธ.ปฏิรูปการเมือง-กฎหมาย ขอแก้ 132 ประเด็น ย้ำตามเดิมทั้งตัดคำว่าพลเมือง ค้านเลือกตั้งผสม-โอเพนลิสต์ กลุ่มการเมือง-นายกฯ คนนอก ลดอำนาจ ส.ว.สรรหา หนุนปฏิรูปเสร็จถึงเลือกตั้ง ใส่ กม.ลูกในบทเฉพาะกาล ไม่ประชามติ กันรัฐบาลไม่สานต่อ คาดไม่เกิน 2 ปี ใช้การออก กม.วัดความสำเร็จ “ไพบูลย์” รับยังไงก็ประชามติ อ้างผ่านให้ คสช.อยู่ปฏิรูป ตปท.ไม่จุ้นเลือกตั้ง รับ สปช.ถกเองหมิ่นเหม่ยืดอำนาจ
วันนี้ (8 มิ.ย.) นายปกรณ์ ปรียากร พร้อมด้วย พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการรับฟังคำชี้แจงคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง และ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยนายปกรณ์กล่าวว่า ประเด็นที่ กมธ.ทั้ง 2 คณะเสนอขอแก้ไขมีทั้งสิ้น 132 ประเด็นซึ่งขอแก้ไขชื่อและให้แบ่งเป็นหมวดทั้งฉบับ 10 หมวด ดังนี้ 1. หมวดทั่วไป 2. พระมหากษัตริย์ 3. ประชาชนชาวไทย 4. ฝ่ายนิติบัญญัติ 5. ฝ่ายบริหาร 6. ตุลาการ 7. องค์กรตามรัฐธรรมนูญและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 8. ความมั่นคงของประเทศไทย 9. การพัฒนาประเทศ โดยจะนำเรื่องการปฏิรูปมาไว้ในหมวดนี้ 10. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะกาล ทั้งนี้ ผู้เสนอต้องการให้รัฐธรรมนูญมีลักษณะที่สั้น กระชับ และเอาส่วนที่ไม่จำเป็นไปไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ยังเสนอให้ตัดคำว่าพลเมือง โดยให้เปลี่ยนเป็นประชาชนทั้งหมด เพราะอาจสร้างความสับสนและเกิดการตีความที่ลักลั่น ส่วนประเด็นการปฏิรูปการเมือง ในมาตรา 103 ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยให้ส.ส.มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จำนวน 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน ในแต่ละเขตเลือกตั้งมี ส.ส.อย่างน้อยเขตละไม่เกิน 3 คน ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1 คน มีสิทธิเลือก ส.ส.ได้ 1 คน โดยไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม เพราะจะทำให้รัฐบาลไม่เข้มแข็ง และเกิดความยุ่งยากซับซ้อนกับประชาชน และไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งระบบโอเพนลิสต์ ส่วนที่มา ส.ว.เสนอว่าถ้าจะให้มีอำนาจมากควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจังหวัดละ 2 คน แต่ถ้ามาจากการสรรหาทั้งหมดจะต้องลดอำนาจลง และมีกลไกป้องกันและตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันที่เข้มแข็ง เช่น เสนอให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ และให้ตั้งศาลว่าด้วยคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ เสนอให้มีกรรมการไต่สวนอิสระกรณีอภิปรายไม่วางใจคณะรัฐมนตรี ควรยุบพรรคการเมืองได้เฉพาะมีความผิดร้ายแรงต่อสถาบัน ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ความมั่นคงประโยชน์ของชาติ ทั้งนี้ เมื่อมีคำพิพากษาของศาลยุติธรรมถึงที่สุด โดยขอเพิ่มความมาตรา 245/2 เรื่องให้มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่อิสระ เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบ และถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ และเสนอให้ตั้งคณะกรรมการประมวลผลแห่งชาติ ให้มีบทบาทในการประเมินบุคคลผู้มีคุณสมบัติตั้งแต่อธิบดีขึ้นไป โดยไม่ให้มีนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง และให้ตัดคำว่ากลุ่มการเมืองออกทุกมาตรา และไม่เอานายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก แต่ต้องมาจากประชาชน
นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาลผู้เสนอเห็นว่าต้องมีการปฏิรูปให้สำเร็จก่อนการเลือกตั้ง โดยขอให้กมธ.ยกร่างฯเป็นผู้จัดทำบัญชีรายละเอียดว่ามีกฎหมายอะไรบ้าง คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี ทำให้แล้วเสร็จ และมอบให้ ครม. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้กำหนดการเลือกตั้ง
เมื่อถามว่า ขอให้ขยายคำว่าปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง พล.ท.นาวินกล่าวว่า ต้องพิจารณาความเหมาะสม เพราะข้อเสนอเรื่องการปฏิรูประยะเวลาจะไม่ตรงกับที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวเป็นคนละเงื่อนไขกับข้อเสนอที่ให้มีการปฏิรูป 2 ปี ก่อนการเลือกตั้ง
ขณะที่นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.การปฏิรูป กล่าวว่า คณะ กมธ.ทั้งสองคณะได้ร่วมกันเสนอให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง โดยให้เพิ่มมาตรา 304/1 ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้คณะ กมธ.ยกร่างฯจัดทำบัญชีรายการกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่จำเป็น พร้อมหลักการและเหตุผลรวมถึงวัตถุประสงค์การให้มีกฎหมายดังกล่าว และส่งให้ สปช.ดำเนินการยกร่างจัดทำกฎหมายดังกล่าว โดยให้จัดทำร่วมกับคณะ กมธ.ยกร่างฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนแต่ไม่เกิน 1 ปี เพื่อให้การปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จ หลังจากนั้นส่งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดำเนินการจัดให้มีกฎหมายดังกล่าวต่อไป จากนั้นให้ ครม.โดยความเห็นชอบของ คสช.และคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต่อไป
