xs
xsm
sm
md
lg

อนุ กมธ.เสนอคง 4 ศาล เพิ่มอุทธรณ์การเมือง-ที่มานายกฯ ตามเดิม แก้การใช้อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรเจิด สิงคะเนติ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 7(แฟ้มภาพ)
ปธ.อนุ กมธ.พิจารณากรอบ รธน.คณะ 7 เสนอคง 4 ศาล ยอมรับข้อเสนอเพิ่มอุทธรณ์ในคดีการเมืองเป็นแนวทางหนึ่ง แต่เคยมีใน รธน.50 แล้ว ให้ ปชช.มีส่วนร่วมกระบวนการยุติธรรม อนุ กมธ.คณะ 3 เสนอที่มานายกฯ ยึดรูปแบบเดิม ปรับการใช้อำนาจฝ่ายบริหารให้ถูกต้อง ด้าน “สุจิต” เสนอ ส.ส.ไม่เกิน 350 คน เพื่อให้ทำงานคล่องตัว ส่วนที่มา ส.ว.ยังคง 2 รูปแบบ ชี้เลือกตั้งมะกันไม่เหมาะไทย

วันนี้ (2 ธ.ค.) นายบรรเจิด สิงคะเนติ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 7 ว่าด้วยภาค 3 นิติธรรม ศาล และกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนของหมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม กล่าวก่อนเข้าประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าได้มีการนำเสนอ 2 กรอบหลักการใหญ่ คือ 1. เรื่องศาลให้ คงจำนวน 4 ศาลเช่นเดิม คือ ศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลยุติธรรม, ศาลปกครอง และศาลทหาร ส่วนกรณีของศาลที่พิจารณาเกี่ยวกับความผิดหรือคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่กระแสข่าวว่านายอุดม เฟื่องฟุ้ง อนุกรรมาธิการฯ เสนอให้เพิ่มกระบวนการอุทธรณ์ในศาลที่พิจารณาในคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นถือเป็นข้อเสนอหนึ่ง แต่ในเรื่องของการอุทธรณ์นั้นในรัฐธรรมนูญ 2550 มีระบุอยู่แล้วในเรื่องของการทบทวน กล่าวคือ หากมีข้อมูลใหม่หรือข้อมูลเพิ่มเติมสามารถให้ดำเนินการทบทวนได้ อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาในรายละเอียดดังกล่าวอีกครั้ง และ 2. กระบวนการยุติธรรม ได้เสนอเรื่องสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร และหลักประกันของคนในกระบวนการยุติธรรม ความเที่ยงธรรม รวมถึงระบบทางอาญาเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด ด้วยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการ นอกจากนั้นในคดีสำคัญ ต้องให้อัยการเข้าไปร่วมสอบสวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตั้งแต่ต้นทางและจะกำหนดให้รัฐช่วยเหลือทางกฎหมายกับประชาชน อาทิ การให้ความรู้, ให้คำแนะนำ, การไกล่เกลี่ย

ด้านนายสุจิต บุญบงการ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 3 ว่าด้วยภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 1 ระบบผู้แทนที่ดี และผู้นำการเมืองที่ดี, หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ, หมวด 3 รัฐสภา และหมวด 4 คณะรัฐมนตรี กล่าวว่าทางคณะอนุฯ มีข้อสรุปต่อข้อเสนอ คือ 1. ที่มาของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี คือให้ใช้รูปแบบที่มาเหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2550 คือ ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ที่เลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีหลักพิจารณาว่าที่ผ่านมาระบบการเลือกนายกฯ ในรูปแบบสภาดังกล่าวนั้นไม่ได้มีปัญหา แต่กรณีที่เกิดปัญหาเป็นเพราะผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองใช้อำนาจทางบริหารที่ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้น หากยึดรูปแบบเดิมและแก้ไขในส่วนที่มีข้อบกพร่องจะเป็นการแก้ปัญหาได้มากกว่า โดยข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อสรุปจากเสียงข้างมากของ อนุกรรมาธิการ ส่วนข้อเสนอข้างน้อย คือ เสนอให้เลือกคณะรัฐมนตรีโดยตรง ยังคงสงวนสิทธิ์ไว้และนำเข้าสู่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหญ่เช่นเดียวกัน ทั้งนี้มีประเด็นที่พิจารณาต่อ คือ การให้เลือกคณะรัฐมนตรีผ่านการเลือกตั้งตรงของประชาชนนั้นจะเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งให้ฝ่ายบริหารมากเกินไปจนทำให้เป็นปัญหาต่อการบริหารงานในอนาคตได้

นายสุจิตกล่าวด้วยว่า จากการพบปะกับนายซีมอน โรเด็ด เอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้สอบถามถึงประเด็นการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงซึ่งประเทศอิสราเอลเคยใช้และได้มีการยกเลิกไปแล้ว โดยนายซีมอนได้ระบุถึงเหตุผลของการยกเลิกดังกล่าวว่าเป็นเพราะมีปัญหาของระบบการทำงานที่ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็งมากเกินไป นอกจากนั้นในประเด็นพิจารณาที่ยกกรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่ประสบความสำเร็จมาพิจารณา แต่เชื่อว่าจะไม่เหมาะกับประเทศไทย เพราะสหรัฐอเมริกามีวัฒนธรรมของการออมชอมและประนีประนอมมากกว่า

นายสุจิตกล่าวด้วยว่า สำหรับที่มาของ ส.ส.นั้นจะให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบเขต และบัญชีรายชื่อ โดยเสนอจำนวน ส.ส.อยู่ที่ 350 คน ทั้งนี้อาจจะปรับลดจากจำนวนดังกล่าวได้ แต่ต้องไม่เพิ่มมากไปกว่านี้ โดยมีเหตุผลคือเพื่อให้การทำงานของ ส.ส.มีความคล่องตัว และสามารถตอบสนอง เข้าถึงประชาชนได้อย่างมีศักยภาพ ขณะที่ที่มาของ ส.ว.จะยังคง 2 ระบบ คือ มาจากการเลือกตั้ง และสรรหาตามวิชาชีพที่มีกรอบการสรรหาอย่างกว้าง ทั้งนี้ ในรูปแบบสรรหานั้นอาจต้องมีการโหวตจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนด้วย ส่วนหน้าที่ถอดถอนของ ส.ว.นั้น อนุกรรมาธิการฯ ยังให้คงไว้เช่นเดิม อย่างไรก็ตาม รูปแบบทั้งหมดนั้นเป็นเพียงข้อเสนอต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้


กำลังโหลดความคิดเห็น