ญาติวีรชนพฤษภา 35 แถลงขอบคุณสร้างอนุสาวรีย์พฤษภาประชาธรรม หวังเป็นเครื่องเตือนใจความรุนแรงแก้ปัญหาไม่ได้ แนะอภัยให้กัน จี้ “อนุพงษ์” ทวงหาผู้สูญหาย ระบุนิรโทษกรรมต้องตกผลึกความคิดก่อน
วันนี้ (10 ธ.ค.) ที่สวนสันติพร ถนนราชดำเนิน เมื่อเวลา 09.00 น. ญาติวีรชนในเหตุการณ์พฤษภาปี 35 กว่า 30 คน นำโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ได้จัดกิจกรรมดูแลรักษาพื้นที่เพื่อเตรียมการสมโภชน์อนุสาวรีย์พฤษภาประชาธรรม สถานที่ก่อสร้างอนุสาวรีย์ หลังจากมีการติดตั้งประติมากรรม อนุสาวรีย์วีรชนพฤษภา 2535 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเตรียมการจัดงานสมโภชน์อย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2558
โดยตัวแทนญาติวีรชน ได้อ่านแถลงการณ์ดังนี้ 1. ขอขอบคุณทุกฝ่ายทั้งภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาชนที่เมตตาสนับสนุนช่วยกันให้วีรชนพฤษภา’35มีที่อยู่บนถนนราชดำเนินแห่งนี้ โดยเฉพาะภาครัฐที่จัดหาสถานที่และงบประมาณในการก่อสร้าง 2. ประติมากรรมหรืออนุสาวรีย์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้เสียสละที่ปรากฏแห่งนี้ ครอบครัวญาติฯต้องการให้เป็นเครื่องเตือนใจสังคมทุกภาคส่วนได้ตระหนักว่าความรุนแรงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ นอกจากจะเกิดความเจ็บปวดจากความสูญเสียของทุกฝ่าย 3. ครอบครัวญาติฯขอเรียกร้องให้สังคมไทยเคารพคุณค่าทางประวัติศาสตร์โดยต้องรู้จักมีความเมตตาและการให้อภัยซึ่งกันและกันเพราะจะเป็นหนทางสู่สันติสุขอย่างแท้จริง
“4. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลหาข้อยุติเรื่องวีรชนพฤษภา’35 ที่ยังสูญหายโดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยในฐานะอดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่เคยลั่นวาจาไว้ว่าให้ไปทวงถามผู้สูญหายกับรัฐบาล เมื่อท่านได้เป็นรัฐบาลแล้วครอบครัวญาติฯประกอบด้วย ญาติผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย ผู้พิการ จึงหวังว่าจะสามารถหาข้อยุติในรัฐบาลชุดนี้” นายอดุลย์ กล่าว
นอกจากนี้ นายอดุลย์ ยังกล่าวถึงข้อเสนอนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมืองว่า การนิรโทษหรือการให้อภัยเป็นหลักการที่เหมาะสม แต่สังคมต้องตกผลึกทางความคิดในเวลาที่เหมาะสมก่อน ทั้งนี้ ญาติวีรชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ว่าความรุนแรงทางการเมืองมีแต่ความสูญเสียและเจ็บปวดของทุกฝ่ายสิ่งที่จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองเบาบางลงได้คือรู้จักมโนธรรมสำนึกการให้อภัยและอโหสิกรรม
“หลายปีที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น ทุกฝ่ายก็เป็นทั้งโจทก์และเป็นทั้งจำเลยของอีกฝ่าย เพราะฉะนั้นถ้าอีกฝ่ายยังยึดมั่นในอัตตาตัวเองโดยไม่รูจักให้อภัยกันก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดความสามัคคีได้ การนิรโทษกรรรมหรือการให้อภัยก็เป็นมิติหนึ่งแต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ควรแสดงความเห็น เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียควรปล่อยให้กระบวนการทางสังคมเป็นผู้ตัดสินตามเวลาที่เหมาะสม” นายอดุลย์ กล่าว