“คำขอแก้ไขดังกล่าวไม่ได้เป็นการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนลงความเห็นว่าจะให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ให้ดำเนินการไว้ในบทเฉพาะกาล โดยสาเหตุที่ต้องเสนอแนวทางนี้ไว้เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลส่วนใหญ่มักจะไม่ดำเนินการออกกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงจำเป็นต้องกำหนดเรื่องนี้เอาไว้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกมธ.ยกร่างฯ ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่” ทั้งนี้ นายสมบัติยืนยันว่าใช้เวลานานเกินไปไม่ได้ เพราะเข้าใจดีว่าทุกคนต้องการการเลือกตั้ง คิดว่าการทำกฎหมายต่างๆ จะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี
ด้านนายเสรีกล่าวว่า การจัดทำกฎหมายดังกล่าวจะต้องจำแนกออกเป็น 3 บัญชี ประกอบด้วย 1. บัญชีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2. กฎหมายลูกที่ต้องออกตามรัฐธรรมนูญ และ 3. กฎหมายปฏิรูปที่ สปช.นำเสนอ โดยเป็นการดำเนินการตามมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่กำหนดให้คณะกมธ.ยกร่างฯและสปช.ร่วมกันจัดทำกฎหมายที่จำเป็นต่อการปฏิรูปประเทศ ซึ่งข้อเสนอนี้เกิดก่อนข้อเสนอให้มีการทำประชามติว่าจะเห็นด้วยกับการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง 2 ปีหรือไม่ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ
“การใช้การออกฎหมายเป็นตัวชี้วัดถึงการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งนั้นมีความชัดเจนในการวัดผลมากกว่า ส่วนการปฏิรูปประเทศจะประสบความสำเร็จหรือไม่ทั้งในด้านการพัฒนาหลายๆด้านก็เป็นเรื่องอนาคต หลังจากมีกฎหมายต่างๆ ออกมาแล้ว” นายเสรีกล่าว
ส่วนนายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปอีก 2 ปี ก่อนการเลือกตั้งว่า ไม่ว่าจะเป็นแนวทางของตน หรือแนวทางจากคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.การเมือง และกมธ.กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่เสนอให้กำหนดในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญว่า ให้จัดทำกฎหมายลูก 2 ปี ก็จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติอยู่ดี โดยแบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ 1. มี 2 คำถามคือ จะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2558 หรือไม่ และ เห็นชอบให้มีการปฏิรูปอีก 2 ปีก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ 2. มีคำถามเดียวว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2558 หรือไม่ ในกรณีที่มีการปรับแก้ไขตามข้อเสนอ ซึ่งยังขึ้นอยู่กับ กมธ.ยกร่างฯว่า จะเห็นเป็นอย่างไร
“ถ้าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ประชาชนเพียงแค่เสียงเดียวรัฐบาลก็ต้องฟัง หากผลการจัดทำประชามติออกมาเห็นชอบให้ คสช.อยู่ทำหน้าที่ปฏิรูปต่อไป ข่าวนี้ก็จะกระจายไปทั้งโลก จะไม่มีรัฐบาลไหนกล้าถามเรื่องการเลือกตั้งอีก หากยังถามก็แสดงว่าไม่ดูตาม้าตาเรือ ไม่เห็นว่าเราเป็นประชาธิปไตยแล้ว” นายไพบูลย์กล่าว
ส่วนข้อเสนอที่ให้นำเรื่องการปฏิรูปอีก 2 ปี ก่อนการเลือกตั้ง เข้าหารือต่อที่ประชุม สปช.นั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า ตนไม่มีปัญหา จะนำเข้าหรือไม่ก็ได้ เพราะข้อเสนอของตนสอดคล้องกับสมาชิก สปช.หลายคน แต่การหารือกันใน สปช.จะหมิ่นเหม่ถูกมองว่า เป็นการขยายอำนาจให้ตนเองหรือไม่ ตนมองว่าเป็นเรื่องของประชาชน เมื่อเห็นว่าจะให้ปฏิรูปอีก 2 ปี ก็ให้เสนอไปที่นายกรัฐมนตรี ดังนั้นฟังเสียงประชาชนแทนดีกว่าฟังเสียง สปช. เพราะที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยมีใครฟัง สปช.เท่าไหร่
ขณะเดียวกัน นายสมเกียรติ หอมละออ ตัวแทนชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย และอดีตแกนนำกลุ่ม กปปส. เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายไพบูลย์เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปให้สำเร็จก่อนมีการเลือกตั้ง เนื่องจากขณะนี้มีการเคลื่อนไหวจากบุคคลบางกลุ่มให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ทั้งที่ปัญหาของประเทศยังไมได้รับการแก้ไข จึงมีความจำเป็นต้องเร่งรีบจัดการแก้ไขปัญหาที่ค้างอยู่และยังไม่ลุล่วง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างร้ายแรง จนอาจทำให้ประเทศล่มสลายได้ จึงขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปให้เสร็จก่อนจัดให้มีการเลือกตั้ง