กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ แจงเหตุบัญญัติให้คนนอกร่วมวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เพื่อให้บุคคลธรรมดาที่ไม่ได้อยู่ในวิชาชีพได้แสดงทัศนะตามหลักวิชาการ ไม่คิดให้เข้าไปแทรกแซงศาล
ในการประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณาภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม นายบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงถึงภาพรวมในหมวด 1 ตอนหนึ่งว่า ตามมาตรา 222 ว่าด้วยการวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนั้น กมธ.ยกร่างฯ ต้องการให้ศาลที่เป็นคู่กรณีเข้าร่วมในการวินิจฉัยและให้มีผู้ทรงคุณวุฒิ 3-5 ท่าน ช่วยชี้ในพื้นฐานของหลักวิชาการ เพื่อให้พื้นฐานแห่งการวินิจฉัยอยู่บนหลักวิชาการ
ทั้งนี้ ยืนยันว่า กมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้มีความมุ่งหมายต้องการให้เกิดการแทรกแซงทางของการเมืองใด เพียงแต่ต้องการให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นบุคคลธรรมดาสามัญได้แสดงทัศนะของประชาชน เพราะฉะนั้น การกำหนดดังกล่าวต้องการให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) หรือคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) เปิดกว้างในการที่จะรับทัศนาจากบุคลากรที่ไม่ได้อยู่ในวิชาชีพ
นายบรรเจิดกล่าวว่า สำหรับมาตรา 226 ว่าด้วยการดำรงตำแหน่งและการเกษียณอายุราชการของผู้พิพากษาและตุลาการนั้น ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด ให้ดำรงตำแหน่งเพียงหนึ่งวาระ คือ 4 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้อยู่ในตำแหน่งมากจนเกินไป ถ้าอยู่นานเกินไปจะทำให้กระบวนการบริหารของศาลเกิดความไม่รื่นไหลต่างๆ ส่วนการกำหนดอายุผู้พิพากษาศาลอาญา ศาลยุติธรรม มีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ถือว่าเกษียณอายุ ไม่ได้หมายความว่าพ้นจากตำแหน่งแล้วผู้พิพากษาต้องไปอยู่ในศาลชั้นต้น แต่การจะไปดำรงตำแหน่งตรงไหนอย่างไรให้ ก.ต. หรือ ก.บ.ศ. เป็นผู้กำหนด