xs
xsm
sm
md
lg

"บวรศักดิ์"ยันออกแบบลต.ดีแล้ว พระสุเทพวอนปชช.อย่าเพิ่งป่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมงานเสียงปฏิรูปออนไลน์ โดยกล่าวถึงลักษณะที่มาของ ส.ส.และ ส.ว. เรื่องที่ต้องการให้การเมืองใสสะอาด และสมดุล ว่า สังคมเรียกร้องว่า นักการเมืองจะต้องโปร่งใส และใสสะอาดขึ้น จึงเป็นที่มาของลักษณะของผู้นำการเมืองที่ดี ว่าอะไรพึงทำ ไม่พึ่งทำ ต้องกำหนดขึ้นมาว่า คุณจะมาสมัครรับเลือกตั้ง คุณต้องแสดงภาษีย้อนหลัง 3 ปี เพื่อความสะอาด ความโปร่งใส ก็ต้องทำ คุณจะต้องมีสมัชชาคุณธรรม ที่ตนแปลกใจคือ ยกมือโหวตใน สปช.สนับสนุน แต่ในคำขอแก้ไข กลับตัด สมัชชาแห่งชาติทิ้ง และคำขอแก้ไขเพิ่มเติมหลายอย่าง เป็นแบบนั้น กรรมาธิการยกร่างฯ ตามข้อเสนอของกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองหลายประเด็น ยกเว้นประเด็นเดียว คือเลือกคณะรัฐมนตรีตรง โดยประชาชน แต่วันนี้กรรมาธิการการเมือง เสนอตรงกันข้ามจากที่ตัวเองเคยเสนอมาเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว ก็ไม่รู้จะเอายังไง
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ระบบเลือกตั้ง จะมีผลต่อการสร้างองค์กรทางการเมือง และมันมีหลายระบบ ระบบเลือกตั้งเสียงข้างมาก เขตเดียวคนเดียว หรือ หลายคน ท้ายที่สุดจะนำไปสู่ พรรคใหญ่ 2 พรรค แต่มันสร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้น ประเทศอังกฤษ อเมริกา นิยมใช้ระบบแบบนี้เพราะทำให้พรรคใหญ่ได้ประโยชน์ แต่ระบบเลือกตั้งอีกระบบหนึ่ง เป็นธรรม แต่สร้างปัญหาได้ คือ ระบบสัดส่วน ประชาชนนิยมพรรคไหนกี่เปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศ พรรคนั้นก็ได้ส.ส. เท่าจำนวนนั้น เป็นความเป็นธรรม แต่ก็มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ เพราะว่า จะทำให้เกิดพรรคเล็ก พรรคน้อยมาก ประเทศที่ใช้ระบบนี้ เช่น แอฟริกาใต้ อิสราเอล เขาก็มีปัญหาว่า พรรคการเมืองมันเต็มสภา เขาก็แก้ปัญหาด้วยวิธี กำหนดคะแนนเสียงขั้นต่ำที่ได้ อย่างเยอรมัน เอา 5 เปอร์เซ็นต์ อิสราเอลเอา 1.5 เปอร์เซ็นต์ ถ้าใครได้ต่ำกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ ก็ตัดทิ้ง ของเราปี 40 เคยใช้ 5 เปอร์เซ็นต์ ปี 50 ก็ลดลงมา อันนี้คือได้ความเป็นธรรม แต่อาจจะเกิดรัฐบาลผสมที่ไม่ยั่งยืน ระบบบางระบบ อย่างประเทศฝรั่งเศส คือ เลือกตั้ง 2 ครั้ง ครั้งแรกคุณสมัครรับเลือกตั้งแล้วได้คะแนนเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มาลงคะแนนเสียง ก็ลงคะแนนเสียงรอบ 2 มันก่อให้เกิดการจับขั้ว ฮั้วกัน ระหว่างพรรคการเมืองก่อนที่จะมีการลงคะแนนเสียงรอบ 2 มันก็ดีในระบบที่ต้องการให้เกิดเสถียรภาพ
นายบวรศักดิ์ ยังกล่าวต่อว่า แต่สำหรับของเราๆ ชินกับระบบการเลือกตั้งของ ประเทศอังกฤษและ อเมริกา เขตเดียวหลายคน ไปจนกระทั่งถึง ปี 40 พอปี 40 ก็ใช้ระบบเลือกตั้งแบบ ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน เขต 400 พอมาปี 50 ก็เปลี่ยนมาเป็นปาร์ตี้ลิสต์ 125 เขต 375 แต่มันก็เกิดปัญหาเพราะว่า มันแยกกันคิด ผลสุดท้ายพรรคใหญ่ได้ประโยชน์ เลือกตั้งปี 54 พรรคใหญ่ที่สุดได้คะแนนเสียงความนิยม 44 เปอร์เซ็นต์ แต่ได้ ส.