“ไพบูลย์” แจง กมธ.ยกร่างฯ บัญญัติกลุ่มการเมืองตามคำเรียกร้องประชาชน ไม่เอาต้องตอบโจทย์ปัญหาให้ได้ พร้อมค้านหากตัดทิ้งแล้วกลับเป็นแบบเดิม ชี้ปฏิรูปไม่เสียของต้องแก้ปัญหาก่อนรัฐประหาร ยันนายกฯ คนนอกจำเป็นแต่ต้องมีความหยุ่นตัว ดักตัดสภาตรวจสอบภาคประชาชน ทำลายหลักการประชาชนเป็นใหญ่ รับถกแล้วผู้ที่นั่งต้องไม่เอี่ยวการเมืองทุกระดับ แจงทำเพื่อไม่ต้องชุมนุม
วันนี้ (27 พ.ค.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวถึงกรณีที่มีหลายความเห็นเสนอให้ตัดกลุ่มการเมืองออกจากร่างรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้สามารถมองได้หลายความเห็น แต่หลักการที่ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้บัญญัติให้มีกลุ่มการเมืองนั้นมาจากเสียงเรียกร้องของภาคประชาชนที่ต้องการให้มีการสมัคร ส.ส. โดยอิสระไม่สังกัดพรรค ซึ่งต่อมา ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้มีการบัญญัติเรื่องระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนขึ้น ทำให้การสมัครลงเลือกตั้ง ส.ส.โดยไม่สังกัดพรรคก็ทำไม่ได้ เพราะจะต้องมีการส่งบัญชีรายชื่อ ดังนั้นจะไม่ตรงกับความเห็นของประชาชน และไม่สามารถตอบโจทย์ของเหตุการณ์ก่อนวันที่ 22 พ.ค. ที่มองว่าพรรคการเมืองผูกขาดอำนาจซึ่งจะนำไปสู่ระบบการเมืองที่ล้มเหลวไม่ได้ ดังนั้นจึงมีการบัญญัติเรื่องกลุ่มการเมืองขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือก ส.ส.โดยไม่ต้องสังกัดพรรค ถ้าไม่เอากลุ่มการเมืองนั้น ตนคิดว่าต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าเราเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ปฏิรูปอะไรบ้างหรือไม่
นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่ให้การปฏิรูปไม่เสียของคือต้องแก้ปัญหาของเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหารให้ได้ การปฏิรูปจะได้ไม่เสียของ สำหรับเรื่องที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และหลายภาคส่วนนั้น ได้ส่งคำขอให้มีการปรับเรื่องของการเลือกตั้งใหม่นั้น ตนคิดว่าเป็นความคิดที่ดี ต้องรับฟัง เพราะสิ่งที่เป็นห่วงก็คือระบบเลือกตั้งที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้เสนอนั้นยังใหม่และมีข้อถกเถียงอยู่เยอะ แต่ทั้งนี้ ถ้าเอาระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนมาแล้วไปตัดเรื่องกลุ่มการเมืองออกไป ให้มีแต่พรรคการเมือง ถ้าเป็นแบบนี้ตนคงต้องขอท้วง เพราะว่าจะทำให้ระบบปาร์ตี้ลิสต์ที่ตนคัดค้านนั้น มีแต่แบ่งเขต ทำให้มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มมากขึ้นไปอีก
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าคิดอย่างไรกับขณะนี้ที่ทาง กมธ.ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้ตัดเรื่องของการมีนายกรัฐมนตรีคนนอกออกไปแม้ในยามวิกฤติ นายไพบูลย์กล่าวว่าเรื่องนี้ก็มีบางคำขอ แต่หลายคำขอนั้นไม่ได้ตัดประเด็นนี้ โดยส่วนตัวนั้น ตนมีจุดยืนว่าทำไมต้องไปเขียน แล้วยิ่งถ้าไปพูดถึงปัญหาเมือก่อนวันที่ 22 พ.ค.ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกเข้ามา เพื่อจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะกำหนดให้เป็นอย่างเก่าไม่ได้ ต้องให้ระบบมีความหยุ่นตัว
“ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลุ่มการเมือง เรื่องอะไรต่างๆ ถ้าจะต้องกลับไปสู่ระบบปาร์ตี้ลิส 100 คน แล้ว ส.ส.เขตเดียวเบอร์เดียว ผมแย้งแน่นอนเพราะมันไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย แต่ถ้าเป็นแบบแบ่งเขต แบบหลายเบอร์ หรือเขตทั้งจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครสามารถจะไม่สังกัดพรรคได้ด้วย อันนั้นอาจจะสามารถตอบโจทย์ของผมได้” นายไพบูลย์กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อเรื่องที่มีความเห็นให้ตัดสภาตรวจสอบภาคพลเมืองออกไปนั้น นายไพบูลย์กล่าวว่าสภาตรวจสอบภาคเมือง สมัชชาพลเมือง สมัชชาคุณธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ทาง กมธ.ยกร่างฯอยากให้ประชาชนมีบทบาทโดยตรง ไม่ใช่แค่ผ่าน ส.ส. เท่านั้น โดยรัฐจะต้องมีหน้าที่สนับสนุนในส่วนนี้ ทั้งนั้นตนเข้าใจว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยนั้น อาจจะกลัวว่าจะเป็นการให้ประชาชนไปรวมกลุ่มกันทำอะไรมิดีมิร้ายขึ้นมา ซึ่งเรื่องนี้ตนเห็นว่าทาง กมธ.ยกร่างฯ ก็คงจะต้องไปปรับแก้ในมาตราให้มีความเหมาะสมและคงหลักการเดิมเอาไว้ แต่ถ้าตัดในส่วนนี้ออกไป ก็จะเป็นการไปทำลายหลักการของ กมธ.ยกร่างฯที่ได้วางไว้ว่าประชาชนต้องเป็นใหญ่ และเท่ากับว่าไม่ได้เห็นถึงเจตนารมของมวลมหาประชาชนที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเป็นล้านๆ คนซึ่งเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเกิดขึ้น
เมื่อผู้สื่อข่าวได้ถามต่อถึงกรณีที่มีความเห็นว่าสภาตรวจสอบภาคประชาชนอาจจะเป็นแหล่งของนักการเมืองที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งนั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า เรื่องนี้ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้มีการคุยกันแล้ว โดยมีการถกเถียงกันในอนุ กมธ.ศึกษาการยกร่างฯ ว่าด้วยเรื่องสภาตรวจสอบภาคพลเมือง จนในที่สุดได้กำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งสภาตรวจสอบว่าจะต้องไม่เคยเป็นผู้สมัครและผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในระดับท้องถิ่น หรือในระดับ ส.ส.และ ส.ว อีกทั้งวิธีเลือกนั้นก็ไม่ใช่การคัดสรรแต่เป็นการสุ่มผู้สมัครขึ้นมาเพื่อผลัดเปลี่ยนการทำหน้าที่ ขอยืนยันว่ากลไกของสภาตรวจสอบที่ว่านี้จะป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องออกมาชุมนุมอีก เพราะเขาจะได้ไปทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมืองตรงนี้แทน