“พลเดช” เผยบรรยากาศแจงข้อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต่อ กมธ.ยกร่างฯ เป็นไปด้วยดี ย้ำต้องปรับแก้อำนาจ ส.ว. หนุนวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง 200 คน หั่นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแต่ให้คงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูป
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวหลังการนำกลุ่มสมาชิก สปช.เข้าชี้แจงคำแปรญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญต่อกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า เรายืนยันในหลักการคงเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ และยืนยันว่าจำเป็นต้องมีหมวดการปฏิรูปประเทศและกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูป ซึ่งสมาชิกกลุ่มทั้ง 28 คน ได้ยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรวมทั้งสิ้น 71 มาตรา
นพ.พลเดชกล่าวว่า ส่วนที่มีการแก้ไขมาก คือ เรื่องที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งที่มาของ ส.ส.ไม่ได้แก้ไข ส่วน ส.ว.แก้ไขให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลกัน เราเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญออกแบบให้ ส.ว.มีอำนาจมากเกินไป เช่น เรื่องการถอดถอน ควรให้ถอดถอนได้เฉพาะกรรมการอิสระที่ ส.ว.มีอำนาจแต่งตั้ง จะไปถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรวมถึงศาลนั้นไม่สมควร ส่วนอำนาจในการเสนอกฎหมายควรจำกัดให้ ส.ว.เสนอได้เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป หากให้ ส.ว.เป็นสภาแรกที่เสนอกฎหมายก็ควรให้ ส.ส.มีอำนาจตรวจสอบกฎหมาย หากร่างกฎหมายไม่ผ่านก็ต้องยุติ ดังนั้นจึงเสนอว่าให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน ส่วนฐานที่มาจากกลุ่มอาชีพให้ออกแบบกันต่อไป
ส่วนท่าทีของ กมธ.ยกร่างฯ ในการรับฟังคำชี้แจงวันนี้ นพ.พลเดชกล่าวว่า บรรยากาศวันนี้ดีมากกว่าที่ตนคาดหวังไว้ ตอนแรกคิดว่าจะมีการตอบโต้กัน อภิปรายแลกเปลี่ยนกัน แต่ กมธ.ยกร่างฯ รับฟังค่อนข้างดี สรุปค่อนข้างพอใจที่เราชี้แจงเป็นไปด้วยเหตุด้วยผล เป็นไปในทางบวก
นพ.พลเดชกล่าวว่า ประเด็นการแต่งตั้งปลัดกระทรวงที่ให้มีคณะกรรมการอิสระแต่งตั้งนั้น เรามองว่าไม่แฟร์ เพราะฝ่ายบริหารควรจะเลือกคนที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนนโยบายได้ มิฉะนั้นใครเป็นรัฐบาลก็เป็นเป็ดง่อยไปเลยเพราะเลือกคนไม่ได้ เราเข้าใจ กมธ.ยกร่างฯ คงติดใจในกรณีนายถวิล เปลี่ยนศรี หรือใครต่อใครที่ถูกการเมืองล้วงลูกเข้ามาในการแต่งตั้งข้าราชการ เราจึงเสนอทางออกว่า ถ้าตำแหน่งปลัดกระทรวง หรืออธิบดีว่างลง ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอชื่อมาว่าอยากแต่งตั้งใคร แต่ให้ผ่านกลไกตรวจสอบคุณธรรมจริยธรรม จะให้สมัชชาคุณธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมจริยธรรม เข้ามาทำหน้าที่นี้ได้ เมื่อเห็นชอบแล้วจึงส่งกลับมายัง ครม.ให้แต่งตั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า การโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะพิจารณาอย่างไรต่อไป นพ.พลเดชกล่าวว่า รอดูร่างฯ สุดท้ายซึ่งเราคงไม่ติดใจในประเด็นเดียว ต้องดูภาพรวมทุกมาตรา ดุลยพินิจในการโหวตของสมาชิกทุกคนเป็นอิสระ ซึ่ง สปช.ในภาพรวมจะสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนได้ดีที่สุด ตนมั่นใจว่าสภาของเรามีวุฒิภาวะ มีดุลยพินิจ เกียรติภูมิของตนเอง จะไม่ปล่อยให้เป็นภาระต่อประชาชน หากไม่ดีก็คว่ำได้ แต่ถ้าดีก็ว่ากันไป
ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าเรื่องสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีการเสนอแก้ไขหรือไม่ นพ.พลเดชกล่าวว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเราเห็นว่าไม่เหมาะสม ถ้ามีจะเป็นปัญหา และไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะระบบของสภามีวัฒนธรรมในการทำงานคือการพูดโต้แย้งกันไปมาแล้วลงมติ ไม่ได้ลงไปปฏิบัติการ ใช้รูปแบบสภาไม่ได้ จึงเสนอให้ตัดออก ให้เหลือแต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติเพียงอย่างเดียว เห็นว่าจำนวน 15 คนน้อยเกินไป ควรเพิ่มเป็น 60 คน สรรหากันใหม่ทั้งหมด หากเป็นห่วงเรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปจะต่อเนื่องหรือไม่นั้น ตนคิดว่าไม่เป็นปัญหา เนื่องจาก สปช.ได้วางกรอบเค้าโครงไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ หากใครจะเบี้ยวก็ต้องผ่านด่านพลังของพลเมือง