xs
xsm
sm
md
lg

“น้าญัติ” ชี้ 3 ตัวแปรทำวุ่นหรือไม่ จี้เร่งแก้ ศก. คาดรอ กม.คุมม็อบออกคงถอนอัยการศึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
กก.สภาที่ปรึกษาประชาธิปัตย์ เชื่อการเมืองไม่เปลี่ยน ชี้ 3 ตัวแปรวุ่นแรงกว่าเดิมหรือไม่ ระบุคนจับตาเอายังไงถอดถอน ส.ส. จำนำข้าว ถ้ามาแนวลบเจอของร้อนแน่ แนะแยกให้ออกใครป่วนใครเคลื่อนไหวทางวิชาการ จี้เร่งแก้ปมเศรษฐกิจ คาดเร่งออกกฎหมายคุมม็อบแล้วค่อยลดอัยการศึก

วันนี้ (1 ม.ค.) นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การเมืองในปี 2558 ว่า หากมองในขณะนี้คงจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากนี้มากนัก ความสับสนวุ่นวายจะยังคงมีอยู่ และเป็นที่น่ากังวลด้วยซ้ำว่าจะร้อนแรงกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้หรือไม่ โดยตนดูที่ 3 ตัวแปร คือ 1.ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่คนขานรับการรัฐประหาร เพราะจากสภาพที่เป็นอยู่มันสุดจะทนแล้ว คนตั้งความหวังไว้สูงมากว่าคนที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงอำนาจในบ้านเมืองน่าจะตระหนักต่อเสียงเรียกร้องของหลายล้านคนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องในขณะนั้น และน่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเฉียบขาดจริงจัง การลงโทษนักการเมืองที่ทำผิดไว้ เมื่อถึงขณะนี้ความหวังในข้อนี้ดูจะไม่ค่อยสมหวังกันมากนัก แรกๆ พอมีกำลังใจที่มีการโยกย้ายคนในกระทรวงต่างๆ แต่พอผ่านมาระยะหนึ่งเริ่มเกิดความไม่แน่ใจ

นายบัญญัติ กล่าวว่า กรณีที่ทำให้คนต้องคิดมากเป็นพิเศษว่าตกลงจะเอาอย่างไร คือ 1.เรื่องถอดถอนนักการเมืองที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีอาการล่าช้าโอ้เอ้ ไม่ยอมตกผลึกเสียทีว่าจะเอาอย่างไร บางคนที่โต้แย้งว่าไม่มีอำนาจ ทั้งที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้ในลักษณะที่มีอำนาจ บางคนก็โต้แย้งว่า เมื่อฐานที่ตั้งการกระทำความผิดคือรัฐธรรมนูญปี 50 ยกเลิกไปแล้วก็ควรจะจบไปเลย หรือต้องใช้ประเพณีการปกครองในระบอบ 2.เรื่องโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ใครๆ ก็รู้ว่ามันชัดเจน การโยกโย้ของอัยการสูงสุดที่ต่อรองกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กันอยู่ว่าวันนี้จะออกมาอย่างไรก็เอาความกันไม่ได้ นี่คือตัวแปรที่หนึ่งที่คนให้ความหวังในเรื่องนี้ค่อนข้างที่จะระอาใจพอสมควร และตนค่อนข้างมั่นใจว่า พอเริ่มเดือนมกราคม ปี 2558 ถ้า 2 เรื่องนี้เป็นไปในทางลบในความรู้สึกของคนที่ตั้งความหวังที่จะเห็นรัฐบาลนี้ปราบคอร์รัปชันอย่างจริงจังแ ละไม่สมหวัง ความผิดหวังตรงนั้นจะทำให้อุณหภูมิทางการเมืองร้อนขึ้นมากพอสมควร

นายบัญญัติ กล่าวว่า ตัวแปรตัวที่ 2.คือ ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้คลื่นใต้น้ำยังคงมีอยู่ และเคลื่อนไหวมากขึ้นถือเป็นธรรมชาติของเขา แต่ที่กังวลคือ ถ้ามีการเคลื่อนไหวมากขึ้น ทาง คสช. หรือรัฐบาลไปใช้มาตรฐานเดียวกันระหว่างกลุ่มคลื่นใต้น้ำ กับคนที่เคลื่อนไหวโดยอิสระ เช่น นักวิชาการสถาบันต่างๆ ที่ต้องการจัดสัมมนา หรือประชาชนที่ต้องการแสดงความคิดเห็น ยิ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวบอกว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องรับฟังเสียงประชาชนด้วย ก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับต่อการเคลื่อนไหวของประชาชนเคลื่อนไหวในการแสดงความคิดเห็นด้วย ถ้าคสช. และรัฐบาลแยก 2 เรื่องนี้ออกจากกันไม่ได้ ตรงนี้จะยิ่งทำให้การเมืองร้อนขึ้น

