xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” แย้มปรองดองสู่นิรโทษฯ ใน 4 ปี เปิดทางรัฐบาลแห่งชาติทำปฏิรูปต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธาน กมธ.ยกร่างฯ แบไต๋ ปรองดองสู่นิรโทษกรรมไม่เกิน 4 ปี ยัน ไม่ใช้ รธน.บังคับ แค่สร้างกระบวนการให้คู่ขัดแย้งเป็นกรรมการ เดินหน้ายุติธรรมเปลี่ยนผ่านจากรับผิดถึงให้อภัย ขณะที่ “เอนก” ยันนิรโทษกรรมไม่ครอบคลุมทุจริต-ฆ่าคน ฟุ้งเขียน รธน.เปิดทางรัฐบาลแห่งชาติทำปฏิรูป-ปรองดอง แก้ปมขัดแย้ง



นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ร่วมกันแถลงเรื่องการสร้างความปรองดองให้ควบคู่ไปกับการปฏิรูป ภายหลังการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองซึ่งมีผู้เสียหายจากเหตุการณ์ชุมนุม คือ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชนพฤษภา 35, นางนิชา ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า และนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมลเกด ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 ซึ่งเป็นคณะกรรมการจากบุคคลภายนอกมาร่วมประชุมด้วย

นายเทียนฉายแถลงถึงภารกิจการปฏิรูปประเทศว่า บรรลุผลสำเร็จได้ยากในสภาพที่ประเทศมีเงื่อนไขสถานการณ์สะสมที่รุนแรงมากขึ้น จากการไม่ลงรอยทางความคิดจนนำไปสู่การใช้กำลัง ดังนั้นจึงต้องทำให้รอยร้าวจางไป ด้วยการปรองดองสามัคคีสมานฉันท์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน จึงต้องวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาก่อนที่จะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้ปัญหาเดิมกลับมาอีก สภาปฏิรูปแห่งชาติ จึงตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง เพื่อหาคำตอบในการแก้ปัญหาที่จะนำไปสู่ความสามัคคีสมานฉันท์ โดยหวังว่าจะใช้เวลาไม่นานในการบรรลุผลสำเร็จ

นายเทียนฉายกล่าวว่า ความคิดของประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนสำคัญจึงต้องมีช่องทางให้เสนอความเห็นอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้มีส่วนร่วมนำประเทศสู่ความสมานฉันท์ จึงขอวิงวอนสื่อมวลชนช่วยสื่อความเข้าใจจากประชาชนมาสู่คณะกรรมการชุดนี้ด้วย โดยการปฏิรูปสามารถเดินหน้าได้โดยไม่ต้องรอผลสรุปจากคณะกรรมการ เนื่องจากการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้เป็นเงื่อนไขให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จไม่ใช่เป็นคณะกรรมการที่มาทำการปฏิรูป

ด้านนายบวรศักดิ์กล่าวว่า ความขัดแย้งมีมาตั้งแต่ปี 2548 การยกร่างรัฐธรรมนูญต้องแก้ปัญหา 3 เรื่อง ในส่วนของปัญหาเฉพาะหน้าต้องสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น ปัญหาที่สองคือการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาที่สามการแก้ปัญหาทางการเมือง ทำให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปปรองดองเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาวไม่ให้ปัญหาเดิมกลับมาเหมือนกับหลังการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นทันที เพื่อไม่ให้สังคมไทยถอยหลัง

