xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ฉีดสารเร่ง “ปรองดอง” มันจะดีรึ!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. แถลงข่าวร่วมกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์  และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ภายหลังการประชุมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองนัดแรก วันที่ 8 ม.ค.2558
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป้าหมายสำคัญอันหนึ่งที่กลุ่มทหารในนาม “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)” กระทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 ก็คือการลดความขัดแย้งของคนในชาติเพื่อสร้างความปรองดองแล้วนำไปสู่การปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ

อย่างไรก็ตาม จนบัดนี้ก็ยังดูเหมือนว่า คสช.ยังไม่เข้าใจต้นตอปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดีพอ

หลังจากการยึดอำนาจไม่กี่สัปดาห์ คสช.ได้จัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) โดยมี “บิ๊กโชย-พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ มีแผนปฏิบัติการ 3 ขั้นตอน ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.ถึงเดือน ก.ค.2557

เริ่มตั้งแต่ขั้นที่หนึ่ง เตรียมความพร้อม โดยเชิญผู้แทนส่วนที่เกี่ยวข้องจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหารือถึงกำหนดกรอบแนวทางในการดำเนินการ ขั้นที่สอง คณะทำงานรวบรวมความเห็นและจัดทำเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการ และขั้นที่สาม ประมวลข้อมูลที่ได้รับนำไปสู่การเสนอแนวทางการปฏิบัติเพื่อประกอบการพิจารณาการแก้ไขปัญหาในภาพรวมต่อไป

แต่ภายหลังจากเวลาผ่านไปครึ่งปีแล้ว ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “คลื่นใต้น้ำ” ก็ยังคงอยู่ กระแสต่อต้าน คสช.ยังมีอยู่ทั่วไปตามสถาบันการศึกษาต่างๆ แกนนำพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงหลายคนยังออกไปเคลื่อนไหวทำลายภาพลักษณ์ของ คสช.อยู่ต่างประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ต้องคอยออกมาปรามอยู่เรื่อยๆ ว่าอาจจะใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หรือกฎอัยการศึก เพื่อรับมือความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช.

นั่นแสดงว่าการสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยการดำเนินงานของ ศปป.ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร จนสุดท้าย คสช.จะต้องคอยงัดมาตรการขั้นเด็ดขาดออกมาขู่คนที่จะออกมาเคลื่อนไหว

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลไกที่จะสร้างความปรองดองในอีกทางหนึ่ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ตั้ง“คณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง” ขึ้นมา และได้ประชุมนัดแรก เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2558

ภายหลังการประชุม นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ได้เปิดโต๊ะแถลงข่าวด้วยตนเอง ร่วมกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง

การประชุมครั้งนี้ มีผู้เสียหายจากเหตุการณ์ชุมนุม คือ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชนพฤษภา 35, นางนิชา ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า และนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมลเกด ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 ซึ่งเป็นคณะกรรมการจากบุคคลภายนอกมาร่วมประชุมด้วย

นายเทียนฉายอ้างถึงเหตุผลการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองว่า ภารกิจการปฏิรูปประเทศจะบรรลุผลสำเร็จได้ยากในสภาพที่ประเทศมีเงื่อนไขสถานการณ์สะสมที่รุนแรงมากขึ้น จากการไม่ลงรอยทางความคิดจนนำไปสู่การใช้กำลัง ดังนั้นจึงต้องทำให้รอยร้าวจางไป ด้วยการปรองดองสามัคคีสมานฉันท์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน จึงต้องวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาก่อนที่จะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้ปัญหาเดิมกลับมาอีก สภาปฏิรูปแห่งชาติจึงตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง เพื่อหาคำตอบในการแก้ปัญหาที่จะนำไปสู่ความสามัคคีสมานฉันท์ โดยหวังว่าจะใช้เวลาไม่นานในการบรรลุผลสำเร็จ

นายเทียนฉายบอกอีกว่า การปฏิรูปสามารถเดินหน้าได้โดยไม่ต้องรอผลสรุปจากคณะกรรมการ เนื่องจากการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้เป็นเงื่อนไขให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เป็นคณะกรรมการที่มาทำการปฏิรูป

ขณะที่นายบวรศักดิ์บอกว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญต้องแก้ปัญหา 3 เรื่อง ปัญหาเฉพาะหน้าต้องสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น ปัญหาที่สองคือการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาที่สามการแก้ปัญหาทางการเมือง ต้องทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปปรองดองเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาว ไม่ให้ปัญหาเดิมกลับมาเหมือนกับหลังการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นทันที เพื่อไม่ให้สังคมไทยถอยหลัง