สำหรับตัวแปรที่ 3 นั้น นายบัญญัติ กล่าวว่า ตนคิดว่าจะมีผลมากคือ ภาวะเศรษฐกิจของบ้านเมืองในขณะนี้ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่อนข้างมีปัญหามาก แม้รัฐบาลพยายามใช้แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจหลายครั้งแล้วก็ตามก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร และที่บอบช้ำมากที่สุดคือชาวสวนยางพารา ที่เวลานี้ราคายางกิโลกรัมละ 60 บาท ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ก็ยอมรับว่าราคาต้นทุนอยู่ที่ 60-64บาท การจ่ายเงินให้แก่ชาวสวนยางไร่ละ 1 พันบาท แม้จะเป็นความพยายามตั้งใจดีเพื่อบรรเทาผลกระทบก็ตาม แต่ดูจะยังไม่เข้าใจว่า ยังมีปัญหาที่รัฐบาลต้องนึกถึงคือ ชาวสวนยางที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะไปสันนิษฐานว่าเป็นผู้บุกรุกป่าทั้งหมดไม่ได้ และลูกจ้างที่ไปกรีดยางไม่ใช่ชาวสวนยางก็ได้รับผลกระทบด้วย

นายบัญญัติ กล่าวว่า นอกจากเรื่องนี้ที่ทำให้เกิดความอึดอัดแล้ว กำลังซื้อของคนในประเทศก็ลดน้อยลง ซึ่งจะพบว่าในสังคมหัวเมืองในต่างจังหวัดมีสภา เงียบเหงาไปหมด แม้ตามทฤษฎีจะมีตัวกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ 4 ตัว คือ การลงทุนของภาครัฐ การลงทุนของภาคเอกชน การส่งออกและ การบริโภคของประชาชน ซึ่งซึ่งในส่วนของการบริโภคของประชาชนพับไปได้เลยเพราะกำลังซื้อหมดแล้ว ส่วนการส่งออกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีปัญหาแน่นอน เพราะเศรษฐกิจโลกยังผันผวนอยู่ การขับเคี่ยวระหว่างซีกโลกตะวันตก กับรัสเซียก็มีปัญหามาก ทั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่น อียูที่ยังซบเซา ดังนั้น จึงหวังการส่งออกได้ยาก ส่วนการลงทุนภาคเอกชนท่ามกลางความผันผวนเช่นนี้จะมีใครมาลงทุน หลายครั้งรัฐบาลนำตัวเลขของการรับการลงทุนจากบีโอไอที่ฟังแล้วดูดี แต่คนที่เคยคลุกคลีต่อการบริหารมาแล้วอย่างพวกตนจะรู้ว่า ตัวเลขขอรับการลงทุนกับการลงทุนจริงๆ มันคนละเรื่องกัน ถ้าเข้าท่าก็ลง ถ้าไม่เข้าท่าก็ไม่ลง หรือกว่าจะลงได้จริงต้องใช้เวลา ตอนนี้ที่หวังมากคือ การลงทุนภาครัฐ การลงทุนทำรถไฟรางคู่กับจีนถือเป็นเรื่องดี และให้เครดิตรัฐบาลเพราะอย่างน้อยก็ทำให้คนมีความหวังได้บ้าง แต่เศรษฐกิจโดยรวมยังน่ากังวลอยู่มากว่าปีหน้ายังไม่น่าจะกระเตื้องมากนัก

“หากคนมีความอึดอัดเรื่องการเมืองมาก แต่เศรษฐกิจมันไปได้ความตึงเครียดก็จะไม่มากเท่าไหร่ แต่ถ้าอึดอัดทางการเมืองแล้วพอมาเจอปัญหาเศรษฐกิจปากท้องอีก ก็จะทำให้คนเกิดอารมณ์ได้ง่าย จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องมีแผนงานเด็ดๆ ขึ้นมาเพื่อคลี่คลายเศรษฐกิจ และทำให้คนเกิดความรู้สึกว่าการเมืองคลี่คลายแล้ว มาตรฐานการจัดการกับคลื่นใต้น้ำ และการจัดการกับคนที่ต้องการให้ความเห็นทางการเมืองจริงๆ ต้องแยกให้ออก ถ้าจัดการสิ่งเหล่านี้ไม่ดีก็ร้อนแรงแน่นอน ผมเชื่อว่าจะถึงขั้นคนจะรวมตัวกันอีกครั้ง กฎอัยการศึกจะศักดิ์สิทธิ์น้อยลง สังคมจะกลับมาสู่กฎเกณฑ์ที่บอกว่ามีแรงกดดันมากก็จะมีแรงต่อต้านมาก ทุกฝ่ายก็คงไม่ประสงค์จะให้เป็นเช่นนั้น ฉะนั้นรัฐบาลต้องทุ่มเทสติปัญญาเพื่อการนี้มากเป็นพิเศษ ผมเข้าใจว่ารัฐบาลจะเร่งออกกฎหมายเรื่องการชุมนุมให้เสร็จก่อนที่จะมีการประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก” นายบัญญัติ วิเคราะห์


กำลังโหลดความคิดเห็น