xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ เผยให้แจงวันแรก “พลเดช” ขอแก้ 71 มาตรา ส่วน “ธีรยุทธ์” ขอ 44 มาตรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ เผย “สปช.พลเดช” ขอแก้ 71 มาตรา เปลี่ยนใช้ประชาชน ค้าน ม.207 ไม่ยำรวม กสม.-ผู้ตรวจฯ ตัดสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป เขี่ยทิ้ง ม.181-182 ขอคงสาระเรื่องปฏิรูปและปรองดอง เอา ส.ว.สรรหาหมด แต่ลดอำนาจ ด้าน “สปช.ธีรยุทธ์” ขอแก้ 44 มาตรา



วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 15.00 น. นางสุภัทรา นาคผิว และนายวุฒิสาร ตันไชย โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมแถลงผลการชี้แจงคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิก สปช. โดยนางสุภัทรากล่าวว่า กลุ่มแรกนำโดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีบ สมาชิก สปช. เสนอขอแก้ไขทั้งสิ้น 71 มาตรา มีประเด็นสำคัญคือ ให้เปลี่ยนคำว่า “พลเมือง” ทั้งหมดเป็นคำว่า “ประชาชน” ไม่เห็นด้วยต่อมาตรา 207 ที่ว่าด้วยคณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยใช้ระบบคุณธรรม ทั้งยังเสนอให้ตัดสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปทิ้งไป ให้คงไว้แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ มีจำนวน 60 คน ที่ต้องไม่ยึดโยงกับการเมือง ขณะเดียวกันก็ไม่เห็นด้วยกับบทบัญญัติที่ให้ควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งขาติ (กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน

นางสุภัทรากล่าวว่า กลุ่ม นพ.พลเดช ยังเสนอให้ตัดอำนาจของฝ่ายบริหารตามมาตรา 181 และ 182 ทิ้งไป เพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านมีปัญหาว่าถูกฝ่ายรัฐบาลปิดปาก สิ่งที่กลุ่มแรกเห็นด้วยกับ กมธ.ยกร่างฯ คือ ให้คงสาระสำคัญในภาค 3 และภาค 4 ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปและการเสริมสร้างความปรองดองเอาไว้ ส่วนที่มาของ ส.ว.เสนอให้มาจากการสรรหาทั้งหมด แต่ให้มีการปรับลดอำนาจหน้าที่ ส.ว.ลง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการเสนอกฎหมาย ตลอดจนการถอดถอนที่จะมีอำนาจถอดถอนเฉพาะบุคคลที่ ส.ว.แต่งตั้งเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจถอดถอนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

ด้านนายวุฒิสารกล่าวว่า ส่วนกลุ่มที่ 2 นำโดยนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ เสนอขอแก้ไขทั้งสิ้น 44 มาตรา มีสาระสำคัญคือ ขอให้มีการเพิ่มเติมชื่อ ภาค 2 หมวด 2 เป็นยุทธศาสตร์ชาติและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เพื่อให้ประเทศมียุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างชัดเจน ชี้นำการกำหนดนโยบายและแผน อย่างไรก็ตาม สำหรับการการชี้แจงคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ต่อ กมธ.ยกร่างฯ นั้น กมธ.ยกร่างฯ จะทำการซักถามบางประเด็นเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพื่อนำไปพิจารณาปรับแก้ไขอย่างละเอียด ด้วยการกำหนดประเด็นหลักในการพิจารณา จากนั้นจึงพิจารณารายละเอียดในแต่ละหมวดแต่ละมาตราต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น