xs
xsm
sm
md
lg

“บัญญัติ” หนุนนิรโทษฯ แยกคนหลงผิด เชื่อช่วยถูกกลุ่มปรองดองเกิดผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บัญญัติ บรรทัดฐาน (แฟ้มภาพ)
“บัญญัติ” หนุนนิรโทษกรรมจำกัดความผิด แยกช่วยคนหลงผิดออกจากกลุ่มยุแตกแยก แนะตั้ง กก.ปรองดอง ใช้บทเรียนจากอดีตวางกรอบให้รอบคอบ ยึด 3 องค์ประกอบหลัก ชี้หากทำพลาดยิ่งสร้างขัดแย้งหนักกว่าเดิม เชื่อล้างผิดให้ถูกกลุ่มความปรองดองจะเกิดผล กลุ่มคลื่นใต้น้ำจะอ่อนแรง

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความพยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติด้วยการบัญญัติเรื่องความปรองดองไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่าคงไม่มีใครไม่อยากเห็นความปรองดองเกิดขึ้นในสังคม ซึ่งตนได้ติดตามฟังเรื่องนี้มาตลอด แต่ความปรองดองในที่นี้ไม่ใช่หมายความว่าเลิกแล้วต่อกันไปหมดเลย สิ่งแรกต้องแยกเรื่องความผิดที่ควรได้รับการปรองดองก่อน ว่า ควรเป็นความผิดประเภทไหนอย่างไร เท่าที่ฟังจากบุคคลที่เป็นตัวตั้งตัวตีเรื่องนี้บอกว่าจะกำหนดความผิด 3 ประเภทที่จะไม่มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ คือ ความผิดในมาตรา 112 ความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชัน และความผิดอาญาที่ทำให้คนตาย ซึ่งก็พอรับฟังได้แต่ยังมีฐานความผิดอีกอย่างที่ควรคิดเช่นกันคือการวางเพลิงเผาทรัพย์ ทั้งสถานที่ราชการและอาคารบ้านเรือนเอกชน ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความผิดร้ายแรง เพราะการนิรโทษกรรมจะทำเฉพาะกับความผิดทางการเมืองหรือที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดทางการเมือง เช่น ชุมนุมแล้วได้รับความกดดันมากทำลายข้าวของในบริเวณที่ชุมนุมอย่างนี้ถือว่ามีเหตุผล แต่บางกรณีเช่นมีการประกาศให้เตรียมอุปกรณ์มาจากบ้าน ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่องแต่เป็นการเตรียมการณ์เอาไว้ก่อนยิ่งมีโทษร้ายแรงเพราะเป็นความผิดที่มีการไตร่ตรองไว้ก่อน

นายบัญญัติกล่าวว่า เรื่องนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องคงจะระมัดระวังเพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ปัญหาบานปลายจนคนนับล้านออกมาต่อต้าน จนนำมาสู่รัฐประหารก็เริ่มต้นมาจากเรื่องการเตรียมออกกฎหมายนิรโทษกรรม จึงหวังว่าบทเรียนที่เกิดขึ้นแล้วจะทำให้ใช้ความระมัดระวังมากขึ้น นับตั้งแต่การกำหนดฐานความผิดที่ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีการตั้งโจทย์มากกว่านี้ด้วยซ้ำ คือ นอกเหนือจากเป็นเรื่องโทษที่ควรจำกัดให้ชัดเจนแล้ว ยังควรมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ ก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรมต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเปิดเผยให้สังคมรับรู้เพื่อเป็นบทเรียนในวันข้างหน้าจะได้ไม่เกิดซ้ำอีก ผู้กระทำต้องสำนึกผิดด้วยถึงจะมีการนิรโทษกรรมให้ และต้องไม่ทำลายหลักการกระบวนการยุติธรรม คือ คนทำผิดต้องถูกดำเนินคดี เพราะกระบวนการยุติธรรมมีการผ่อนคลายให้อยู่แล้วว่าฟ้องหรือไม่ฟ้อง หรือบรรเทาโทษ ซึ่งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ของนายคณิต ณ นคร ได้เน้นว่าต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ตึงเหมือนกรณีธรรมดา โดยใช้หลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวกันมากขึ้น และเคารพสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง

“ผมคิดว่าไม่น่ากังวลว่าสังคมจะรับเรื่องนี้ไม่ได้ถ้าเปิดโอกาสให้พวกเขาได้รับรู้ที่มาต่างและกำลังทำอะไร แต่ถ้าจู่ๆ เกิดมานิรโทษกรรมแบบไม่จำกัดความผิด หรือทำแบบเลิกแล้วกันไปเลย หรือลืมกันเสียเถอะ ผมว่าสังคมรับไม่ได้แน่นอน แทนที่มันจะเกิดความปรองดองแต่กลับจะเกิดความขัดแย้งรอบใหม่อีกครั้ง ทุกฝ่ายได้รับบทเรียนมามากแล้วว่าที่มันอลเวงจนทุกวันนี้เพราะอะไร คสช. และรัฐบาลต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ก็คงไม่น่าจะมีปัญหา ตอนนี้ยังไม่คิดว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย หรือจะเกิดความขัดแย้งใหม่ และมันก็ไม่ควรเกิดขึ้น”

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มที่สมควรได้รับคิดว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นตามที่ทุกฝ่ายเรียกหาหรือไม่ นายบัญญัติกล่าวว่า แน่นอนอย่างน้อยก็ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างเขาก็ได้รับความเป็นธรรมเช่นกัน เพราะการปรองดองเป็นเรื่องดีไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ สังคมพอใจ การตั้งคณะกรรมการปรองดองขึ้นมาก็เป็นสิ่งที่ดีไม่น่ามีปัญหา เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามีความขัดแย้งมานานจนนำเกิดปัญหาวิกฤตประเทศ ฉะนั้นอะไรที่จะนำไปสู่การลดความขัดแย้งที่สามารถทำได้จริง ไม่ใช่สร้างความขัดแย้งใหม่ก็เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนด้วยกันทั้งสิ้น

“ต้องยอมรับว่าคลื่นใต้น้ำมีหลายระดับ ระดับหนึ่งคือพวกหัวเด็ดตีนขาดก็จะเป็นคลื่นใต้น้ำ ตรงนี้จะไม่มีความเปลี่ยนแปลง แต่อีกระดับหนึ่งที่สำคัญต่อทางการเมืองอย่างมากคือกลุ่มที่เข้าไปผสมโรงเพราะหลงผิด รู้สึกว่าพรรคพวกหรือตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเข้าใจผิดหรือได้รับข้อมูลข่าวสารด้านเดียว รัฐบาลก็ต้องมีความละเอียดอ่อนที่จะดึงคนกลุ่มนี้ออกไปถ้าสามารถทำให้พวกเขาเข้าใจและถอยห่างออกมา ก็จะทำให้กลุ่มใต้น้ำลดกำลังลงไปพอสมควร” นายบัญญัติระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น