xs
xsm
sm
md
lg

ชาวแปดริ้ววิพากษ์การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม พร้อมแนะให้เลิกกฎหมายที่ทำให้สังคมอยู่ยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมเดช พึ่งรัตนา อายุ 57 ปี อาชีพขับรถสามล้อรับจ้างวิพากษ์การเมืองในครั้งนี้
ฉะเชิงเทรา - ชาวบ้านแปดริ้ววิพากษ์การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ก่อนที่จะถูกนำเข้ามาบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมแนะให้ยกเลิกกฎหมายที่ทำให้สังคมอยู่ยาก โดยเฉพาะ พ.ร.บ.บ้าคลั่ง ที่ปรับแก้ตามกระแสสังคม ที่อาจเรียกร้องเพียงแค่คนกลุ่มเดียวแต่กลับลิดรอนสิทธิคนทั้งประเทศ

วันนี้ (26 พ.ค.) นายสมเดช พึ่งรัตนา อายุ 57 ปี ชาวบ้านในชุมชนหลังวัดโสธร ถ.เทพคุณากร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา อาชีพขับรถสามล้อรับจ้าง กล่าวถึงกระแสข่าวที่ กมธ.ยกร่าง รธน. จะมีการลอกเลียนแบบระบบการเลือกตั้งจากประเทศเยอรมนี เข้ามาปรับใช้ในรัฐธรรมนูญไทย กรณีการที่จะมี ส.ส.แบบสัดส่วนผสมในสภาหรือไม่นั้น ในความเห็นของตนจะมีหรือไม่มีก็ได้ หรือยกเลิกไม่ต้องมีนักการเมืองเลยก็ได้

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนักการเมืองมาตั้งนานแล้ว แต่ก็ไม่เคยเห็นว่าประเทศชาติจะมีอะไรดีขึ้น ในการกำหนดให้มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่ผ่านมานั้น ประชาชนยังไม่รู้เลยว่าจะเลือกมาเพื่ออะไร เพราะประชาชนไม่รู้จักว่า ส.ส.คนไหนบ้างที่มาลงปาร์ตี้ลิสต์ เพราะว่าเขาไปเอาคะแนนรวมส่วนใหญ่

โดยเฉพาะคนที่อยู่ในลำดับ 1 ถึง 10 คนแรก หากไม่ใช่นายทุนของพรรคกลุ่มคนพวกนี้จะได้ลงสมัครหรือไม่ และกลุ่มคนพวกนี้ส่วนใหญ่จะได้นั่งในตำแหน่งสำคัญ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกันทั้งนั้นจะเอาใครมาลงก็ได้ จนมีการเปรียบเปรยว่าเอาเสาไฟฟ้ามาลงสมัครก็ได้รับเลือกตั้ง จึงไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ โดยขอให้ยกเลือกไปเลยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบนี้

ส่วนการเลือกตั้งแบบเขตเลือกตั้งนั้นเรายังรู้ว่าใครหมายเลขอะไร มาจากไหน หากคนเราเคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญ เขาเขียนไว้อย่างไรก็ทำไปตามนั้นมันก็คงไม่มีปัญหา

ในวันนี้ กมธ.ยกร่าง รธน. จะเอาการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมมาใช้ พอคนพวกนี้หาช่องโหว่ หรือมีวิถีทางได้เข้าไปเป็นหัวหน้ารัฐบาลเดี๋ยวก็พากันเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญกันใหม่อีก แก้กันไปทะเลาะกันไปอีกไม่จบ ถ้าคนเราทำตามรัฐธรรมนูญ ทำตามกฎกติกาที่เขียนไว้ก็คงไม่มีปัญหา

นายสมเดช กล่าวว่า สำหรับความเดือดร้อนของประชาชนที่อยากให้แก้มากกว่า คือ การแก้กฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้าน จาก พ.ร.บ.ต่างๆ ที่ถูกปรับแก้ตามกระแสเรียกร้องของคนบางกลุ่มเพียงไม่กี่คน แต่ส่งผลกระทบต่อคนทั้งประเทศมากกว่า ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่จำเป็น และทำให้คนในสังคมอยู่ยาก หรือไปลิดรอนสิทธิคนอื่นมากกว่า

“ต้องการให้นักการเมือง หรือรัฐบาลควรที่จะหันไปปรับแก้ หรือยกเลิกกฎหมายเหล่านี้เสียจะดีกว่า เช่น กฎหมายบังคับให้ประชาชนสวมใส่หมวกกันน็อก ซึ่งปัจจุบันบังคับใช้กันอย่างเข้มข้น โดยให้ประชาชนผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมใส่หมวกกันน็อกทั้งคนซ้อน และคนขับ จึงเป็นช่องทางทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานนำไปใช้ในการหากินบนความเดือดร้อนของประชาชน” นายสมเดช กล่าว

