รักษาการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จำไม่ได้ใครร่าง ม.282 (3) บอกไม่ได้ยุ่งกลัวประโยชน์ทับซ้อน แต่หลังหมดวาระจะเสนอให้แก้เพิ่มอำนาจขึ้น สามารถชงกฎหมายเข้าสภาได้ ป้อง กมธ.ยกร่างฯ สมัคร คปก.ไม่ทับซ้อน เหตุฉบับล่าสุดถูกเขียนลดอำนาจทำได้แค่เลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่จำกัดสิทธิประชาชน ด้าน “สุภัทรา” ลั่นลงสมัครแน่ อ้างคุณสมบัติไม่ต้องห้าม ขณะที่ “บวรศักดิ์” ถอนตัว กลัวถูกนักการเมืองด่า แย้มตัดมาตรานี้ทิ้ง
วันนี้ (13 พ.ค.) ที่รัฐสภา นายบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ รักษาการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 282 (3) ว่า ในมาตราดังกล่าวตนจำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ยกร่าง และเรื่องดังกล่าว ตนก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวข้องเพราะเกรงว่าจะทับซ้อนเพราะขณะนั้นตัวเองเป็น คปก.อยู่ แต่หลังจากนี้ ตนซึ่งไม่ได้เป็น คปก.แล้วเนื่องจากหมดวาระ จะเสนอให้มีการแก้ไขมาตราดังกล่าวให้มีอำนาจเพิ่มขึ้น โดยเสนอกฎหมายไปที่รัฐสภาได้โดยผ่าน ครม.และให้มีอำนาจเพียงให้ความเห็นประกอบเท่านั้นและไม่ต้องผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา
นายบรรเจิดกล่าวว่า ที่ผ่านมา คปก.แบ่งการทำงานเป็น 2 ชุด คือ แบบเต็มเวลาและไม่เต็มเวลา โดยผู้ที่ทำงานเต็มเวลาจะต้องทำงานทุกวัน ส่วน กมธ.ยกร่างฯ หรือ สปช.หากได้รับคัดเลือกเป็น คปก. จะกระทบเวลาทำงานหรือไม่ ตนไม่ทราบต้องไปถามบุคคลนั้น
เมื่อถามว่า กรณี กมธ.ยกร่างฯ ไปลงสมัครเป็น คปก. และมีส่วนเกี่ยวข้องในการยกร่างมาตรา 282 (3) นายบรรเจิดกล่าวว่า ถือว่าไม่เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะรัฐธรรมนูญไปเขียนลดอำนาจ คปก.ลง เพราะให้อำนาจพิจารณายกเลิก หรือปรับปรุงกฎหมายหรือกฎแล้วแต่กรณีที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น ทั้งที่ อำนาจเดิมสามารถเสนอได้ทุกเรื่อง
ด้าน น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษก กมธ.ยกร่างฯ และสปช. ในฐานะผู้สมัครคณะกรรมการ คปก.ไม่เต็มเวลา ยืนยันว่าจะสมัครเป็น คปก.เพราะคุณสมบัติไม่ได้ต้องห้าม ส่วนจะได้เป็นหรือไม่ยังไม่ทราบ และมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรขัดกับรัฐธรรมนูญร่วมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังไม่เสร็จเลย รวมทั้งมาตรา 282 (3) ก็ไม่ได้ให้อำนาจอะไรเพิ่มเติมแก่ คปก.เลย ไม่เชื่อลองไปเปิดร่างรัฐธรรมนูญดู
ขณะที่เวลา 12.30 น. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สมัครเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) แทนชุดเดิมที่จะหมดวาระลง ซึ่งตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในมาตรา 282 (3) ให้อำนาจหน้าที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีอำนาจเสนอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พิจารณายกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายแล้วแต่กรณี จนถูกมองว่าอาจจะเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญมาเอื้อประโยชน์ให้แก่ตัวเองว่า ตนได้ถอนใบสมัครแล้วเพื่อไม่ให้กระทบต่อรัฐธรรมนูญ และเพื่อไม่ให้นักการเมืองมาด่าตน นอกจากนี้ ตนอาจจะตัดมาตรานี้ในร่างรัฐธรรมนูญทิ้งด้วย ส่วนกรณีที่มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางคนลงสมัครด้วยนั้นก็ถือเป็นสิทธิของเขาที่จะลงสมัครได้