“เรื่องการปรองดองต้องทำให้เร็ว อาจต้องมีระยะเวลาเช่น 4 ปี ผมเห็นว่าการปฏิรูปอาจใช้เวลาถึงสี่ปี แต่การปรองดองไม่ควรถึง 4 ปี โดยกฎหมายเป็นตัวสร้างองค์กรหรือคณะบุคคลที่มาดำเนินการกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน อาจต้องมีการรับผิด จึงไปสู่การเยียวยา จดจำเหตุการณ์ไม่ให้เกิดขึ้นอีก จนไปสู่การให้อภัย แต่ไม่ใช่เริ่มจากการให้อภัยแล้วซุกเรื่องอื่นไว้หมด จากนั้นให้รัฐธรรมนูญสิ้นผลไป เพราะเราปรองดองกันตลอดชาติ ตลอดไปไม่ได้ จึงไม่ใช่การเขียนรัฐธรรมนูญบังคับให้คนปรองดอง แต่เป็นการสร้างกระบวนการโดยมีคนกลางและนำคู่ขัดแย้งมาพูดคุยรวมถึงการสร้างกระแสในสังคมเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง หากทำไม่ได้การรัฐประหารครั้งนี้ก็เสียของ”

นายบวรศักดิ์กล่าวด้วยว่า มีการนำผลศึกษาของ คอป.มาประกอบการพิจารณารวมถึงผลศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าด้วย โดยเห็นว่ารายงาน คอป.เป็นเรื่องที่ดีแต่มีเวลาทำงานน้อยทำให้ไม่ได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนทางสังคมให้คู่ขัดแย้งคุยในทางลับเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาจึงอยากให้ คอป.ทำงานในส่วนนี้ แต่ คอป.ก็ไม่มีบทบาทหน้าที่แล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่นี้

ด้านนายเอนกยืนยันว่า การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมการทุจริต ก่ออาชญากรรม ไม่ลอยแพการปรองดองให้เป็นไปตามยถากรรม โดยจะมีการสอบถามประชาชน เชิญทุกฝ่ายให้ความเห็นว่าจะทำให้ประเทศไทยกลับไปเหมือนเดิมอย่างไร สร้างกระแสในสังคมเพราะปองดองในชั้นบนไม่สำเร็จแต่ต้องให้คนในสังคมเบื่อความขัดแย้งจึงจะปรองดองได้ เนื่องจากความขัดแย้งเกิดจากคนส่วนน้อยไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างไรก็ตาม อาจต้องมีการเจรจากับกลุ่มต่างๆ โดยจะมีการเยียวยาผู้เสียหายทุกด้านควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะมีกลไกจากการตั้งคณะกรรมการจากคู่ขัดแย้งซึ่งแต่ละฝ่ายยอมรับเข้ามาดำเนินการ

นายเอนกกล่าวด้วยว่า การสร้างความปรองดองที่เป็นรูปธรรมมีการคิดถึงการเขียนรัฐธรรมนูญให้สองฝ่ายคุยกันได้ โดยคิดถึงขนาดให้มีรัฐบาลผสม และยังมีอีกหลายอย่างแต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด เมื่อถามว่ารัฐบาลผสมหมายถึงรัฐบาลแห่งชาติใช่หรือไม่ นายเอนกกล่าวว่า อาจจะมองอย่างนั้นก็ได้แต่ต้องหมายถึงรัฐบาลที่มาทำหน้าที่ปฏิรูปและปรองดองต่อไป

นายสมบัติกล่าวถึงแนวทางการทำงานสร้างความปรองดองเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนว่า คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองที่ตนเป็นประธานจะเป็นศูนย์กลางในการเชิญทุกฝ่ายที่ทำงานด้านการปรองดองมาให้ความเห็น เพื่อไม่ให้มีการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน

นางนิชา ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมที่สี่แยกคอกวัวในปี 2553 กล่าวว่า การเยียวยาต้องเป็นแนวทางที่ยอมรับร่วมกันต้องทำให้เป็นบทเรียนไม่ให้เกิดความสูญเสียอีก ด้วยการยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม

ด้านนางพะเยาว์กล่าวว่า อยากเห็นการสร้างความปรองดองจากการปฏิบัติ เพราะประชาชนทุกสีมีความสำคัญเหมือนกัน จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย











กำลังโหลดความคิดเห็น