ส. 54 เปอร์เซ็นต์ เกินไปประมาณ 38 คน พรรคกลางๆ และพรรคเล็กก็เจ๊ง ดีไหมถ้าต้องการรัฐบาลเสถียรภาพ ตนคิดว่าดี แต่คำถามคือว่า แล้ว 10 ปีที่ผ่านมาอะไรเกิดขึ้น คำตอบก็คือ พรรคหนึ่งขึ้นมาเป็น พรรคที่สองใหญ่รองลงมา ออกมาเดินถนน พอพรรคที่สองขึ้นมาเป็นรัฐบาล พรรคที่หนึ่งก็ออกมาเดินถนน ความขัดแย้งไม่จบ พรรคใหญ่ 2 พรรค ถือว่า พรรคอื่นเป็นพรรคบริวารไม่สนใจ การเมืองจึงไม่สมดุล เพราะพรรคใหญ่ได้คะแนนเสียงน้อยแต่ได้เก้าอี้ในสภา และทำให้เขามีความรู้สึกว่าเป็นพี่เบิ้ม
"ระบบเลือกตั้งที่กรรมาธิการคิด พยายามที่จะออกแบบว่า ต้องอยู่บนความเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพด้วย ก็คือระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสม คือ เลือกเขตเดียว คนเดียว มันจะดีกว่าปาร์ตี้ลิสต์ หรือ สัดส่วน อย่างเดียว ที่ ส.ส. จะไม่ผูกพันกับเขต เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ ส.ส.เขต มาดูแลเขตได้ เราก็เลยให้มี ส.ส.เขต 250 คน แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 200 คน จำนวนส.ส.ที่พรรคนั้นจะได้ จะกำหนดจากเสียงที่ได้จากบัญชีรายชื่อ เช่น ประชาชนทั้งประเทศ เลือกพรรคเบอร์ 1 จำนวน 40 เปอร์เซ็นต์ เขาก็ต้องได้ที่นั่งในสภา 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ต้องดูว่า ในเขตเขาได้เท่าไหร่ ถ้าเขตได้น้อยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ก็ เติมให้เต็ม แต่ถ้าได้มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ก็ไม่ต้องเติมให้เขา เพราะฉะนั้น ระบบเลือกตั้งที่คิด จึงเป็นระบบที่เกิดความเป็นธรรมและเกิดความ สมดุลในแง่ที่ว่า เสียงของประชาชนนิยมเขาทั่งประเทศ 40 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ ส.ส.ในสภา 40 ไม่ใช่ได้ 50 แต่มันสมดุลตรงที่ว่า พรรคกลางและพรรคเล็กจะได้ประโยชน์จากคะแนนเสียงตกน้ำ พรรคใหญ่ก็จะไม่ใหญ่เกินไป พรรคกลางๆ ก็จะมี ส.ส.มากขึ้น มีพรรคเล็กด้วย นั่นแสดงว่า จะจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องคุยกัน แทนที่จะคิดว่าตัวเองใหญ่ ไม่คุยกับใครทั้งสิ้น" นายบวรศักดิ์ กล่าว
นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ความสมดุลเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญในภาวะขัดแย้ง และยิ่งถ้าทำได้อย่างประเทศเยอรมันที่อยู่ในระบบรัฐบาลแห่งชาติที่ พรรคสังคมนิยม จับมือกับพรรคฝ่ายขวา ในเวลานี้ฝ่ายค้านเหลืออยู่แค่ 2 พรรค พรรคใหญ่มี ส.ส.เกิน 75 เปอร์เซ็นต์ แต่สาเหตุที่เขาจับมือกันแบบนั้น เพราะรู้ว่า เศรษฐกิจของยุโรปมันยิ่งใหญ่ ถ้าข้างในตีกัน มันแก้ปัญหาไม่ได้ แต่ของเราจะจับมือกันไหม ไม่จับหรอก ทุกคนก็ยืนยู่ที่เดิม ไปฟังหัวหน้าพรรคคนที่ 1 คนที่ 2 ก็พูดกันแบบเดิม ซึ่งบ้านเมืองจะจบลงอย่างไร นี่คือ สิ่งที่เราต้องการให้เกิดความเป็นธรรมและความสมดุลของระบบเลือกตั้ง ตนคิดว่าเหมาะสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ถ้าหากคิดว่าไม่ดีก็ลองใช้ไปสัก 2 ครั้งไม่ดีจริงๆ ก็กลับไปสู่ระบบที่เคยชิน แต่ตนคิดว่าวันนี้ดีที่สุดคือระบบนี้ สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดกันมาเป็น 10 ปี อันนี้คือสิ่งที่กรรมาธิการยกร่างฯ คิด แต่ถ้ามีเหตุผลที่ดีกว่าเรา ก็พร้อมที่จะทบทวน แต่พอ

