“วิษณุ” หวั่นทำประชามติ ร่าง รธน. ทำคนตีกัน แถม คสช.ถูกด่า เผย “นายกฯ” สั่งให้คุย กับ กมธ.ยกร่างฯ แจงไม่เคยทำประชาพิจารณ์ ระบุฟังแต่ความเห็นปชช.เท่านั้น ด้าน “คนเพื่อไทย” ค้านกำหนดสัดส่วนสตรี 1 ใน 3 ลงปาร์ตี้ลิสต์ ยัน “นายกฯ - ส.ว.” ต้องมาจากการเลือกตั้ง
วันนี้ (2 เม.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่นายกฯ สั่งให้พูดคุยกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชะลอการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ ว่า ได้พูดคุยแล้วโดยได้รับการชี้แจงว่าไม่เคยทำประชาพิจารณ์ แต่เพียงไปฟังความคิดเห็นของประชาชนเท่านั้นว่า ต้องการให้เขียนอะไรในรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งไม่ได้เรียกว่าเป็นการทำประชาพิจารณ์ เพราะต้องเข้าใจว่า การทำประชาพิจารณ์ คือ การนำร่างรัฐธรรมนูญไปให้ประชาชนดูและวิจารณ์ออกมา ซึ่งไม่เคยทำมาก่อนดังนั้นการที่เปิดเวทีต่างจังหวัดไปสอบถามความเห็นประชาชนก็ทำได้ตามปกติ
ทั้งนี้ การทำประชามติยังเร็วไปที่จะพูดถึง เพราะทำประชามติมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การทำประชามติ คือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเป็นเสื้อเกราะคุ้มครองรัฐธรรมนูญเพื่อจะได้ไม่มีข้ออ้างมาแก้ไขได้อีกส่วนข้อเสีย คือ ความอึดอัดหากแก้ไขไม่ได้ และทำให้การประกาศใช้รัฐธรรมนูญอาจยืดยาวไปหลายปีการเสียเงินงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทในการทำประชามติแต่ละครั้ง และสุดท้ายมีคนคัดค้านก็จะเกิดความไม่ปรองดองในประเทศ
“หากเปิดให้ลงประชามติแล้วเสียงข้างมากไม่เอารัฐธรรมนูญนี้ก็มาด่า คสช. อีก ว่า ไม่ควรจะลงเลยเพราะเสียเวลาไปตั้ง 3 เดือน เสียเงินไป 3,000 ล้านบาท คนตีกันอีกแล้วที่สำคัญ คสช. ได้อยู่ต่ออีก 1 ปี ดังนั้น คสช.ต้องคิดหนักเลยว่าจะทำประชามติดีหรือไม่เพราะหลายคนจะอยากอยู่หรือไม่อยากอยู่ไม่รู้ แต่ผมไม่อยากอยู่ต่อ” นายวิษณุ กล่าว
ด้าน นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย อยากให้กรรมาธิการยกร่างฯ ทบทวนก่อนเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขณะเดียวกันไม่ควรกำหนดสัดส่วนสตรีลงสมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 1 ใน 3 เพราะสตรีส่วนใหญ่อาจไม่ต้องการยุ่งการเมือง เนื่องจากต้องการดูแลบ้าน และครอบครัวอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสตรีได้ มองว่าควรเปิดกว้าง ไม่ควรจำกัดเพราะหากไม่มีผู้หญิงคนใดสมัครก็จะเสียรัฐธรรมนูญที่ดีไป
สำหรับกรณีกรรมาธิการฯปรับแก้ไขที่มา ส.ว. โดยกำหนดให้วุฒิสภามี 200 คน มาจาก 3 กลุ่ม กลุ่มแรกมาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด กลุ่มที่ 2 เลือกตั้งกันเองจากอดีตข้าราชการพลเรือนกลุ่มที่สามสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ จำนวน 58 คน นั้น อยากให้ประชาชนเป็นคนเลือกทั้งหมด เพื่อเกิดความสมดุลกับอำนาจของ ส.ว. ที่สามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทาการเมืองได้ และยืนยันว่า นายกฯ ต้องมาจากการเลือกของ ส.ส. ในสภา ไม่เห็นด้วยที่จะให้นายกฯมาจากคนนอก