xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” จวกนักการเมืองสนแต่วิธีเข้าสู่อำนาจของตัวเอง ลั่นทำสิ่งที่เหมาะสมสถานการณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ประธานกรรมการญาติพฤษภา 35 ยื่นหนังสือประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนที่มาผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ชี้สวนทางเจตนารมณ์วีรชน ส่อสืบทอดอำนาจ คสช. หวั่นสร้างความขัดแย้งเพิ่ม ด้าน “บวรศักดิ์” อ้างแค่ขั้นแรกยังไม่สิ้นสุด สวน “ประสงค์” ยันทำสิ่งที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ของเก่าเจอปัญหาไม่ร้ายแรงเท่า แขวะพรรคใหญ่เสียงดัง จวกไม่เห็นมีใครพูดสร้างพลเมืองเป็นใหญ่ สนแต่วิธีเข้าสู่อำนาจของตัวเอง โอ่ปาร์ตี้ลิสต์แบบใหม่ทำพรรคเข้มแข็ง ถามยอมรับหรือไม่ที่ผ่านมาพรรคเป็นของหัวหน้า ย้ำปฏิรูปต้องผูกพันถึงรัฐบาลใหม่

วันนี้ (24 มี.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.30 น. นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติพฤษภา 35 พร้อมด้วยญาติวีรชน ได้เดินทางเข้ามายื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้คณะ กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นายอดุลย์กล่าวว่า การที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้นายกฯมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่กำหนดผู้ที่ได้รับเลือกจะต้องเป็น ส.ส. ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการเปิดช่องให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกฯ ได้ รวมทั้งเกิดความสงสัยของสังคมบางส่วนว่าเป็นการเปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจนั้นทางคณะกรรมการฯไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะเป็นกระทำที่สวนทางต่อเจตนารมณ์วีรชนเดือนพฤษภาคม 2535

“แม้จะเห็นว่ามีความจำเป็นและเหตุผลของคณะ กมธ.ยกร่างฯ ที่ระบุว่า เพื่อเป็นการผ่าทางตัน ให้วิกฤติการณ์ทางการเมือง หรือเป็นบันไดหนีไฟก็ตาม แต่การเปิดช่องกว้างไว้แบบนี้อาจทำให้นายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องยึดโยงกับประชาชนได้ง่ายเช่นกัน ขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และอาจเป็นการสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้นได้” นายอดุลย์กล่าว

นายอดุลย์กล่าวว่า ขอให้คณะ กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนเรื่องดังกล่าวด้วย แต่หากคณะ กมธ.ยกร่างฯ ต้องการวางทางออกสำหรับแก้วิกฤตก็ต้องกำหนดเงื่อนไขพิเศษสำหรับนายกฯที่จะมาจากคนนอก คือ การกำหนดให้เข้ามาดำรงตำแหน่งเฉพาะในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และต้องมีคุณสมบัติที่ไม่มีประวัติด่างพร้อย

ด้านนายบวรศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญยังอยู่ในขั้นตอนแรก ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด โดยยังมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและสามารถเปลี่ยนแปลงได้

นายบวรศักดิ์ยังกล่าวถึงการออกมาวิพากษ์วิจารณ์การยกร่างรัฐธรรมนูญของ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างฯ ในทางลบว่า การออกมาแสดงความคิดเห็นดังกล่าวทางคณะ กมธ.ยกร่างฯก็พร้อมยินดีรับฟัง แต่ต้องชี้แจงว่าเมื่อครั้งการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ตนเองก็ได้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนและชื่นชม น.ต.ประสงค์ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงทางคณะ กมธ.ยกร่างฯ ก็ต้องทำสิ่งที่เหมาะสมให้เข้ากับสถานการณ์ จะไปยึดติดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 ไม่ได้

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดเขียนบัญญัติเรื่องการปฏิรูปประเทศและการปรองดองเอาไว้เหมือนกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเขียนเรื่องการปฏิรูปและการปรองดองเอาไว้ เนื่องจากปัญหาของประเทศในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ไม่ได้ร้ายแรงเท่ากับปัจจุบัน

“ยืนยันว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องฟังเสียงจากทุกภาคส่วน แต่ปรากฏว่าเสียงที่ดังมากที่สุดขณะนี้กลับเป็นเสียงของนักการเมืองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่วนผู้ได้ประโยชน์ คือ พรรคการเมืองขนาดกลางกลับไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์อะไร ผิดกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ออกมาวิจารณ์ แต่ถึงอย่างไรเราก็รับฟังความคิดเห็น” นายบวรศักดิ์กล่าว

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ตั้งแต่ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญมายังไม่เห็นมีใครสนใจและพูดถึงการสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่และการปฏิรูปที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ทุกคนสนใจแต่วิธีการเข้าสู่อำนาจของตัวเองว่าจะเป็นอย่างไร มีบางฝ่ายแสดงความคิดเห็นว่าการให้ประชาชนจัดลำดับผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อนั้นเป็นการตัดสิทธิประชาชน ก็คงต้องถามกลับไปว่าคิดอย่างนั้นได้อย่างไร

เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะแก้ไขปัญหาการส่งนอมีนีลงเลือกตั้งของพรรคการเมืองบางพรรคได้อย่างไร นายบวรศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่รัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ได้ คือ วัฒนธรรมทางการเมือง การเขียนรัฐธรรมนูญจะไปแก้ไม่ให้คนยอมขายเสียงคงไม่ได้ เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้ระบบอุปถัมภ์หมดไปก็คงไม่ได้ หรือเขียนให้คนชอบเลี่ยงกฎหมายไม่เลี่ยงกฎหมายก็คงไม่ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและพฤติกรรมของนักการเมือง ซึ่งนักวิชาการบางคนเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น ต้องสร้างกระบวนการการเปลี่ยนแปลง

นายบวรศักดิ์กล่าวอีกว่า สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบเปิด หรือโอเพ่นลิสต์ ยืนยันว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคการเมือง ให้พรรคการเมืองฟังเสียงของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาพรรคการเมืองขาดความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง ยอมรับหรือไม่ว่าพรรคการเมืองเป็นพรรคของหัวหน้าพรรค ที่มีอำนาจในการสั่งการให้ไปทางซ้ายหรือทางขวาก็ได้

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้มีความผูกพันกับทุกองค์กรจะถือว่าเป็นการซ่อนอำนาจรัฎฐาธิปัตย์ไว้หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดก็ย่อมต้องผูกพันทุกองค์กรอยู่แล้ว เช่นเดียวกับการปฏิรูปประเทศก็ต้องให้มีการผูกพัน เพราะถ้าไม่มีการผูกพันแล้วก็เกรงว่ารัฐบาลในอนาคตอาจจะไม่ดำเนินการต่อ


กำลังโหลดความคิดเห็น