**อ้าง ปชช.60 % หนุนระบบโอเพนลิสต์

เมื่อ เวลา 10.30 น. วานนี้ กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดสระบุรี เครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดสมุทรปราการ และเครือข่ายสวัสดิการชุมชน เข้าให้กำลังใจคณะกรรมาธิการยกร่างฯ พร้อมยื่นหนังสือต่อ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เพื่อสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ให้ความสำคัญกับบทบาทภาคพลเมือง และการสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ ตลอดจนการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม
ด้านนายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ขอบคุณเครือข่ายองค์กรชุมชนทั้ง 3 เครือข่าย ที่เสนอข้อแก้ไขเพิ่มเติมและสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และ 6 เดือนที่ผ่านสื่อมวลชนชอบเอาไมโครโฟนไปถามฝ่ายการเมืองในระบอบเดิมแต่วันนี้ ตัวจริงมาแล้วขอให้ไปถามว่าใครจัดตั้งมาหรือไม่ ขอให้คนกลุ่มนี้มีสิทธิ มีเสียงบ้างจะกับคนส่วนใหญ่ในประเทศซึ่งเป็นประชาชนตัวจริง ส่วนเรื่องระบบโอเพนลิสต์ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และหลายฝ่ายให้ตัดออก แต่ประชาชน 60 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วย จึงอยากให้สื่อมวลชนฟังเสียงของประชาชนกลุ่มนี้ด้วย เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยจึงต้องถามประชาชน

**เสนอให้มีส.ว.เลือกตั้ง 200 คน

นายพลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวหลังการนำกลุ่มสมาชิกสปช. กลุ่มของตนเข้าชี้แจง คำแปรญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญต่อ กรรมาธิการยกร่างฯ ว่า เรายืนยันในหลักการ คงเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ และยืนยันว่าจำเป็นต้องมีหมวดการปฏิรูปประเทศ และกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูป ซึ่งสมาชิกกลุ่มทั้ง 28 คน ได้ยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสิ้น 71 มาตรา
ส่วนที่มีการแก้ไขมากคือ เรื่องที่มาของส.ส. และ ส.ว. ซึ่งที่มาของ ส.ส. ไม่ได้แก้ไข ส่วนส.ว.แก้ไข ให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลกัน เราเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญออกแบบให้ส.ว. มีอำนาจมากเกินไป เช่น เรื่องการถอดถอน ควรให้ถอดถอนได้เฉพาะกรรมการอิสระที่ส.ว. มีอำนาจแต่งตั้ง จะไปถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงศาลนั้นไม่สมควร ส่วนอำนาจในการเสนอกฎหมายควรจำกัดให้ส.ว. เสนอได้เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป ซึ่งหากให้ส.ว. เป็นสภาแรกที่เสนอกฎหมาย ก็ควรให้ส.ส. มีอำนาจตรวจสอบกฎหมาย หากร่างกฎหมายไม่ผ่าน ก็ต้องยุติ
ดังนั้น จึงเสนอว่าให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน ส่วนฐานที่มาจากกลุ่มอาชีพ ให้ออกแบบกันต่อไป ส่วนท่าทีของ กมธ.ยกร่างฯ ในการรับฟังคำชี้แจงครั้งนี้ นายพลเดช กล่าวว่า บรรยากาศดีมากกว่าที่ตนคาดหวังไว้ ตอนแรกคิดว่าจะมีการตอบโต้กัน แต่ กมธ.ยกร่างฯ รับฟังค่อนข้างดี สรุปค่อนข้างพอใจที่เราชี้แจงเป็นไปด้วยเหตุด้วยผล เป็นไปในทางบวก

