xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ-ครม.แนะรัฐธรรมนูญใหม่ไม่เอาชงชื่อ ครม.ให้ ส.ว.ตั้ง - ระบบคุณธรรมโยก ขรก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ เผยนายกฯ และ ครม.แนะบทบัญญัติควรสะท้อนหลักคิดยึดชาติและประชาชนเป็นศูนย์กลาง ต้องสอดคล้องกับบริบทสังคม สะท้อนเอกลักษณ์ ไม่เป็นเครื่องมือก่อความขัดแย้ง ไม่ควรยืดยาว บางกลไกเสี่ยงทำให้รัฐขาดเสถียรภาพ ขอตัดชงชื่อ ครม.ให้วุฒิสภาแต่งตั้ง-ใช้ระบบคุณธรรมตั้ง ขรก.-แยกผู้ตรวจฯ และกสม.-ยุบสภาขับเคลื่อน รวม กก.ปฏิรูป-ให้ ส.ว.เลือกตั้ง ไม่ต้องมี กก.กลั่นกรอง แต่คงสรรหาด้วย และไม่ควรเพิ่มเสนอ กม.ได้ โยก ม.15 ไปอยู่ในกฎหมายอื่น


วันนี้ (6 มิ.ย.) ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังจากประชุม กมธ.ยกร่างฯ ว่า ในส่วนความเห็นของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเห็นว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญควรสะท้อนหลักคิดที่ให้ยึดประเทศชาติและประชาชนเป็นศูนย์กลาง และให้ความสำคัญแก่ประเทศชาติและประชาชน รัฐธรรมนูญต้องสอดคล้องต่อสถานการณ์และบริบทของสังคมไทยซึ่งมีปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะ ขณะเดียวกัน ต้องสะท้อนเอกลักษณ์ของตนเองและต้องไม่เป็นเครื่องมือนำไปใช้ก่อเหตุความขัดแย้ง และรัฐธรรมนูญไม่ควรยืดยาว ข้อความในบางมาตรายังมีความยืดยาวและยังไม่ชัดเจน อาจเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ บางกลไกเสี่ยงต่อการทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ บทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปมีรายละเอียดมาก รวมทั้งมีองค์กรหรือคณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญที่ให้เกิดขึ้นใหม่จำนวนมากเป็นภาระด้านงบประมาณ

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ ครม.ให้น้ำหนักและให้ความสำคัญในการขอแก้ไข คือ มาตรา 130 เรื่องการเสนอรายชื่อคณะรัฐมนตรีให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบก่อนแต่งตั้งนั้น ควรตัดออก เนื่องจากทำได้ยากและใช้เวลานานเกินไป มาตรา 207 เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม ควรตัดออก และเห็นควรให้แยกผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไว้เหมือนเดิมไปก่อน ส่วนมาตรา 279 เรื่องการกำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เห็นว่าการกำหนดให้มี 2 องค์กรอาจทำให้การปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงเห็นว่าควรรวมทั้ง 2 องค์กรเข้าด้วยกัน และปรับปรุงอำนาจหน้าที่และจำนวนให้เหมาะสม

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวอีกว่า ครม.เห็นว่าการเลือกตั้ง ส.ว.โดยตรง 77 จังหวัด ที่ผ่านมามีไม่กี่จังหวัดที่มีผู้สมัครเกิน 10 คน ดังนั้นการตั้งกรรมการกลั่นกรอง จะทำให้ไม่มีความคุ้มค่าและจำเป็น จึงเห็นว่าควรจะให้มีการเลือกตั้งโดยตรงไปเลยไม่ต้องมีกรรมการมากลั่นกรอง แต่ที่มา ส.ว.ที่เหลืออีก 123 คน ครม.ไม่ได้มีความคิดเห็น ส่วนอำนาจหน้าที่ ส.ว.นั้น ครม.คิดว่าการให้อำนาจ ส.ว.เสนอกฎหมายได้จะก่อให้เกิดปัญหาและไม่มีความจำเป็น หากเสนอมาแล้ว ส.ส.ไม่เอาด้วยก็ตกไปอยู่ดี ดังนั้นไม่ควรเพิ่มอำนาจในการเสนอกฎหมายให้กับ ส.ว. ส่วนในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ครม.เห็นว่า 15 มาตราที่เกี่ยวกับการปฏิรูปเป็นเรื่องที่อาจจะยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต อาจขัดต่อนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลและเป็นการผูกมัดมากเกินไป ดังนั้นทั้ง 15 มาตรา ควรไปกำหนดไว้ในกฎหมายอื่นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น