“ไพบูลย์” ประกาศไม่ยอมเด็ดขาดหากตัดกลุ่มการเมือง นายกฯ คนนอก ออกจากร่างรัฐธรรมนูญ ระบุจะทำให้การปฏิรูปเสียของ เช่นเดียวกับการตัดสภาตรวจสอบภาคเมือง-สมัชชาพลเมือง-สมัชชาคุณธรรม เป็นการทำลายหลักการประชาชนต้องเป็นใหญ่ ด้าน “มานิจ” ยัน กมธ.ยกร่างฯ ทำงานเต็มที่แต่หากขยายเวลาเพิ่มจะช่วยให้ยืดหยุ่นและรอบคอบมากขึ้น
นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีหลายความเห็นเสนอให้ตัดกลุ่มการเมืองออกจากร่างรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้สามารถมองได้หลายความเห็น แต่หลักการที่ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้บัญญัติให้มีกลุ่มการเมืองนั้นมาจากเสียงเรียกร้องของภาคประชาชนที่ต้องการให้มีการสมัคร ส.ส.โดยอิสระ ไม่สังกัดพรรค ต่อมาทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้มีการบัญญัติเรื่องระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนขึ้น ทำให้การสมัครลงเลือกตั้ง ส.ส.โดยไม่สังกัดพรรคก็ทำไม่ได้ เพราะจะต้องมีการส่งบัญชีรายชื่อ ดังนั้นจะไม่ตรงกับความเห็นของประชาชน และไม่สามารถตอบโจทย์ของเหตุการณ์ก่อนรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 2557 ที่มองว่าพรรคการเมืองผูกขาดอำนาจซึ่งจะนำไปสู่ระบบการเมืองที่ล้มเหลวไม่ได้ ดังนั้นจึงมีการบัญญัติเรื่องกลุ่มการเมืองขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือก ส.ส.โดยไม่ต้องสังกัดพรรค ถ้าไม่เอากลุ่มการเมืองนั้น ตนคิดว่าต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าเราเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ปฏิรูปอะไรบ้างหรือไม่ ต้องแก้ปัญหาของเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหารให้ได้ การปฏิรูปจะได้ไม่เสียของ
ส่วนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และหลายภาคส่วนได้ส่งคำขอให้มีการปรับเรื่องของการเลือกตั้งใหม่นั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า เป็นความคิดที่ดี ต้องรับฟัง เพราะสิ่งที่เป็นห่วงก็คือระบบเลือกตั้งที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้เสนอนั้นยังใหม่และมีข้อถกเถียงอยู่เยอะ แต่ทั้งนี้ ถ้าเอาระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนมาแล้วไปตัดเรื่องกลุ่มการเมืองออกไป ให้มีแต่พรรคการเมือง ถ้าเป็นแบบนี้ตนคงต้องขอท้วง เพราะว่าจะทำให้ระบบปาร์ตี้ลิสต์ที่ตนคัดค้านนั้น มีแต่แบ่งเขต ทำให้มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มมากขึ้นไปอีก
ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดอย่างไรที่ขณะนี้ทาง กมธ.ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้ตัดเรื่องการมีนายกรัฐมนตรีคนนอกออกไปแม้ในยามวิกฤต นายไพบูลย์กล่าวว่า เรื่องนี้ก็มีบางคำขอ แต่หลายคำขอนั้นไม่ได้ตัดประเด็นนี้ โดยส่วนตัวนั้น ตนมีจุดยืนว่าทำไมต้องเขียน แล้วยิ่งถ้าไปพูดถึงปัญหาก่อนรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค.ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกเข้ามาเพื่อจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะกำหนดให้เป็นอย่างเก่าไม่ได้ ต้องให้ระบบมีความยืดหยุ่น
“ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลุ่มการเมือง เรื่องอะไรต่างๆ ถ้าจะต้องกลับไปสู่ระบบปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน แล้ว ส.ส.เขตเดียวเบอร์เดียว ผมแย้งแน่นอนเพราะมันไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย แต่ถ้าเป็นแบบแบ่งเขต แบบหลายเบอร์ หรือเขตทั้งจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครสามารถจะไม่สังกัดพรรคได้ด้วย อันนั้นอาจจะสามารถตอบโจทย์ของผมได้”