**ให้ตัดทิ้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูป

สำหรับประเด็นการแต่งตั้งปลัดกระทรวง ที่ให้มีคณะกรรมการอิสระแต่งตั้งนั้น เรามองว่าไม่แฟร์ เพราะฝ่ายบริหารควรจะเลือกคนที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนนโยบายได้ มิฉะนั้นใครเป็นรัฐบาล ก็เป็นเป็ดง่อยไปเลย เพราะเลือกคนไม่ได้ เราเข้าใจ กมธ.ยกร่างฯ คงติดใจในกรณีนายถวิล เปลี่ยนศรี หรือใครต่อใคร ที่ถูกการเมืองล้วงลูกเข้ามาในการแต่งตั้งข้าราชการ เราจึงเสนอทางออกว่า ถ้าตำแหน่งปลัดกระทรวง หรืออธิบดีว่างลง ให้ครม. เสนอชื่อมา ว่าอยากแต่งตั้งใคร แต่ให้ผ่านกลไกตรวจสอบคุณธรรม จริยธรรม จะให้สมัชชาคุณธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือคณะกรรมการ พิทักษ์คุณธรรมจริยธรรม เข้ามาทำหน้าที่นี้ได้ เมื่อเห็นชอบแล้วจึงส่งกลับมายัง ครม. ให้แต่งตั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่าการโหวตรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาอย่างไรต่อไป นายพลเดช กล่าวว่า รอดูร่างสุดท้าย ซึ่งเราคงไม่ติดใจในประเด็นเดียว ต้องดูภาพรวมทุกมาตรา ดุลยพินิจในการโหวตของสมาชิกทุกคนเป็นอิสระ ซึ่ง สปช. ในภาพรวมจะสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนได้ดีที่สุด ตนมั่นใจว่าสภาของเรามีวุฒิภาวะ มีดุลยพินิจ เกียรติภูมิของตนเอง จะไม่ปล่อยให้เป็นภาระต่อประชาชน หากไม่ดีก็คว่ำได้ แต่ถ้าดีก็ว่ากันไป
ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า เรื่องสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีการเสนอแก้ไขหรือไม่ นายพลเดช กล่าวว่า เราเห็นว่าไม่เหมาะสม ถ้ามีจะเป็นปัญหา และไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะระบบของสภามีวัฒนธรรมในการทำงาน คือการพูดโต้แย้งกันไปมา แล้วลงมติ ไม่ได้ลงไปปฏิบัติการ ใช้รูปแบบสภาไม่ได้ จึงเสนอให้ตัดออก ให้เหลือแต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติเพียงอย่างเดียว ซึ่งเห็นว่าจำนวน 15 คนน้อยเกินไป ควรเพิ่มเป็น 60 คน สรรหากันใหม่ทั้งหมด หากเป็นห่วงเรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูป จะต่อเนื่องหรือไม่นั้น ตนคิดว่าไม่เป็นปัญหา เนื่องจาก สปช. ได้วางกรอบเค้าโครงไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ หากใครจะเบี้ยวก็ต้องผ่านด่านพลังของพลเมือง

