xs
xsm
sm
md
lg

"บวรศักดิ์"ถอนใบสมัครคปก.แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (13พ.ค.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สมัครเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) แทนชุดเดิม ที่จะหมดวาระลง ซึ่งตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในมาตรา 282 (3) ให้อำนาจหน้าที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีอำนาจเสนอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พิจารณายกเลิก หรือปรับปรุงกฎหมายแล้วแต่กรณี จนถูกมองว่าอาจจะเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญมาเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง ว่า ตนได้ถอนใบสมัครแล้ว เพื่อไม่ให้กระทบกับรัฐธรรมนูญ และเพื่อไม่ให้นักการเมืองมาด่าตน
นอกจากนี้ ตนอาจจะตัดมาตรานี้ ในร่างรัฐธรรมนูญทิ้งด้วย ส่วนกรณีที่มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางคนลงสมัครด้วยนั้น ก็ถือเป็นสิทธิของเขา ที่จะลงสมัครได้
นายบรรเจิด สิงคะเนติ กมธ.ยกร่างฯ และรักษาการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) กล่าวถึง การยกร่าง รธน. มาตรา 282 (3) ว่า ในมาตราดังกล่าว ตนจำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ยกร่าง และเรื่องดังกล่าวตนก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะเกรงว่าจะทับซ้อน เพราะขณะนั้นตัวเองเป็น คปก. อยู่ แต่หลังจากนี้ ตนซึ่งไม่ได้เป็นคปก.แล้ว เนื่องจากหมดวาระ จะเสนอให้มีการแก้ไขมาตราดังกล่าว ให้มีอำนาจเพิ่มขึ้นโดยเสนอกฎหมายไปที่รัฐสภาได้ โดยผ่านครม. และให้มีอำนาจเพียงให้ความเห็นประกอบเท่านั้น และไม่ต้องผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา
นายบรรเจิด กล่าวว่า ที่ผ่านมา คปก. แบ่งการทำงานเป็น 2 ชุด คือ แบบเต็มเวลา และไม่เต็มเวลา โดยผู้ที่ทำงานเต็มเวลา จะต้องทำงานทุกวัน ส่วนกมธ.ยกร่างฯ หรือ สปช. หากได้รับคัดเลือกเป็น คปก. จะกระทบเวลาทำงานหรือไม่ ตนไม่ทราบ ต้องไปถามบุคคลนั้น
เมื่อถามว่ากรณี กมธ.ยกร่างฯ ไปลงสมัครเป็น คปก. และมีส่วนเกี่ยวข้องในการยกร่าง มาตรา 282 (3) นายบรรเจิด กล่าวว่า ถือว่าไม่เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะรัฐธรรมนูญไปเขียนลดอำนาจ คปก.ลง เพราะให้อำนาจ “พิจารณายกเลิก หรือปรับปรุงกฎหมาย หรือกฎแล้วแต่กรณี”ที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น ทั้งที่ อำนาจเดิมสามารถเสนอได้ทุกเรื่อง
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกมธ.ยกร่างฯ และสปช. ในฐานะผู้สมัครคณะกรรมการ คปก.ไม่เต็มเวลา ยืนยันว่าจะสมัครเป็น คปก.เพราะคุณสมบัติไม่ได้ต้องห้าม ส่วนจะได้เป็นหรือไม่ ยังไม่ทราบ และมั่นใจว่า ไม่ได้ทำอะไรขัดกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ยังไม่เสร็จเลย รวมทั้ง มาตรา 282 (3) ก็ไม่ได้ให้อำนาจอะไรเพิ่มเติม แก่ คปก.เลย ไม่เชื่อลองไปเปิดร่างรัฐธรรมนูญดู
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านกฎหมาย กล่าวถึงกรณี นายบวรศักดิ์ เข้ารับการสรรหาเป็น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ชุดใหม่ ว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 และ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่กำลังพิจารณากันอยู่ ไม่ได้กำหนดว่า เมื่อกมธ.ยกร่างฯ พ้นจากตำแหน่ง 2 ปี แล้วจะเป็นอะไรไม่ได้เลย เพียงแต่เขียนห้ามว่า กมธ.ยกร่างฯ จะไปดำรงตำแหน่งในทางการเมืองไม่ได้ โดยตำแหน่งทางการเมืองคือ ส.ส.-ส.ว. รัฐมนตรี ส่วนตำแหน่งอื่นไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และ คปก. ไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมือง ไม่มีอะไร ห้าม
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า นายบวรศักดิ์ เป็นประธานกมธ.ยกร่างฯ อาจมีส่วนได้ส่วนเสียในการพิจารณากฎหมายนั้น ไม่ใช่ เพราะการสรรหา คปก. เป็นไปตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2553 ที่มีมาหลายปีแล้ว จนกระทั่งมาคณะกรรมการคปก.ชุด นายคณิต ณ นคร มาครบวาระ จึงต้องสรรหาใหม่ตามกฎหมายเดิม ไม่มีอะไรแปลกใหม่ และ คสช.ไม่ได้ออกประกาศอะไรใหม่ แต่ในอนาคตหากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำ คปก.รูปแบบใหม่ กรรมการคปก. ที่กำลังสรรหากันอยู่ ก็ต้องสิ้นสุดลง แล้วไปสรรหาใหม่ ดังนั้นจะได้เป็นหรือไม่ ยังไม่รู้เลย
"เขาไม่ได้ใจร้ายถึงขนาดห้ามว่า คนที่ทำรัฐธรรมนูญ จะทำอะไรไม่ได้ตลอดชีวิต ไม่ใช่อย่างนั้น เข้าห้ามไว้แค่ 2 ปี และห้ามเฉพาะการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ใช่เอา 36 กมธ.ยกร่างฯ ชุดนี้ มาขึ้นเขียงรัฐธรรมนูญ จะผ่านหรือไม่ผ่าน ยังไม่รู้ แล้วยังจะบอกไม่ให้เป็นอะไรอีก" นายวิษณุ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น