xs
xsm
sm
md
lg

"บวรศักดิ์"แบไต๋โรดแมป4ปี ปรองดองต้องนิรโทษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (8ม.ค.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ร่วมกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ร่วมกันแถลง เรื่องการสร้างความปรองดองให้ควบคู่ไปกับการปฏิรูป ภายหลังการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการศึกษาแนวทาง สร้างความปรองดอง ซึ่งมีผู้เสียหายจากเหตุการณ์ชุมนุม คือ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชนพฤษภา 35 นางนิชา ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า และ นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ นางสาวกมลเกด ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 ซึ่งเป็นคณะกรรมการจากบุคคลภายนอก มาร่วมประชุมด้วย
นายเทียนฉาย กล่าวถึงภารกิจการปฏิรูปประเทศว่า บรรลุผลสำเร็จได้ยากในสภาพที่ประเทศมีเงื่อนไขสถานการณ์สะสมที่รุนแรงมากขึ้น จากการไม่ลงรอยทางความคิด จนนำไปสู่การใช้กำลัง ดังนั้นจึงต้องทำให้รอยร้าวจางไป ด้วยการปรองดอง สามัคคี สมานฉันท์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน จึงต้องวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาก่อนที่จะร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ปัญหาเดิมกลับมาอีก สภาปฏิรูปแห่งชาติ จึงตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษาแนวทาง สร้างความปรองดอง เพื่อหาคำตอบในการแก้ปัญหาที่จะนำไปสู่ความสามัคคี สมานฉันท์ โดยหวังว่าจะใช้เวลาไม่นานในการบรรลุผลสำเร็จ
ทั้งนี้ ความคิดของประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนสำคัญ จึงต้องมีช่องทางให้เสนอความเห็นอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้มีส่วนร่วมนำประเทศสู่ความสมานฉันท์ จึงขอวิงวอนสื่อมวลชน ช่วยสื่อความเข้าใจจากประชาชนมาสู่คณะกรรมการชุดนี้ด้วย โดยการปฏิรูปสามารถเดินหน้าได้โดยไม่ต้องรอผลสรุปจากคณะกรรมการ เนื่องจากการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ เป็นเงื่อนไขให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จไม่ใช่เป็นคณะกรรมการที่มาทำการปฏิรูป
ด้านนายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ความขัดแย้งมีมาตั้งแต่ปี 2548 การยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องแก้ปัญหา 3 เรื่อง ในส่วนของปัญหาเฉพาะหน้า ต้องสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น ปัญหาที่สองคือ การปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาที่สาม การแก้ปัญหาทางการเมือง ทำให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ
ปฏิรูป ปรองดอง เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาวไม่ให้ปัญหาเดิมกลับมาเหมือนกับหลังการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นทันที เพื่อไม่ให้สังคมไทยถอยหลัง
" เรื่องการปรองดองต้องทำให้เร็ว อาจต้องมีระยะเวลา เช่น 4 ปี ผมเห็นว่าการปฏิรูปอาจใช้เวลาถึง 4 ปี แต่การปรองดองไม่ควรถึง 4 ปี โดยกฎหมายเป็นตัวสร้างองค์กร หรือคณะบุคคลที่มาดำเนินการกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน อาจต้องมีการรับผิด จึงไปสู่การเยียวยา จดจำเหตุการณ์ไม่ให้เกิดขึ้นอีก จนไปสู่การให้อภัย แต่ไม่ใช่เริ่มจากการให้อภัย แล้วซุกเรื่องอื่นไว้หมด จากนั้นให้รัฐธรรมนูญสิ้นผลไป จึงไม่ใช่การเขียนรัฐธรรมนูญบังคับให้คนปรองดอง แต่เป็นการสร้างกระบวนการ โดยมีคนกลาง และนำคู่ขัดแย้งมาพูดคุย รวมถึงการสร้างกระแสในสังคมเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง หากทำไม่ได้การรัฐประหารครั้งนี้ ก็เสียของ" นายบวรศักดิ์ กล่าว
นายบวรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า มีการนำผลศึกษาของ คอป. มาประกอบการพิจารณา รวมถึงผลศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าด้วย โดยเห็นว่ารายงาน คอป. เป็นเรื่องที่ดี แต่มีเวลาทำงานน้อยทำให้ไม่ได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนทางสังคมให้คู่ขัดแย้งคุยในทางลับเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา จึงอยากให้ คอป.ทำงานในส่วนนี้ แต่ คอป. ก็ไม่มีบทบาทหน้าที่แล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่นี้
ด้านนายเอนก ยืนยันว่า การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมเรื่อง ทุจริต ก่ออาชญากรรม ไม่ลอยแพการปรองดองให้เป็นไปตามยถากรรม โดยจะมีการสอบถามประชาชน เชิญทุกฝ่ายให้ความเห็นว่า จะทำให้ประเทศไทยกลับไปเหมือนเดิมอย่างไร สร้างกระแสในสังคมเพราะปองดองในชั้นบนไม่สำเร็จ แต่ต้องให้คนในสังคมเบื่อความขัดแย้งจึงจะปรองดองได้ เนื่องจากความขัดแย้งเกิดจากคนส่วนน้อยไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม อาจต้องมีการเจรจากับกลุ่มต่างๆ โดยจะมีการเยียวยาผู้เสียหายทุกด้านควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะมีกลไกจากการตั้งคณะกรรมการจากคู่ขัดแย้ง ซึ่งแต่ละฝ่ายยอมรับเข้ามาดำเนินการ
นายเอนก กล่าวด้วยว่า การสร้างความปรองดองที่เป็นรูปธรรม มีการคิดถึงการเขียนรัฐธรรมนูญให้สองฝ่ายคุยกันได้ โดยคิดถึงขนาดให้มีรัฐบาลผสม และยังมีอีกหลายอย่าง แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด
เมื่อถามว่ารัฐบาลผสม หมายถึง รัฐบาลแห่งชาติใช่หรือไม่ นายเอนก กล่าวว่า อาจจะมองอย่างนั้นก็ได้ แต่ต้องหมายถึงรัฐบาลที่มาทำหน้าที่ปฏิรูป และปรองดองต่อไป
นายสมบัติ กล่าวถึงแนวทางการทำงานสร้างความปรองดอง เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนว่า คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ที่ตนเป็นประธาน จะเป็นศูนย์กลางในการเชิญทุกฝ่ายที่ทำงานด้านการปรองดองมาให้ความเห็น เพื่อไม่ให้มีการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน
นางนิชา ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมที่สี่แยกคอกวัว ในปี 2553 กล่าวว่า การเยียวยาต้องเป็นแนวทางที่ยอมรับร่วมกัน ต้องทำให้เป็นบทเรียนไม่ให้เกิดความสูญเสียอีก ด้วยการยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม
ด้านนางพะเยาว์ กล่าวว่า อยากเห็นการสร้างความปรองดองจากการปฏิบัติ เพราะประชาชนทุกสี มีความสำคัญเหมือนกัน จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
-----------
กำลังโหลดความคิดเห็น