**ให้นายกฯคนนอกอยู่ในบทเฉพาะกาล

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึง แนวทางที่จะเข้าชี้แจงการเสนอคำแปรญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ต่อกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า จะเสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีความกระชับมากขึ้น โดยจะปรับให้เหลือ 118 มาตรา เพื่อให้ไม่ต้องบรรจุรายละเอียดมากจนเกินไป เหมือนรัฐธรรมนูญของประเทศอื่น ที่บรรจุแค่หลักสำคัญ อาทิเช่น หลักการเลือก ส.ส. -ส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่รายละเอียดนั้นไปบัญญัติไว้ในกฎหมายลูก ซึ่งถ้าในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ไปแก้ในกฎหมายลูกแทน ซึ่งจะทำให้เป็นไปตามความประสงค์ที่จะใช้รัฐธรรมนูญนี้ไป 50-100 ปี ไม่ต้องแก้บ่อยๆ ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังจะเน้นย้ำในเรื่องของจุดยืนที่มานายกฯ คนนอก อยู่หรือไม่ นายสมบัติ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นเรื่องของหลักการ ผู้แทนราษฎรมาจากปวงชนทำหน้าที่บัญญัติกฎหมาย นายกรัฐมนตรี มาทำหน้าที่บริหาร ถ้าหากมาจากคนนอก แล้วตรงไหนจะเชื่อมโยงกับประชาชน ดังนั้นในระบอบประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งโดยตรง หรือโดยส.ส. ก็ตาม ถ้าหากมีความจำเป็นเรื่องนายกฯคนนอก ก็ให้นำไปบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล
เมื่อถามว่าหากมีวิกฤตแบบก่อนวันที่ 22 พ.ค. ควรจะให้มีนายกฯคนนอก เข้ามาคลี่คลายสถานการณ์หรือไม่ นายสมบัติ กล่าวว่า ได้มีการอธิบายถึงวิกฤตในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยุบสภาแล้วนายกฯ ลาออกไม่ได้ เพราะบัญญัติว่านายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้แก้ปัญหาไปแล้ว โดยมีมาตราที่ระบุว่านายกฯยุบสภาก็ไม่ต้องรักษาการ ให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทน วิกฤตแบบที่ว่านี้คงไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว

**สปช.ขอหั่นร่างรธน.ทิ้งเพียบ

เมื่อเวลา 15.00 น. วานนี้ นางสุภัทรา นาคผิว และ นายวุฒิสาร ตันไชย โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างฯ รัฐธรรมนูญ ร่วมแถลงผลการชี้แจงคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ของสมาชิก สปช. โดยนางสุภัทรา กล่าวว่า กลุ่มแรก นำโดย น.พ.พลเดช ปิ่นประทีบ สมาชิก สปช. เสนอขอแก้ไขทั้งสิ้น 71 มาตรา มีประเด็นสำคัญคือ ให้เปลี่ยนคำว่า พลเมือง ทั้งหมดเป็นคำว่า ประชาชน ไม่เห็นด้วยกับ มาตรา 207 ที่ว่าด้วย คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน โดยใช้ระบบคุณธรรม ทั้งยังเสนอให้ตัด สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปทิ้งไป ให้คงไว้แต่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ มีจำนวน 60 คน ที่ต้องไม่ยึดโยงกับการเมือง ขณะเดียวกันก็ไม่เห็นด้วยกับบทบัญญัติที่ให้ควบรวม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งขาติ (กสม.) กับ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้าด้วยกัน
นางสุภัทรา กล่าวว่า กลุ่มน.พ.พลเดช ยังเสนอให้ตัดอำนาจของฝ่ายบริหารตาม มาตรา 181 และ 182 ทิ้งไป เพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านมีปัญหาว่าถูกฝ่ายรัฐบาลปิดปาก สิ่งที่กลุ่มแรกเห็นด้วยกับกมธ.ยกร่างฯ คือ ให้คงสาระสำคัญในภาค 3 และ ภาค 4 ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปและการเสริมสร้างความปรองดองเอาไว้ ส่วนที่มาของ ส.ว. เสนอให้มาจากการสรรหาทั้งหมด แต่ให้มีการปรับลดอำนาจหน้าที่ ส.ว. ลง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการเสนอกฎหมาย ตลอดจนการถอดถอนที่จะมีอำนาจถอดถอนเฉพาะบุคคลที่ ส.ว. แต่งตั้งเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจถอดถอนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
ด้านนายวุฒิสาร กล่าวว่า ส่วนกลุ่มที่ 2 นำโดย นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ เสนอขอแก้ไขทั้งสิ้น 44 มาตรา มีสาระสำคัญ คือ ขอให้มีการเพิ่มเติมชื่อ ภาค 2 หมวด 2 เป็นยุทธศาสตร์ชาติ และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เพื่อให้ประเทศมียุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างชัดเจน ชี้นำการกำหนดนโยบายและแผน อย่างไรก็ตาม สำหรับการการชี้แจงคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของสปช. ต่อกมธ.ยกร่างฯ นั้น กมธ.ยกร่างฯ จะทำการซักถามบางประเด็นเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพื่อนำไปพิจารณาปรับแก้ไขอย่างละเอียด ด้วยการกำหนดประเด็นหลักในการพิจารณา จากนั้นจึงพิจารณารายละเอียด ในแต่ละหมวดแต่ละมาตราต่อไป

