xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ เผย ภาค 2 การเมืองขอแก้แยะสุด ดัก สปช.สงวนคำแปรญัตติไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ยันปล่อยให้ ครม.-สปช.9 กลุ่มแจงแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ตอบโต้แต่ขอเคลียร์ข้อสังเกต แบ่งเอกสารคำขอแก้ 4 ชุด ภาค 2 การเมืองหนาสุด 500 หน้า กมธ.การเมือง-กม.ขอแก้แยะสุด 334 ทุกกลุ่มพร้อมใจขอแก้มาตรา ม.121-279 ดัก สปช. รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้สิทธิสงวนคำแปรญัตติ อำนาจอยู่ที่ กมธ. ชี้ทุกคำขอมีความหมาย แต่รับมีความหมายมาตราไหนขอแยะ



วันนี้ (28 พ.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณากำหนดกรอบการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับฟังคำชี้แจงจาก สปช. และครม. ทั้ง 9 คำขอ ตั้งแต่วันที่ 2-6 มิถุนายน โดยกรรมาธิการฯ จะเน้นการรับฟังผู้ที่ชี้แจงเป็นหลักและซักถามเพื่อให้เกิดความเข้าใจ โดยไม่แสดงความเห็นหรือโต้แย้งใดๆ อีกทั้งได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานจะพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมโดยยึดประโยชน์ประเทศชาติ และประชาชนเป็นหลัก เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง และหลังจากรับฟังคำชี้แจงของตัวแทนทั้ง 9 กลุ่ม รวมทั้งรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากพรรคการเมือง และประชาชนจากการจัดเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่ต่างๆแล้ว ก็จะกำหนดประเด็นหลักในการพิจารณาก่อนที่จะลงในรายหมวด รายมาตรา

นายคำนูณกล่าวว่า จากการสรุปความเห็นของผู้เสนอขอแก้ไขเข้ามาทั้ง 9 กลุ่ม ตั้งแต่มาตรา 1 ถึง มาตรา 315 รวมทั้งชื่อหมวด ชื่อภาคว่ามีกลุ่มใดเสนอขอแก้ไขมาบ้าง และจัดทำเอกสารแจงคำขอแก้ไขรายมาตรามีทั้งสิ้น 4 ชุด โดยแบ่งตามภาคของร่างรัฐธรรมนูญ ที่แจกในที่ประชุมวันนี้คือหมวดทั่วไปและภาคหนึ่ง มีความหนาน้อยที่สุด ส่วนภาคสองเกี่ยวกับเรื่องการเมืองจะมีความหนามากสุดประมาณ 500 หน้า ส่วนที่หนารองลงมา คือ ภาคสาม เรื่องกระบวนการยุติธรรม ส่วนภาคสี่มีความหนามากถึงต้องแบ่งเป็น 2 เล่ม ส่วนมีการขอแก้ไขในมาตราใดมากที่สุดยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน แต่เท่าที่ดูเห็นว่าคำขอของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปด้านการเมือง และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปด้านยุติธรรมและกฎหมายมีการขอทั้งสิ้น 334 มาตรา ส่วนที่มีการขอแก้ไขมาน้อยมาตราที่สุดคือของนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และนายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ จำนวน 49 มาตรา ส่วนมาตราที่มีผู้ขอแก้ไขมาทั้ง 9 คำขอเท่าที่สำรวจคร่าวๆ คือ มาตรา 121 ที่มา ส.ว. และมาตรา 279 การขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ รองลงมาคือ 8 คำขอ คือ มาตรา 62-64 เกี่ยวกับสิทธิชุมชน สิทธิในทรัพยากรต่างๆ

“ขณะนี้เรายังไม่ตัดสินใจใดๆเกี่ยวกับการแก้ไขร่างใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่จะอภิปรายว่าจะแยกกี่ประเด็น หรือตัดประเด็นไหน เราจำเป็นต้องให้เกียรติผู้ยื่นคำขอแก้ไขทั้ง 9 คำขอ ฉะนั้นตลอดสัปดาห์หน้าเราจะขอรับฟังคำชี้แจงพร้อมเอกสารคำขอ โดยจะเน้นการรับฟังเป็นหลักและสอบถามเพื่อให้เกิดความเข้าใจไม่ใช่ไปโต้แย้ง และในขั้นการพิจารณาใน สปช. สมาชิกไม่สามารถสงวนคำแปรญัตติได้ เมื่อผู้ยื่นคำขอแก้ไขเสนอมาเรามีหน้าที่พิจารณา จะไม่ต้องนำมาตัดสินเป็นรายมาตราใน สปช.อีก ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการทำรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 ที่ให้ผู้มีการสงวนคำแปรญัตติได้ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้ใช้คำว่า ‘ขอแปรญัตติ’ แต่เป็นคำ ‘ขอแก้ไขเพิ่มเติม’ ดังนั้นอำนาจการตัดสินแก้ไขหรือไม่เป็นของกรรมาธิการ สิ่งที่เราต้องพิจารณาอย่างหนักคือการชี้แจงด้วยวาจาเท่านั้น”

ผู้สื่อข่าวถามว่าในมาตราที่มีการเสนอคำขอเข้ามาจำนวนมากจะมีน้ำหนักเพียงพอที่กรรมาธิการจะยอมแก้ไขหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า เราพิจารณาทั้งจำนวนและเหตุผลของทุกคำขอ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้ามีคำขอเข้ามามากที่สุดแล้วจะไม่มีความหมายอะไร แต่ก็ไมได้หมายความว่ามาตราไหนที่ขอแก้ไขมาเพียง 1 คำขอจะด้อยค่าลงไป ซึ่งต้องพิจารณาประกอบกันไป ยกตัวอย่างมีการยื่นมาทั้ง 9 คำขอแต่ก็มีประเด็นแตกต่างกันไป ตอนนี้ยังไม่ได้สำรวจว่ามียื่นเข้ามาแล้วเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างไร

“อย่างของ ครม.ก็มีหลายประเด็นที่อ่านเอกสารแล้วยังสงสัยอยู่ ถ้ามาชี้แจงก็จะได้ทำความเข้าใจอย่างละเอียดอีกที ส่วนใหญ่จะเป็นการเสนอขอแก้ไขตามปกติเช่นเสนอตัดเรื่องกลุ่มการเมืองออกไป แต่ก็มีการเรื่องที่เป็นข้อสังเกตของนายกรัฐมนตรีที่อยากให้กรรมาธิการฯ ทบทวนอีกที เช่นระบบเลือกตั้ง จึงอยากเชิญมาชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนมากกว่านี้”

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะบัญญัติบางคำขอเพิ่มมาตราใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น กรณีที่นายกฯ ต้องการให้สืบสานเรื่องการปฏิรูปจากรัฐบาลนี้ นายคำนูณกล่าวว่า การยื่นคำขอหมดเขตไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. แต่กรรมาธิการยกร่างฯ สามารถปรับแก้ไขร่างได้ เพราะในบางกรณี แก้ไขไปตามที่ขอมาแล้วอาจจะไปขัดหรือแย้งกับหลักการอื่น เราก็จำเป็นต้องแก้ไขให้สอดคล้องกันซึ่งส่วนใหญ่ได้จัดทำมาเรียบร้อยแล้ว ยกเว้นของ ครม.ที่แตกต่างออกไป เช่นบางมาตรามีการแทรกข้อสังเกตว่าแต่ไม่ได้ขอแก้ไข



กำลังโหลดความคิดเห็น