สำหรับกฎหมายที่บังคับให้ประชาชนสวมใส่หมวกกันน็อกนั้น ตนเห็นว่ามันไม่จำเป็น คนที่ควรใช้คือผู้ที่จะขับขี่รถไปในเส้นทางไกลๆ ที่เขาต้องป้องกันตัวเขาเองมากกว่า ส่วนคนที่จะขับรถ จยย.ไปจ่ายตลาด ไปซื้อกับข้าวในแหล่งชุมชนที่ไม่ได้ใช้ความเร็วอะไรมาก อย่างนี้ตำรวจมาไล่จับนั้นถูกต้องหรือไม่ ในเมื่อศีรษะก็เป็นศีรษะของชาวบ้าน ตำรวจ หรือคนที่ออกกฎหมายมันมาเกี่ยวข้องอะไรด้วย และถ้าถามว่าหมวกใบละ 100 กว่าบาทนั้นมันป้องกันอะไรได้บ้าง หากคนใช้รถไม่ระวัง หรือใช้ความเร็วสูงก็ตายหมดทุกรายทั้งใส่ และไม่ใส่

นอกจากนี้ คนซ้อนท้ายที่จะสวมใส่หมวกกันน็อกก็ยิ่งทำใจลำบาก โดยเฉพาะผู้ที่ใช้บริการรถ จยย.รับจ้าง ที่ส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากจะสวม แต่หากไม่สวมคนขับมีความผิด เนื่องจากหมวกใบเดียวมีคนสวมมากมายในหนึ่งวันนับสิบนับร้อยราย ตนจึงเห็นว่านักการเมือง หรือผู้ที่เป็นรัฐบาลควรที่จะหันมายกเลิกกฎหมายเหล่านี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเสียมากกว่า เพราะประชาชนไม่ได้รับความสะดวก และไม่เกิดประโยชน์อะไรมากนัก และหากประชาชนจะซื้อหมวกกันน็อกที่มีคุณภาพสูงราคาแพงๆ หลายพัน หรือเป็นหมื่นบาทมาใช้ หากแขวนทิ้งไว้เวลาจอดรถ กยังมีการสูญหายได้อีก โดยหากจะจอดรถก็ต้องหิ้วพกพาหมวกกันน็อกติดตัวไปด้วย จึงไม่สะดวก

นายสมเดช กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้การออกกฎหมายให้ จยย.เปิดไฟหน้ารถในช่วงที่ผ่านมานั้น ถือว่าเป็นความสิ้นเปลืองเพิ่มภาระให้แก่ประชาชน และไม่เกิดประโยชน์ เพราะประเทศไทยไม่ใช่เมืองหนาว ไม่มีหมอกหนาจัด หลอดไฟรถมีอายุการใช้งาน อีกทั้งการเปิดไฟหน้ารถทิ้งไว้ตลอดเวลายังทำให้อุปกรณ์ส่วนต่างๆ เกิดการสึกหรอมากยิ่งขึ้น เพราะเกิดความร้อนมากขึ้นทั้งที่เมืองไทยก็เป็นเมืองร้อนอยู่แล้ว

นอกจากนั้น การออกกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามคนดื่มสุราบนรถ และในงานวัดนั้น ตนก็ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนส่วนใหญ่ โดยที่กลุ่มผู้เรียกร้องให้ออกกฎหมายนี้มีเพียงกลุ่มเดียว แต่กลับเป็นการลิดรอนสิทธิของคนทั้งประเทศ ซึ่งการห้ามคนขับรถดื่มสุรานั้นตนเห็นด้วย แต่คนที่นั่งไปด้วยในรถไม่ใช่คนบังคับรถ ไม่ได้ถือพวงมาลัยรถ ทำไมจึงต้องไปห้ามไม่ให้เขาดื่ม หากเขาดื่มแล้วไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ใคร

รวมทั้งการดื่มสุราในวัดก็เช่นเดียวกัน โดยปกติแล้วประชาชนทั่วไปก็คงไม่มีใครชวนกันไปนั่งดื่มสุราภายในวัด ซึ่งผิดปกติวิสัยของคนทั่วไปอยู่แล้ว นอกเสียจากจะมีการจัดงานเลี้ยง หรืองานเทศกาลเฉลิมฉลองอะไรต่างๆ ตามประเพณีเท่านั้น เมื่อมีการจัดงานเลี้ยงจะให้ผู้คนแขกเหรื่อไปนั่งกินกับข้าวกันเฉยๆ หรือ ก็คงไม่มีใครเขาทำกัน จึงมองว่าสังคมไทยนั้นอยู่ยากกันขึ้นทุกวัน เพราะยิ่งนับวันยิ่งถูกลิดรอนสิทธิทำให้อยู่กันยากขึ้นเรื่อยๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น