** "พระสุเทพ"ชี้ไม่จำเป็นต้องประชามติ

พระสุเทพ ปภากโร (สุเทพ เทือกสุบรรณ) กล่าวถึง กรณีรัฐบาลพร้อมที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และทำประชามติ ตามเสียงเรียกร้องว่า ก็ต้องยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เป็นทหารอาชีพ ไม่เคยเตรียมตัวที่จะมาเป็นนักการเมือง หรือนายกฯ เขาต้องเข้ามาเป็นนายกฯ เพราะสถานการณ์ บังคับ เพื่อให้ประเทศอยู่รอด เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เขาเป็นผู้นำกองทัพ เขากล้าตัดสินใจ เขากล้าหาญมาก เราต้องยอมรับ
"ก็บอกตรงๆว่า กปปส. และมวลมหาประชาชน เอาใจช่วย และเราเองก็ไม่มีอะไรผูกพันกับเขา แต่เมื่อเขามาด้วยเจตนาดี ตั้งใจทำดีเพื่อบ้านเมืองเราก็เอาใจช่วย อยากให้เขาทำงานให้สำเร็จ อยากให้เขากลับบ้านอย่างมีความสุข เมื่อทำงานสำเร็จ เราคิดว่าประชาชนควรแยกแยะให้ดี แยกมิตร แยกศัตรูให้ดี ว่าใครคือศัตรูของประเทศ ใครคือมิตรของประชาชน ตรงนี้สำคัญ อย่าไปทำตามกระแส เดี๋ยวนี้มีการปั่นกระแสกันมาก ให้รัก ให้ชัง ซึ่งมันไม่เป็นจริง ปัจจุบันมี โซเซียลมีเดีย ถล่มกันใหญ่เลย อย่างนี้อันตรายมาก แต่เราเชื่อมั่นในคนไทย เพราะคนไทยเป็นชาวพุทธ มีสติ คิดได้รู้ได้ ไม่หวือหวา ส่วนที่หวือหวา เป็นพวกอยู่ในเมือง คนไทยส่วนใหญ่คิดได้ แต้ถ้าใครมาถาม ก็จะบอกว่าเราสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ สามารถทำงานให้สำเร็จ เพราะนั่นคือเจตนารมณ์ของคนไทยส่วนใหญ่ ที่ต้องการเห็นประเทศเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง มีความสงบสุข” พระสุเทพ กล่าว
ส่วนเรื่องการทำประชามติ พระสุเทพ กล่าวว่า เป็นเรื่องตลก สมมุติว่าเรามีของดีชิ้นหนึ่ง ก็ไม่จำเป็นต้องถามใคร เพราะอย่างไรมันก็ต้องดี ไปถามเขาแล้วจะออกความเห็นอย่างไร มันก็ดีเหมือนเดิม ไม่เป็นปัญหา แต่คิดว่าความสำคัญอยู่ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และฝ่ายต่างๆที่มีหน้าที่ อย่างแม่น้ำ 5 สาย ช่วยกันคิดช่วยกันทำให้ดี ก็สามรารถที่จะสร้างรัฐธรรมนูญที่ดี ที่สมบูรณ์แบบได้ ส่วนประชาชน อย่างกระโจนลงไปบนความเชี่ยวกรากของกระแสน้ำ ไม่ว่าสายไหนก็แล้วแต่ อยู่บนตลิ่ง นั่งดูเขาก่อน คนที่มีหน้าที่ให้เขาทำไป เขาจะแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ปล่อยเขา จะเอาทฤษฎีเยอรมัน ฝรั่งเศส หรืออเมริกา ประชาชนอย่างเราก็นั่งดูไปก่อน ให้เขาได้ข้อสรุปก่อนว่าจะเอาอย่างไร ตอนนี้จะมาลากเอาประชาชนลงไปตะลุมบอนด้วยคงไม่ได้ ทุกคนเวลานี้ก็อ้างประชาชน ประชาชนเองก็อย่าให้เขาเอาไปอ้าง นั่งนิ่งๆไว้ เพราะไม่ใช่งานของประชาชน สรุปง่ายๆคือให้กระบวนการทำรัฐธรรมนูญถึงที่สุดก่อน ให้ทุกคนที่มีหน้าที่ได้ทำหน้าที่ของเขาให้สมบูรณ์แบบก่อน จากนั้นจึงเป็นรอบของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น