ปธ. กมธ.ยกร่างฯ จับมือ สปช.สายสื่อฯ คนดังเพียบ สายตายาวไกลแห่สมัคร คปก. ชุด อ.คณิต หมดวาระ หลังร่าง รธน. 282 (3) เพิ่มอำนาจยกเลิก หรือแก้ไขกฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคปฏิรูปประเทศ พร้อมรับทรัพย์อีกเด้งเดือนละแสนกว่าบาทตลอด 4 ปี “ศรีสุวรรณ” แปลกใจ “บวรศักดิ์” ช่างกล้า หวั่นถูกร้องเรียนและโยงผลประโยชน์ทับซ้อน
ผู้สื่อข่าวรายงาน่า ภายหลังที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จำนวน 11 คน ที่มี ศ.ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธานจะหมดวาระลงในวันที่ 22 พ.ค. 2558 หลังจากดำรงตำแหน่งมา 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2554 ตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ นั้น ขณะนี้ได้มีบุคคลที่น่าสนใจไปสมัครหลายคน ภายหลังหมดเขตการรับสมัครไปตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยในตำแหน่งคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา อาทิ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ, นางสุนี ไชยรส ปัจจุบันรองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดปัจจุบัน และอดีตกรรมการสิทธิฯ, นายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกฯ, นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต., นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ สมาชิก สปช.ด้านสื่อมวลชน และอดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เป็นต้น
ทั้งนี้ ในตำแหน่งดังกล่าว ตาม พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2554 จะได้เงินเดือน 62,000 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวม 104,500 บาทต่อเดือน รวมทั้งได้สิทธิประโยชน์ ค่าเดินทาง ที่พัก และค่ารักษาพยาบาล
ขณะที่คณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลา โดยมีผู้สมัคร เช่น นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมายปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลาชุดปัจจุบัน และผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สปช.ด้านสื่อมวชน นายคมสัน โพธิ์คง อ.นิติศาสตร์ สุโขทัยธรรมาธิราช นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รศ.พิศวาท สุคนธพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นต้น โดยจะได้รับเงินเดือนตาม พ.ร.ฎ. ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2554 เดือนละ 42,500 บาท และสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกันกับคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา
สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดที่สองนี้ต่อจากชุด ศ.ดร.คณิต ณ นคร ที่จะเข้ามาทำหน้าที่จะดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และสามารถได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีกแต่ไม่เกิน 2 วาระติดกัน โดยผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา โดยมีตัวแทนจาก ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งกรรมการสรรหาจากภาควิชาการ และเอกชน
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า สาเหตุที่บุคลเหล่านี้เข้ามาสมัคร นอกจะมีอำนาจ ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2553 ในการเสนอแนะปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ยังมีอำนาจใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายบวรศักดิ์เป็นประธาน กำลังยกร่างอยู่ในมาตรา 282 (3) ให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีอำนาจเสนอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ “พิจารณายกเลิก หรือปรับปรุงกฎหมายหรือกฎแล้วแต่กรณี” ที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระหรือขั้นตอนโดยไม่จำเป็น
ประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในกรณีที่นายบวรศักดิ์ ไปสมัครเป็น คปก. ในขณะที่ตัวเองเป็นประธาน กมธ.ยกร่างฯ จะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองหรือไม่ เนื่องจากคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีอำนาจพิจารณายกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายหรือกฎได้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์กรณี สปช.ที่มีเงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาทต่อเดือน เงินเพิ่ม 42,330 บาทต่อเดือน รวมทั้งสิ้นประมาณ 113,560 บาทต่อเดือนอยู่แล้ว และมีการเสนอให้อยู่ในตำแหน่งไปอีก 2 ปี ขณะที่ กมธ.ยกร่างฯ ก็มีเบี้ยประชุมครั้งละ 9,000 บาท ยังจะได้รับเงินเดือนของ คปก.อีกจำนวน 104,500 บาทต่อเดือน เป็นเวลาอีก 4 ปี
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้สมัครกรรมการปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา กล่าวว่า สาเหตุที่ตัวเองเข้าไปสมัครไม่ได้มองว่าร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 282 (3) ให้อำนาจมากมหาศาล แต่ต้องการเข้าไปเพื่อผลักดันกฎหมายต่างๆเพื่อช่วยเหลือและดูแลสิทธิของประชาชนที่คิดว่าจะสามารถทำได้ง่ายกว่าวิธีอื่น แต่ตนก็ไม่ได้คาดหวังอะไรเพราะมีคู่แข่งโดยเฉพาะกรรมการปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลามาสมัครถึง 40 คน
“ผมแปลกใจมากว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน กมธ.ยกร่างฯ อยู่แล้วจะมาสมัครกรรมการชุดดังกล่าวทำไมหาก รวมทั้ง สปช.คนอื่นๆ ด้วย ดังนั้น หากนายบวรศักดิ์ และ สปช.ได้รับเลือกเป็น คปก.จะถูกมองว่าเขียนรัฐธรรมนูญมาเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองและจะถูกร้องเรียนกันวุ่นวายแน่นอน” นายศรีสุวรรณระบุ