xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” แนะเลือกตั้ง ส.ว.โดยตรง แต่ใช้แบบทีมบัญชีรายชื่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
“สปช.รสนา” ยังไม่วิจารณ์วิธีเลือก ส.ว. แต่ไม่ควรให้ซับซ้อนเช่นเลือกตั้งทางอ้อม แนะเลือกโดยตรง แต่ทำเป็นกลุ่มบัญชีรายชื่อของผู้สมัครจากวิชาชีพต่างๆ เป็นทีมละ 30 คน เปิดชื่อผู้สมัครพร้อมประวัติแบบที่ใช้กับ ส.ส. แล้วให้ชาวบ้านคัดออกเหลือ 10 คน ก่อนเอาผู้ที่ถูกเลือกมาคัดคะแนนสูงสุดให้ได้ครบ 200 คน เชื่อชาวบัานไม่สับสน ชี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ลงตัวจึงมีโมเดลโยนหินถามทาง

วันนี้ (5 เม.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะอดีต ส.ว.เลือกตั้งกล่าวถึงข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุแนวคิดให้เลือก ส.ว.มาจากทั้งจากการสรรหา การเลือกตั้งและกลุ่มวิชาชีพเลือกตั้งแทนหรือปลาสามน้ำว่า ตนไม่อยากวิจารณ์เพราะยังไม่เห็นรายละเอียดของที่มา แต่ไม่ควรทำให้ซับซ้อนหรือยุ่งยากกับประชาชนผู้ใช้สิทธิ เช่น การเลือกตั้งทางอ้อม 5 กลุ่ม ที่ต้องให้องค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นผู้คัดเลือกในกลุ่มที่5คือ ภาควิชาชีพแต่ละจังหวัด ทำไมจึงไม่ให้ประชาชนเลือกตั้งได้โดยตรง ซึ่งทำได้หลายรูปแบบ

น.ส.รสนากล่าวต่อว่า ตนขอเสนอให้เลือกตั้งโดยตรง และมีการจัดทำเป็นกลุ่มบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ของผู้สมัคร ส.ว.ที่มาจากตัวแทนวิชาชีพต่างๆให้เป็นทีมๆ ละ30คน โดยมีหัวหน้าทีมที่ดีเด่นดัง และเปิดเผยชื่อผู้สมัครพร้อมประวัติต่อสาธารณชน (โอเพ่นลิสต์) แบบที่เสนอให้ใช้กับ ส.ส. เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ และให้ส่งสมัครเป็นทีมๆ ให้ประชาชนเลือกได้เองโดยคัดออกให้เหลือทีมละ 10 คน จากนั้นจึงเอาทั้ง 10 คนของแต่ละทีมมาคัดจากผลคะแนนสูงสุดให้ได้ตามจำนวน 200 คน วิธีนี้จะทำได้ง่าย ล็อกสเปกยากและประชาชนเข้าใจมากกว่า ไม่สับสน ที่สำคัญจะได้คนดี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์จากแต่ละสาขาอาชีพจริงๆ ไม่ใช่นอมินีหรือตัวแทนกลุ่มทุน นักการเมือง พรรคการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นนั้นๆ ทั้งยังแก้ข้อครหาว่าเป็น ส.ว.ลากตั้งได้ด้วย

น.ส.รสนากล่าวอีกว่า ส่วนตัวเห็นว่ากมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ลงตัวในหลายเรื่องโดยเฉพาะในโหมดการเมืองและการเลือกตั้งจึงมีโมเดลต่างๆ ออกมามาก ขณะที่สังคมก็มองว่าเป็นการโยนหินถามทาง แต่ก็มีข้อดีที่จะสามารถดึงคนเข้ามามีส่วนร่วมให้ความเห็นและยังมีเวลาอีก 2-3 เดือนในการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องและดีที่สุด ทำได้ง่ายประชาชนเข้าใจไม่สับสน


กำลังโหลดความคิดเห็น