ส่วนที่มีการเสนอให้ตัดสภาตรวจสอบภาคพลเมืองออกไปนั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า สภาตรวจสอบภาคเมือง สมัชชาพลเมือง สมัชชาคุณธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ทาง กมธ.ยกร่างฯ อยากให้ประชาชนมีบทบาทโดยตรง ไม่ใช่แค่ผ่าน ส.ส.เท่านั้น โดยรัฐจะต้องมีหน้าที่สนับสนุนในส่วนนี้ ทั้งนั้นตนเข้าใจว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยนั้น อาจจะกลัวว่าจะเป็นการให้ประชาชนไปรวมกลุ่มกันทำอะไรมิดีมิร้ายขึ้นมา ซึ่งเรื่องนี้ตนเห็นว่าทาง กมธ.ยกร่างฯ ก็คงจะต้องไปปรับแก้ในมาตราให้มีความเหมาะสมและคงหลักการเดิมเอาไว้ แต่ถ้าตัดในส่วนนี้ออกไป ก็จะเป็นการไปทำลายหลักการของ กมธ.ยกร่างฯ ที่ได้วางไว้ว่าประชาชนต้องเป็นใหญ่ และเท่ากับว่าไม่ได้เห็นถึงเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชนที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเป็นล้านๆ คน ซึ่งเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเกิดขึ้น
ต่อข้อถามว่า สภาตรวจสอบภาคประชาชนอาจจะเป็นแหล่งรวมของนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง นายไพบูลย์กล่าวว่า เรื่องนี้ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้มีการคุยกันแล้ว โดยมีการถกเถียงกันในอนุ กมธ.ศึกษาการยกร่างว่าด้วยเรื่องสภาตรวจสอบภาคพลเมือง จนในที่สุดได้กำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งสภาตรวจสอบว่าจะต้องไม่เคยเป็นผู้สมัครและผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในระดับท้องถิ่น หรือในระดับ ส.ส.และ ส.ว. อีกทั้งวิธีเลือกนั้นก็ไม่ใช่การคัดสรร แต่เป็นการสุ่มผู้สมัครขึ้นมาเพื่อผลัดเปลี่ยนการทำหน้าที่ ขอยืนยันว่ากลไกของสภาตรวจสอบที่ว่านี้จะป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องออกมาชุมนุมอีก เพราะเขาจะได้ไปทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมืองตรงนี้แทน
ด้านนายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2 สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ช่วงระหว่างวันที่ 2-6 มิถุนายน ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้แบ่งกลุ่มให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะรัฐมนตรี ที่ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญได้เข้ามาชี้แจงอธิบายหลักการและเหตุผลในการขอเสนอปรับแก้ไข โดย กมธ.ยกร่างฯ พร้อมที่จะรับฟังทุกความเห็น หากเห็นว่าสิ่งใดดี เป็นประโยชน์ ไม่ทำให้เกิดปัญหาเหมือนอดีตก็พร้อมที่จะนำมาประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งการพิจารณาแต่ละขั้นตอนนั้นเราจะดำเนินการด้วยความรอบคอบเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญออกมาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
ส่วนที่หลายฝ่ายมีความกังวลเรื่องเงื่อนไขเวลาว่า กมธ.ยกร่างฯ จะพิจารณาเสร็จไม่ทันนั้น ขอชี้แจงว่าเมื่อ กมธ.ยกร่างฯทุกคนอาสาสมัครเข้ามาทำงานตรงจุดนี้ซึ่งทุกคนรู้ดีว่าเป็นงานที่ยากและหนัก ก็ต้องทำให้ได้ เพราะไม่มีใครบังคับให้เรามาทำ แต่หากมีการขยายเวลาการทำงานให้กับทาง กมธ.ยกร่างฯ ก็เชื่อว่าจะช่วยทำให้การทำงานมีความยืดหยุ่นและมีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ทราบมาว่าในวันที่ 29 พฤษภาคม ทางคณะรัฐมนตรีจะมีการพิจารณารัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และคาดว่าจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาภาย ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้
“จากการที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้มีโอกาสไปฟังบรรยายเรื่องการถอดบทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองสู่การปฏิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตยจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศนั้น ยอมรับว่าได้ประโยชน์มาก สามารถนำมาเปรียบเทียบและเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเมืองไทยได้ แต่ไม่สามารถลอกเลียนแบบมาได้ทั้งหมด เนื่องจากบริบททางสังคม สภาพแวดล้อมและความขัดแย้งทางการเมืองไม่เหมือนกัน”