นายบวรศักดิ์ย้ำว่า เรื่องการปรองดองต้องทำให้เร็ว การปฏิรูปอาจใช้เวลาถึง 4 ปี แต่การปรองดองไม่ควรถึง 4 ปี โดยใช้กฎหมายเป็นตัวสร้างองค์กรหรือคณะบุคคลที่มาดำเนินการกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน อาจต้องมีการรับผิด จึงไปสู่การเยียวยา จดจำเหตุการณ์ไม่ให้เกิดขึ้นอีก จนไปสู่การให้อภัย แต่ไม่ใช่เริ่มจากการให้อภัยแล้วซุกเรื่องอื่นไว้หมด

“ไม่ใช่การเขียนรัฐธรรมนูญบังคับให้คนปรองดอง แต่เป็นการสร้างกระบวนการโดยมีคนกลางและนำคู่ขัดแย้งมาพูดคุย รวมถึงการสร้างกระแสในสังคมเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง หากทำไม่ได้การรัฐประหารครั้งนี้ก็เสียของ”นายบวรศักดิ์อ้าง

นายบวรศักดิ์บอกว่า มีการนำผลศึกษาของคณะกรรมการอิสระเพื่อความปรองดองสมานฉันท์(คอป.)ที่ก่อตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 มาประกอบการพิจารณารวมถึงผลศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าด้วย โดยเห็นว่ารายงาน คอป.เป็นเรื่องที่ดีแต่มีเวลาทำงานน้อยทำให้ไม่ได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนทางสังคมให้คู่ขัดแย้งคุยในทางลับเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาจึงอยากให้ คอป.ทำงานในส่วนนี้ แต่ คอป.ก็ไม่มีบทบาทหน้าที่แล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่นี้

ขณะที่ นายเอนกยืนยันว่า การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมการทุจริต การก่ออาชญากรรม แต่จะไม่ลอยแพการปรองดองให้เป็นไปตามยถากรรม โดยจะมีการสอบถามประชาชน เชิญทุกฝ่ายให้ความเห็นว่าจะทำให้ประเทศไทยกลับไปเหมือนเดิมอย่างไร ต้องสร้างกระแสในสังคมเพราะการปรองดองในชั้นบนไม่สำเร็จ แต่ต้องให้คนในสังคมเบื่อความขัดแย้งจึงจะปรองดองได้ เนื่องจากความขัดแย้งเกิดจากคนส่วนน้อยไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม อาจต้องมีการเจรจากับกลุ่มต่างๆ โดยจะมีการเยียวยาผู้เสียหายทุกด้านควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะมีกลไกจากการตั้งคณะกรรมการจากคู่ขัดแย้งซึ่งแต่ละฝ่ายยอมรับเข้ามาดำเนินการ

นายเอนกแย้มอีกว่า การสร้างความปรองดองที่เป็นรูปธรรมมีการคิดถึงการเขียนรัฐธรรมนูญให้สองฝ่ายคุยกันได้ โดยคิดถึงขนาดให้มีรัฐบาลผสม และยังมีอีกหลายอย่างแต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด และยอมรับว่ารัฐบาลผสมอาจหมายถึงรัฐบาลแห่งชาติ แต่ต้องหมายถึงรัฐบาลที่มาทำหน้าที่ปฏิรูปและปรองดองต่อไป

เมื่อดูจากแนวทางของคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง ที่ออกมา หลังจากการประชุดนัดแรกแล้ว ก็มีคำถามว่า จะสร้างความปรองดองได้จริงหรือไม่

นั่นเพราะ คณะกรรมการฯ ได้มุ่งไปที่การหากลไกหรือเครื่องมือมาทำให้เกิดการปรองดองระหว่างคู่ขัดแย้ง และหวังจะให้เกิดความปรองดองขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้พูดถึงการขจัดต้นตอความขัดแย้ง

ความไม่เข้าใจรากเหง้าที่แท้จริงของปัญหาความขัดแย้งนี่เอง จะทำให้การรัฐประหารโดย คสช.ต้องเสียของ อย่างที่นายบวรศักดิ์เป็นห่วง

ถ้าอยากให้เกิดความปรองดองของคนในชาติขึ้นอย่างแท้จริง คณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง จะต้องลงลึกไปถึงแก่นความคิดของแต่ละฝ่ายที่ยังบรรจุด้วยชุดข้อมูลคนละชุด หากจะสลายขั้ว สลายสีเสื้อ ลดความขัดแย้งลงอย่างสิ้นเชิง ก็จะต้องทำให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้รับข้อมูลอย่างทั่วถึงกัน และใช้เวลาในการทำความเข้าใจประเด็นต่างๆ ให้ตรงกัน ไม่ใช่เร่งรีบกำหนดเวลาว่าจะต้องทำให้เสร็จภายในกี่ปีกี่เดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น